เขย่าปม ‘พนมสุรินทร์’ เรืออาหรับ 1,200 ปี วันนี้ถึงไหน?

ถูกตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ สำหรับความคืบหน้าของการศึกษาเรือโบราณพนมสุรินทร์ที่ได้รับการฟันธงว่าเป็นเรือสินค้าอาหรับอายุราว 1,200 ปี ร่วมสมัยทวารวดี โดยเป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่งหลังถูกพบในนากุ้งที่สมุทรสาครใน พ.ศ.255 ถูกรุมล้อมทั้งคอหวยที่หวังเลขเด็ด และนักประวัติศาสตร์โบราณคดีที่หวังจะทราบข้อมูลใหม่ๆ จากการค้นพบยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งช่วงแรกๆ มีการจัดเสวนาวิชาการน่าสนใจ ตามมาด้วยการจัดพิมพ์หนังสือโดยกรมศิลปากร

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ข่าวคราวต่างๆ ก็ค่อยๆ เงียบหาย กระทั่งถูกส่องสปอตไลต์อีกครั้งเมื่อมีการนำโบราณวัตถุจากเรือดังกล่าวมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พร้อมทั้งจำลองบรรยากาศในเรือให้ผู้ชมจินตนาการร่วมกับแผนที่เส้นทางการค้าโลกและข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับประวัติการพบอีกทั้งข้อสันนิษฐานต่างๆ ในเบื้องต้น

เรื่องราวของเรือพนมสุรินทร์ไม่เพียงได้รับความสนใจในแวดวงโบราณคดีไทย แม้แต่ Asian Civilisation Museum ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีนิทรรศการเกี่ยวกับแหล่งเรือจมที่ทะเลชวา บริเวณเกาะเบลิตุง ยังกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรือพนมสุรินทร์ พร้อมเผยแพร่ภาพถ่ายและรายละเอียดโบราณวัตถุที่พบในสูจิบัตรซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งอย่างดีในชื่อว่า “The Tang Shipwreck : Art and exchange in the 9th century”

นิทรรศการดังกล่าวชวนให้ร้องว้าวไปกับความมากมาย อลังการและสมบูรณ์แบบของเครื่องถ้วยจีนยุคราชวงศ์ถังซึ่งพบในซากเรือเบลิตุงมากกว่า 60,000 ใบ ที่สำคัญคือเป็นหลักฐานเส้นทางการค้าจากตะวันออกกลางมายังเมืองท่าในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนมุ่งหน้าสู่จุดหมายคือจีน

Advertisement

โบราณวัตถุเซตใหญ่ไฟกะพริบนี้ ถูก “ซื้อ” มาจัดแสดง โดยถือเป็นนิทรรศการที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์

สูจิบัตรนิทรรศการ The Tang Ship Wrek มีการตีพิมพ์ข้อมูลและภาพถ่ายเรือพนมสุรินทร์ของไทย ซึ่งเป็นเรืออาหรับร่วมสมัยกับเรือเบลิตุง (ภาพปกจากเว็บไซต์ www.acm.org.sg)
แหล่งเรือพนมสุรินทร์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร พบในนากุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีงามดี เมื่อ พ.ศ.2556 ถือเป็นเรืออาหรับที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้

เคว้งคว้างกลางนากุ้ง เจาะโปรเจ็กต์ยักษ์ ชี้สุดยาก-ซับซ้อน

หันกลับมาที่เมืองไทย ปัจจุบันเรือโบราณพนมสุรินทร์ยังอยู่ที่เดิมแบบเหงาๆ ไม่มีชาวบ้านแวะเวียนไปขอโชคลาภจนรถราแน่นนากุ้งเหมือนก่อน ในขณะที่สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เคยเปิดเผยถึงแผนงานทางโบราณคดีว่าเตรียมจะอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเรือดังกล่าวระหว่างปี 2562-2564 เริ่มสร้างเขื่อนป้องกันน้ำเข้าไปยังตัวเรือเพื่อทำการขุดค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบ 16 ล้านบาท จากนั้นจะอนุรักษ์เรือต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ใช้งบ 6 ล้านบาท และปี 2564 ใช้งบอีก 7 ล้านบาท

