จอดป้ายประชาชื่น : คืบหน้า

คืบหน้าไปมากสำหรับความพยายามของหน่วยงานต่างๆ ในการผลักดันให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าของตัวเอง หลังจากพึ่งพาการนำเข้าขบวนรถสำเร็จรูปมานาน

เพราะล่าสุด นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศผลักดันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ให้เป็นฮับโรงงานประกอบรถไฟฟ้าของประเทศ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมยังคาดว่าตั้งโรงงานจะสามารถตั้งขึ้นในปี 2562 ได้ และยังมั่นใจว่าจะมีต่างชาติสนใจลงทุน ทั้งนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี และเยอรมนี โดยก่อนที่การลงทุนจะเกิดขึ้นจริงปลายปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย

ถ้าลำดับขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปตามแผนและดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ก็น่าชื่นชมมาก เพราะจะเป็นอีกก้าวที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้เกิดองค์ความรู้แก่คนในชาติเอง เกิดการจ้างงาน ประหยัดงบประมาณประเทศที่ทุ่มไปกับการสั่งซื้อต่างประเทศ ที่อาจพ่วงเงินทอนให้กับคนบางกลุ่มก็เป็นได้

Advertisement

โดยนโยบายลงทุนดังกล่าวเป็นเรื่องที่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษามานานแต่ถูกปล่อยทิ้งไว้ จนเมื่อ นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. เข้ามารับตำแหน่ง จึงมีการปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้การสนับสนุน

ซึ่งการปัดฝุ่นครั้งนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เพราะประเทศไทยกำลังพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย รวมทั้งเร่งพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) อีกหลายเส้นทาง วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

สศอ.จึงเปิดข้อมูลและประสานไปยังหน่วยงาน อาทิ กระทรวงคมนาคม ว่าหากไทยสามารถสร้างโรงงานประกอบรถไฟฟ้าจะสามารถประหยัดเงินในการซื้อรถไฟฟ้าลง 1.7 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจากการตั้งโรงงานอีก 500 ล้านบาท มูลค่าการจ้างงาน 2,000 ล้านบาท

Advertisement

ได้ยินว่าพอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมทราบเรื่องนี้ก็เด้งรับทันที ขณะที่ผู้อำนวยการ สศอ.ก็สั่ง   ลูกน้องเร่งทำข้อมูลเดินหน้าหารือ โดยกระทรวงคมนาคมได้ดึงบีโอไอร่วมทำแพคเกจลงทุนด้วย

จนได้ความชัดเจนที่คืบหน้าไปมาก

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image