น.4 เรียงคน-ภาพข่าวสังคม 3 เม.ย.61 โดย ชโลทร

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเยี่ยมชมบูธประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ในงาน Internationale Tourismus Borse 2018 หรือ ITB โดยมี ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ นพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัด กทม. และคณะเจ้าหน้าที่ กทม. เฝ้าฯรับเสด็จ ณ ศูนย์แสดงสินค้า MesseBerlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเร็วๆ นี้

…ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” วันก่อน สรุปว่า “เศรษฐกิจแม้จะฟื้นตัวมากกว่าที่คาดอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่างประเทศ” แต่ปัญหาอยู่ที่ “การส่งผ่านลงไปยังครัวเรือนไม่กระจายตัวเท่าที่ควรโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำ” พูดให้เข้าใจคือ ผลจากเศรษฐกิจดีขึ้นนั้น “รวยกันอยู่กลุ่มเดียว” ขณะที่ “คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้อานิสงส์ไปด้วย” ซึ่งสะท้อนถึงฝีมือบริหารการกระจายรายได้ของรัฐบาล และอาจถูกมองไปว่าเป็น “เจตนาของผู้มีอำนาจที่จะทำให้เป็นเช่นนั้น”

…ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในช่วง “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” อยู่ที่ “ผู้มีทุนไม่กล้าลงทุน” เพราะหวาดหวั่นกับ “ทิศทางการพัฒนาประเทศ” เมื่อไม่มีการลงทุน “การจ้างงานก็ลด” ส่งผลต่อ “กำลังซื้อ” ที่จะมากระตุ้นวัฏจักรเศรษฐกิจให้หมุนไปตามกลไก ทางที่จะแก้ไขคือ “ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่ากำไรงดงาม” ทางหนึ่ง “ลดภาระด้านภาษีทุกอย่างเพื่อจูงใจ” อีกทางหนึ่งเปิดทางให้ “เจ้าของทุน” เก็บเกี่ยวผลประโยชน์อันเกิดกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความกล้าที่จะเทเงินที่ได้มาง่ายๆ นั้นลงไป แต่นั่นเท่ากับ “ปล่อยให้เงินไหลเข้าทุนยักษ์ โดยไม่กระจายสู่ปากท้องประชาชนส่วนใหญ่” ขณะที่ “การลงทุนยังเป็นแค่ความหวังที่ต้องรอเมตตาจากมหาเศรษฐี” ที่ถือ “ผลประโยชน์ตอบแทน” เป็นเป้าหมายสูงสุด

…การเล่นเอาล่อเอาเถิดกับ “ความหวัง” ทำให้ “ผู้มีอำนาจ” เพิ่มแรงจูงใจไม่รู้หยุดหย่อน มากขึ้นเรื่อยๆ เป็น “ศิลปะการบริหารเพื่อหาผลประโยชน์ได้ที่สุด” เพราะ “เสี่ยงน้อย” เนื่องจาก “ไม่ต้องลงทุนทรัพย์” ขณะที่ “ได้ผลมาก” เพราะกระชับ “การผูกขาดให้มั่นคง” โดย “รัฐบาล” จัดการให้เอง การทำงานจึงแค่หาวิธี “รวบรวมผลประโยชน์ที่อำนาจรัฐเอื้อให้” ไว้กับตัวให้มากที่สุด ไม่ให้กระเซ็นกระสาย และนั่นหมายถึง สภาวะที่ “แบงก์ชาติ” ชี้ให้เห็นว่า “การส่งผ่านไปยังครัวเรือนไม่กระจายตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำ”

…ที่ซ้ำหนักเข้าไปอีกคือ แทนที่ “กลไกอำนาจรัฐ” จะรู้สึกรู้สากับการดำเนินนโยบายที่ยังมีปัญหา ไม่ทะลุ ปรุโปร่งไปสู่ “การกระจายรายได้” กลับกลายเป็นว่า “โครงการของรัฐ” ที่เกิดขึ้นเพื่อ “เยียวยาเร่งด่วนกับผู้ด้อยโอกาส” ด้วยการ “ส่งงบประมาณไปให้ถึงโดยตรง” ยังถูกสกัดจาก “คนในกลไกรัฐ” ที่เห็นช่องทาง “การแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง” เกิดการ “ทุจริตคดโกงกันมโหฬาร” อย่างที่ถูกเปิดโปงออกมาแล้วเช่น “เงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนของเด็กด้อยโอกาส-งบเยียวยาบุคคลไร้ที่พึ่งและผู้ป่วยโรคเอดส์-
งบบูรณะวัด” หรือแม้กระทั่ง “งบซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า” และแท้จริงแล้วย่อมเป็นที่รับรู้กันว่าน่าจะรวมถึง “อีกมากมายที่ยังไม่เปิดเผยออกมา” การบริหารจัดการประเทศชาติเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาที่ “การส่งผ่านไปยังผู้ด้อยโอกาสไม่กระจายตัวเท่าที่ควร”

Advertisement

…คำถามก็คือว่า “มันจะกระจายตัวได้อย่างไร” เมื่อทางหนึ่ง “ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย” เอาแค่ “โอ๋นายทุน” สร้างมาตรการเอื้อให้เกิดการ “ผูกขาดผลประโยชน์” ไม่รู้จบรู้สิ้น เพื่อ “หวังว่าทุนใหญ่จะเวทนาไว้วางใจอำนาจรัฐ” ช่วยเกื้อหนุน “แบ่งทุนทำธุรกิจอุตสาหกรรม” เพื่อเริ่มต้นกำลังซื้อ อันเป็น
“หวังลมๆ แล้งๆ” มายาวนาน และอีกทางหนึ่ง “กลไกรัฐอันทุจริต” ได้ดูดซับ “งบประมาณที่หวังช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้พอลืมตาอ้าปาก” ไปเข้าพกเข้าห่อ สร้างความร่ำรวยเพื่อ “เป็นทุนให้ใช้ผลักดันอาชีพการงาน และฐานะของตัวเองให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในกลไกราชการ” และอาจจะเพราะสภาพของคนในประเทศเป็นอย่างนี้ เสียงเรียกร้องให้ “คืนประชาธิปไตย” จึงค่อยๆ ดังแรงขึ้นเรื่อยๆ