Advertisement

อย่างไรก็ตาม งานนี้คงไม่เสร็จสิ้นในปี 2564 อย่างแน่นอน แต่เป็นโปรเจ็กต์ทั้งใหญ่ทั้งยาวซึ่งต้องเกาะติดเรื่องราวไปอีกนาน

เอิบเปรม วัชรางกูร อดีตผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ผู้คร่ำหวอดในแหล่งเรือจมมานานหลายทศวรรษ บอกว่า ขุดมา 40 ปี ตั้งแต่ยอดเขายันก้นทะเล พนมสุรินทร์ ยากสุดตั้งแต่เคยเจอ อย่างต่ำต้องใช้เวลา 30 ปีในการขุดค้น ศึกษา และอนุรักษ์ เพราะโบราณคดีจำพวก “น้ำขลุกขลิก” นี้ยุ่งยากและซับซ้อนที่สุดในงานโบราณทั่วโลก อย่างเรือ “แมรี่ โรส” ที่อังกฤษก็ใช้เวลาถึง 33 ปี

“งานบนบก ทำไปหยุดไปได้ ตังค์หมดก็กลบไว้ก่อน แต่เรือไม้ที่แช่น้ำแบบนี้ ต้องขุดไปอนุรักษ์ไป นี่คือขั้นตอนที่ยาวนาน เพราะไม้อิ่มน้ำ จะปล่อยให้แห้งไม่ได้ ต้องอยู่ในน้ำ ไม่ให้โดนแดด ใช้น้ำจืดสนิทก็ไม่เหมาะ เพราะแบคทีเรียจะโต แล้วถ้าเป็นเรือที่ตอกตะปู สามารถแงะออกมาเป็นชิ้นๆ เพื่ออนุรักษ์แล้วประกอบใหม่ได้ แต่เรือพนมสุรินทร์ใช้วิธีการเย็บ ถ้าจะแงะต้องทำลายเชือก จึงต้องยกทั้งลำไปทำในแล็บ การยกต้องทำปั้นจั่น ต้องออกแบบให้เสร็จว่าจะเอาไปไว้ไหน ใช้ความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งนักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก และวิศวกรใต้น้ำ ส่วนงบประมาณคิดว่าคงใช้ราวๆ 2,000 ล้าน รวมการซื้อที่ดินเพิ่มด้วย”

ในส่วนของการศึกษา วิเคราะห์ เอิบเปรมระบุว่า มีผู้ศึกษาเรื่องเรืออาหรับมานานอย่างน้อย 30 ปี แต่ข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา ซึ่งล่าสุดทราบมาว่ากรมศิลปากรเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาร่วมมือกันศึกษาเรือพนมสุรินทร์ โดยไทยเป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติบอกกับตนว่า เมื่อไหร่เปิดโอกาสให้ศึกษา ก็พร้อมกระโดดใส่ทันที

ตอร์ปิโด จาร์ จากเรือพนมสุรินทร์ จัดแสดงในนิทรรศการจากบ้านสู่เมือง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครพร้อมบรรยากาศจำลองสินค้าในเรือ
ถ้วยชามมหาศาลนับหมื่นชิ้น ถูกพบที่แหล่งเรือจมเบลิตุง ก่อนมีการสัมปทานและนำมาขายให้พิพิธภัณฑ์ในสิงคโปร์จัดแสดงอย่างตื่นตาตื่นใจ

ขุดไป โชว์ไป ทำได้ ไม่ต้องรอ

ถามว่าเมื่อเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลายาวนานขนาดนี้ ต้องรอจนเสร็จสมบูรณ์แล้วค่อยจัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่ ?

คำตอบของเอิบเปรมคือ ไม่ !!!

