จอดป้ายประชาชื่น : โจทย์ใหญ่ตลาดทุน

นอกจากการตั้งเป้าให้ “ไทย” เป็นฮับตลาดทุนอาเซียน ระดมทุนจากบริษัทใหญ่ๆ ในภูมิภาคแล้ว โจทย์ใหญ่ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การขยายฐานนักลงทุน ทั้งการ ส่งเสริมให้คนออมเงิน และดึงคนรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดทุนมากขึ้น จากฐานนักลงทุนปัจจุบันที่มีเพียง 3 ล้านคน เทียบกับจำนวนประชากรเกือบ 70 ล้านคน

ลองกางมิชชั่นหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ต่างมีแผนที่สอดคล้องกัน คือ ปรับรูปแบบ “กองทุนใหม่” ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะหมดอายุในปี 2562

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ย้ำว่าการขยายฐานนักลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นแผนงานแรกๆ ของเฟทโก้ มองว่ากองทุนรูปแบบใหม่ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดเงินออมในระบบมากขึ้น ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านการลงทุน ขณะเดียวกันพยายามเร่งดำเนินการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับเกิดขึ้น เพราะแรงงานในระบบมีประมาณ 16 ล้านคน แต่มีแรงงานที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น

“ถ้ากฎหมาย กบช.บังคับใช้ ประกอบกับมีกองทุนใหม่มาทดแทน จูงใจชนชั้นกลางเข้ามาในตลาดทุนมากขึ้น 2 ตัวนี้จึงน่าจะเป็นแรงผลักสำคัญ ทำให้คนเข้าสู่ระบบตลาดทุนมากขึ้น โดยกองทุนรูปแบบใหม่จะปรับให้มีความเสมอภาคมากขึ้น หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่ากัน จากเดิมที่คนรายได้สูงลงทุนในแอลทีเอฟ จะประหยัดภาษีได้มากกว่าคนรายได้ปานกลาง-น้อย จากการกำหนดภาษี 15% ของรายได้ แต่กองทุน      รูปแบบใหม่ จะให้เครดิตภาษีแทน จึงแฟร์กว่า” นายไพบูลย์กล่าว

Advertisement

เพราะฉะนั้นการเดินหน้าเรื่องกองทุนรูปแบบใหม่ และกฎหมาย กบช. จะตอบโจทย์หลายเรื่องทั้งการแก้เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ระบบบำนาญที่ยังไม่ดีพอการสร้างเงินออม การสร้างฐานนักลงทุนหน้าใหม่ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ใกล้เข้ามาทุกที ส่วนแรงงานนอกระบบก็ไม่ต้องห่วง มีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รองรับ แต่รัฐบาลอาจจะต้องประชาสัมพันธ์หรือสร้างแรงจูงใจเพิ่ม

โจทย์ใหญ่เรื่องการเก็บเงินออมและบริหารเงินออม จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน!!

พรพินันท์ จันทอุดม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image