…แม้ว่าถึงวันนี้ยังมีคนที่เห็นว่า “ประชาธิปไตย” ที่ “อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” นั้น ยังไม่เหมาะกับประเทศไทยที่ “ประชาชนยังไม่ฉลาดพอที่จะใช้อำนาจ” ด้วยบุคคลเหล่านี้ “กลุ่มหนึ่ง ยังมองเห็นช่องทางที่ตัวเองจะได้ประโยชน์จากการกดข่มประชาชนส่วนใหญ่ไว้” และ “อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เชื่อมั่นในเพื่อนร่วมสังคมส่วนใหญ่” แต่ถึงที่สุดแล้ว “ความไม่เป็นธรรม” ที่เห็นชัดขึ้น พร้อมกับ “ผลประโยชน์ที่ผูกขาดอยู่ด้วยอภิสิทธิ์ชน” ไม่รู้จบ ไม่รู้กระจาย จะเป็นแรงผลักดันให้ “คุณค่าประชาธิป
ไตย” ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยในความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่ ซึ่ง “การเลือกตั้ง” เริ่มขึ้นเมื่อไร “อำนาจของคนส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นเมื่อนั้น”

…แน่นอน “ความหวาดผวา” ต่อ “อำนาจของคนส่วนใหญ่” ที่จะแสดงให้เห็นนั้นมีอยู่ และอาจจะกระตุ้นให้มีความพยายาม “ยื้อการเลือกตั้งออกไป” จนกว่าจะสร้าง “กลไกที่ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเกิดการสยบยอมแบบราบคาบ” เพียงแต่วิธีการนั้น ย่อมเสี่ยงต่อปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นเพื่อยืนยันใน “อำนาจประชาชน” ที่เป็นไปได้ว่าการแสดงให้เห็นถึงพลังนั้น อาจจะ “ไม่รอการเลือกตั้ง” ที่ยืดเวลาออกไปไม่รู้จบ และนั่นหมายถึง “ความยุ่งยากของทุกฝ่าย”

Advertisement

ชโลทร

ผู้โชคดี – พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต รองราชเลขานุการในพระองค์ และนิพนธ์ รักศรีอักษร รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ มอบรางวัลใหญ่รถกระบะ
โตโยต้า ไฮลักซ์ 1 รางวัล ให้แก่ รื่นวดี สุวรรณมงคล ผู้โชคดีที่ซื้อสลากการกุศลใน “งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว” ณ โรงละคร 601 สนามเสือป่า
เปิดประชุม – ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2561 โดยมี สุนันทา เตียสุวรรณ์ อุปนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก, เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผอ.สนง.คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, เพียงพนอ บุญกล่ำ รอง กก.ผจก.ใหญ่ สำนักกฎหมาย บมจ.ปตท., รสา กาญจนสาย รักษาการปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ ร่วมประชุม ณ ห้องแมจิก 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
เปิดวอร์รูม – เสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. เป็นประธานในพิธีเปิดห้องบัญชาการ (War Room) ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสนับสนุนกรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ (ศอส.) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคใต้) จังหวัดยะลา ณ อาคารศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้า (SCADA) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเร็วๆ นี้
นักบริหารดีเด่น – ปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) รับโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี 2561 Executive of the year 2018” สาขานวัตกรรมการประปาเพื่อประชาชน จาก พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
แลกเปลี่ยน – ยุทธ วรฉัตรธาร ปธ.กก. มนตรี ศรไพศาล ปธ.จนท.บริหาร บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และเจฟฟรีย์ โก๊ะ Regional Head, Retail Equities, Maybank Investment Bank Berhad ร่วมงานประชุมระดับสากล INVEST ASEAN SINGAPORE 2018 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนในระดับภูมิภาค รวมถึงผู้จัดการกองทุนได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ณ โรงแรมริช คาร์ตัน สิงคโปร์
รับรางวัล – นภดล ยกส้าน รองผู้จัดการทั่วไป โรงแรมใบหยกสกาย เป็นตัวแทนรับรางวัล Preferred Hotel Partner โรงแรมที่ลูกค้าให้ความสนใจและขายดีติดอันดับมากที่สุดประจำปี 2017 จาก www.traveloka.com โดยมี มนฤญช์ สุขวานิช ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ภูมิภาค 2 ตัวแทนจาก www.traveloka.com เป็นผู้มอบรางวัล ณ โรงแรมใบหยกสกาย
เปิดแคมเปญ – ออดรีย์ เลียว ปธ.กก.และ ปธ.คณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ร่วมกับวัลยา
วัฒนรัตน์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และศรุตี ศรีจันทร์วงศ์ หัวหน้างานบริการกิจกรรมกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ร่วมกันเปิดแคมเปญใหญ่แห่งปี 2018 “ชีวิตดีๆ เริ่มง่ายๆ” ด้วยการปฏิบัติตามหลัก 3 อ. เพื่อชีวิตที่ดี คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ณ สวนลุมพินี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image