จอดป้ายประชาชื่น : สินเชื่อโตเพราะรีไฟแนนซ์

ความต้องการที่อยู่อาศัยถือเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของทุกคน ซึ่งรูปแบบที่อยู่อาศัยอาจแตกต่างตามความต้องการทุนทรัพย์ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ที่เพิ่มขึ้นทำให้ตัวเลข สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั้งระบบเพิ่มขึ้นด้วย ตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 3.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.49 ล้านล้านบาท ในไตรมาสก่อน และสิ้นปี 2560 ที่อยู่ที่ 3.44      ล้านล้านบาท ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 3.25 ล้านล้านบาท และปี 2558 อยู่ที่ 3.02 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2557 อยู่ที่ 2.78 ล้านล้านบาท

โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยถือเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำมีหลักค้ำประกัน โอกาสการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่า   สินเชื่ออื่นๆ ทำให้ตลาดนี้เป็นตลาดที่สถาบันการเงินให้ความสำคัญ การแข่งขันดุเดือด สถาบันการเงินต่างหากลยุทธ์สร้างฐานลูกค้า มีการแข่งขันให้ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำกว่าปกติ (Teaser Rate) เพื่อดึงลูกค้า  โดยเฉพาะลูกค้าใหม่ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นการนำกลยุทธ์นี้มาใช้กับการรีไฟแนนซ์เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวและการก่อหนี้สินจนทำให้มีหนี้สูง ทำให้คุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยลง ขณะที่การหาลูกค้าใหม่มีแรงกดดันมากขึ้นทั้งจากต้นทุนที่สูงขึ้นและการเข้าถึงสินเชื่อเพราะสัดส่วนรายได้ต่อหนี้สินสูง

ดังนั้นตลาดที่ลูกค้ามีคุณภาพคือ ตลาดรีไฟแนนซ์ เพราะมีประวัติการผ่อน ต้องการสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำ  เมื่อมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกมาลูกค้าก็ตอบสนอง พิจารณาพบว่า ช่วงปี 2557-2558 การเพิ่มขึ้นของ   สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.38 แสนล้านบาท ปี 2558-2559 เพิ่มขึ้น 2.29 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2559-2560   เพิ่มขึ้นราว 1.97 แสนล้านบาท และสิ้นปี 2560 ถึงสิ้นไตรมาส 2/2561 เพิ่มขึ้นราว 1 แสนล้านบาท

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินคงค้างของรัฐ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์พบว่าการเพิ่มขึ้นของ สินเชื่อคงค้างไม่มากนัก นั่นแสดงว่ามีการเร่งปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์เพื่อสร้างฐานลูกค้าซึ่งลูกค้าเหล่านี้คือลูกค้าเก่าที่อื่นแต่ใหม่ที่เรา ก้อนเค้กสินเชื่อที่แบ่งกันกินจึงยังเป็นก้อนเดิม ไม่ได้ทำให้ก้อนเค้กสินเชื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด ส่วนคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก็ได้แต่รอความหวังต่อไป

Advertisement

ดังนั้นภาพรวมอาจจะไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงสินเชื่อหรือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ซึ่งแทนที่สถาบันการเงินจะเป็นตัวช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อาจจะเป็นกำแพงสร้างความเหลื่อมล้ำเองก็ได้…

จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image