กทม.เข้ม7,814สวนสาธารณะ ‘ผอ.สสล.’ ชี้ถุงยางที่พบแค่ทำตกหล่น ยันไม่มีเหตุร่วมเพศ (คลิป)

ภายหลังสังคมออนไลน์ตีแผ่เรื่องราวกลุ่มคนนัดมีเพศสัมพันธ์ภายในสวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ต่อมายังมีการขุดคุ้ยพบว่าสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกหลายแห่งเกิดปัญหาลักษณะเดียวกัน ทำให้ผู้บริหารสั่งการเร่งด่วนให้หน่วยงานสังกัด กทม.ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเหตุนั้น

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 14 สิงหาคม ที่ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เรียกประชุมมอบนโยบายการปฎิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยสวนสาธารณะของ กทม. ซึ่งมี น.ส.พินิตนาฏ ธนาอภินันทน์ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางอารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ หัวหน้าสวนสาธารณะ กทม.และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมง ก่อนแถลงผลการประชุม

แฟ้มภาพ

นางวัลยา แถลงว่า สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยสวนสาธารณะของ กทม.ทั้งหมด กทม.ทำสัญญาจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คอยดูแลรักษาความปลอดภัย รวมทั้งสิ้น 507 คน ครอบคลุมสวนสาธารณะหลักทั้ง 37 แห่ง โดยการจัดกำลัง รปภ.ประจำสวนแต่ละแห่ง จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ขนาดของพื้นที่ ประตูเข้า-ออก และปัจจัยเสี่ยงของชุมชน แบ่งกำลังทำงานสลับหมุนเวียนรอบเช้าและรอบดึก ซึ่งสวนส่วนใหญ่เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. ยกเว้นสวนลุมพินีจะเปิดบริการตั้งแต่เวลา 04.30 น.เพราะมีผู้เข้าใช้บริการวิ่งออกกำลังกายในช่วงเช้าเป็นจำนวนมาก พร้อมวางกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุดถึง 50 คน คอยดูแลและตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ

นางวัลยา แถลงว่า ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ทำให้ กทม.ต้องวางมาตรการใหม่ โดย 1.เพิ่มความถี่ในการตรวจตราพื้นที่ภายในสวนและตั้งกล่องเขียวบันทึกข้อมูลและรายงานผลการตรวจสอบ เพื่อให้การบันทึกรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บริหารให้รับทราบมากขึ้นและทราบเหตุล่วงหน้า ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียงการรายงานอย่างไม่เป็นทางการผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ 2.หากเกิดเหตุชิงทรัพย์ การทะเลาะวิวาท และการทำอนาจาร ให้หัวหน้าสวนดำเนินการแจ้งความและลงบันทึกประจำวันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ทันที

Advertisement
แฟ้มภาพ

นางวัลยา แถลงอีกว่า 3.แก้ไขป้ายระเบียบข้อห้ามการใช้สวน อาทิ การปรับตัวอักษรให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จัดทำป้ายหลากหลายภาษา รวมถึงระบุการห้ามทำอานาจารภายในสวนสาธารณะในระเบียบการใช้สวนเพิ่มเติม 4.การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) เพิ่มเติมในจุดอับ จุดเสี่ยง เพื่อให้ผู้ที่คิดจะทำอนาจารรู้สึกเกรงกลัว ป้องกันเหตุ เพิ่มความปลอดภัยและช่วยติดตามตัวผู้ร้ายจากเหตุชิงทรัพย์ 5.จัดเจ้าหน้าที่ประจำห้องน้ำสาธารณะภายในสวนสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามมิให้ชายหญิงเข้าห้องน้ำร่วมกัน และ 6.จัดทำป้ายสื่อความหมายเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ

“การกระทำอนาจารนั้น เป็นเรื่องพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ต้องอาศัยสังคมร่วมด้วยช่วยกันสอดส่อง ขณะเดียวกัน มองว่า จำเป็นต้องให้การศึกษาเข้าถึงด้านวัฒนธรรมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ต้องชี้ให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องปกติ แต่เป็นความผิดปกติของจิตใจคน” นางวัลยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้เหตุการทำอนาจารเคยเกิดขึ้นในสวนสาธารณะ กทม.หรือไม่ รวมถึงการพบเห็นถุงยางอนามัยที่ใช้แล้ว นางวัลยา กล่าวว่า เหตุทำอนาจารอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในบางสวน ส่วนการใช้ถุงยางอนามัยที่พบ อาจเป็นถุงยางอนามัยที่ยังไม่เคยใช้ อาจตกหล่นจากการควักหรือล้วงออกมาจากกระเป๋า จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นถุงยางใช้แล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่าพฤติกรรมการร่วมเพศหรือทำอนาจารไม่เคยมีในสวนของ กทม. แต่การกอด จับมือ และพลอดรักของคู่รักอาจพบเห็นได้มากกว่า และหากเกิดเหตุขึ้นอีก จะลงโทษเจ้าหน้าที่ฐานละเลยต่อการปฎิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตามประกบผู้ที่เดินทางมาใช้บริการตลอด บางครั้งคู่รักอาจเกิดอารมณ์ขึ้น เจ้าหน้าที่ไม่อาจดูแลได้อย่างทั่วถึง เพราะบางสวนมีขนาดพื้นที่ถึง 200 ไร่ แต่หากพบเหตุอนาจาร ต่อไปจะให้หัวหน้าสวนแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาทันที

Advertisement

 

เมื่อถามถึงการป้องกันการก่อเหตุอนาจารตามพื้นที่สวนสาธารณะขนาดย่อยหรือสวนในชุมชน นางวัลยา กล่าวว่า กทม.จะบังคับใช้ระเบียบการใช้สวนสาธารณะครอบคลุมสวนขนาดเล็ก สวนหย่อม และสวนในชุมชนด้วย โดยจะมอบหมายให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต รับผิดชอบ รวมถึงให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายเทศกิจ และเจ้าหน้าที่คอยดูแลพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีสวนทุกขนาดจำนวน 7,814 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image