จอดป้ายประชาชื่น : เยียวยา

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “บีทีเอส” ครองแชมป์ระบบขัดข้องถี่จัด ราว 29 ครั้ง แค่มิถุนายนเดือนเดียวสร้างสถิติระบบขัดข้องสูงสุด 9-10 ครั้ง

“บีทีเอส” ระบุว่า หลักใหญ่ใจความของปัญหาเกิดจาก “ระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้าขัดข้อง” โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจพบมีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอกที่มีความเข้มสัญญาณสูงเข้ามารบกวนสัญญาณการเดินรถ โดยเฉพาะบริเวณสถานีพร้อมพงษ์ สถานีอโศก และสถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่าง “สายสีลม” และ “สายสุขุมวิท” ทำให้บริเวณดังกล่าว ไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วตามปกติ

เมื่อเป็นเช่นนี้มีหรือที่ “กสทช.” ผู้มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่จะนิ่งเฉยได้ จึงเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งบีทีเอส ดีแทค และทีโอทีเข้าหารือร่วมกัน จึงได้ทราบว่าปัจจุบัน “บีทีเอส” ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 เมกะเฮิรตซ์ ในการควบคุมสัญญาณการเดินรถ ขณะที่ทีโอทีและดีแทคใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2310-2370 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับให้บริการด้านโทรคมนาคม เห็นได้ว่าคลื่นความถี่ของบีทีเอสและทีโอที-ดีแทค มีระยะห่างอยู่ประมาณ 30 เมกะเฮิรตซ์ ถือว่าเป็นระยะที่ไกลกัน ไม่สามารถรบกวนกันได้ แต่เมื่อใช้งานจริงกลับพบปัญหา จึงเสนอให้บีทีเอสขยับช่องสัญญาณให้ห่างขึ้น ซึ่งบีทีเอสให้ความหวังว่าจะขยับช่องสัญญาณพร้อมพ่วงกับการเปลี่ยนอุปกรณ์การรับส่งสัญญาณให้มีคุณภาพ และรับส่งอาณัติสัญญาณดีขึ้น

โล่งอกกับท่าทีเร่งแก้ไขปัญหา เมื่อถามไถ่ถึงมาตรการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบไปยัง สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กลับได้รับคำตอบว่า เรื่องมาตรการเยียวยาจะพิจารณาเร็วๆ นี้!!!!

Advertisement

ได้แต่ลุ้นว่า “การเยียวยา” จะออกมาหน้าตาอย่างไร เพราะตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทนี้คงเติบโตไม่หยุด ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตลอดจากปัจจุบันประมาณ 6.60 แสนเที่ยวคนต่อวัน หรือ 241.1 ล้านเที่ยวคนต่อปี

หากมาตรการบางเบาหรือไม่มีออกมาเลยก็คงเป็นการซ้ำเติมผู้โดยสารที่ไร้ทางเลือกเพราะต้องพึ่งพาระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสอต่อไป…

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image