“งานนี้คอยให้เสร็จเลยแล้วค่อยเผยแพร่ไม่ได้ คนทำรุ่นแรกจะตายก่อน เพราะกระบวนการยาวนานมาก สิ่งที่ทำกันมาทั่วโลก คือทำอะไรไปนิดหน่อยก็เผยแพร่แล้ว คือเรียนรู้ไปด้วย เผยแพร่ไปด้วย อนุรักษ์ไปด้วย พร้อมๆ กัน ทั้ง 3 โครงหลักของการจัดการ 1.หาความรู้ 2.อนุรักษ์ 3.ใช้ประโยชน์จากมัน”

เอิบเปรม วัชรางกูร อดีต ผอ.กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ยืนท่ามกลางนากุ้งที่มีน้ำท่วมจนเต็ม เมื่อ พ.ศ.2559 สำหรับสภาพปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการขุดค้น

อดีตผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำยังย้ำว่าเนื้อหาสาระของเรือพนมสุรินทร์ เป็น Global view เป็นข้อมูลของโลก ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ไทย เรือรุ่นราวคราวเดียวกันถูกพบหลายแห่งทั้งในยุโรป อาหรับ กลุ่มสุมาตรา อย่างเรือเบลิตุงซึ่งพบเครื่องถ้วยราชวงศ์ถัง ที่พิพิธภัณฑ์ในสิงคโปร์ซื้อไปจัดนิทรรศการได้อย่างสวยงามมาก โบราณวัตถุตื่นตาตื่นใจ แต่ตอนนี้แหล่งเรือจมดังกล่าวกลายเป็นแค่หลุม ไม่มีอะไรเหลือแม้แต่ชิ้นเดียว และเกือบไม่มีข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับตัวเรือ เนื่องจากการขุดเรือเบลิตุงไม่ได้เป็นไปโดยเน้นหลักวิชาการ แต่เป็นการยื่นขอสัมปทานจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อพบเครื่องทองและเครื่องถ้วยจำนวนมหาศาลก็ขายให้พิพิธภัณฑ์

สำหรับการนำเสนอเรื่องราวของเรือพนมสุรินทร์นั้น เอิบเปรมมองว่ามีหลายแง่มุม โดยเบื้องต้นสามารถ แสดงไทม์ไลน์ว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร และในภูมิภาคนี้ยังพบเรือจมลักษณะนี้ที่ใดบ้าง รวมถึงอีกมิติหนึ่งคือ พนมสุรินทร์อยู่ส่วนไหนในไทม์ไลน์นั้น เป็นต้น

ทำได้เลย ไม่ต้องรอ!

ถึงเวลา ‘การค้าโลก’ แนะโยงหลักฐาน เชื่อมสัมพันธ์ภูมิภาค

สุนิติ จุฑามาศ นักศึกษาปริญญาโทสาขาโบราณคดีอิสลาม มหาวิทยาลัยจอร์แดน ผู้สร้างความเร้าใจจากการนำเสนอเรื่องเรืออาหรับรวมถึงเรือพนมสุรินทร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ เล่าว่า เคยคุยกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญโบราณคดีอิสลาม เขาบอกว่า “บ้านคุณเจอหลักฐานสำคัญมาก นี่คือการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามทำให้ดีที่สุด”

แล้วของดีที่เรามีอยู่ ถูกนำมาเผยแพร่ได้มากเพียงพอหรือยัง หากเทียบกับความสำคัญของมัน ?

“สุนิติ” มองว่า ควรมีการจัดเสวนา มีความเคลื่อนไหวให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น ส่วนในอนาคตก็น่าจะทำนิทรรศการอย่างที่สิงคโปร์ แต่ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นโดยใช้สหวิทยาการ อย่างไรก็ตาม หากนำมาเทียบกันระหว่างเรือเบลิตุงกับเรือพนมสุรินทร์ในแง่ของสินค้า ถือเป็นคนละประเภท เรือเบลิตุงบรรทุกเครื่องถ้วยจีน เครื่องทองมาเต็มที่ ชัดเจนว่าอยู่ระหว่างทางแล้วจม แต่เรือพนมสุรินทร์ยังคลุมเครือว่าแวะตรงนี้แล้วติดต่ออย่างไร ของที่เจอในเรือก็ค่อนข้างน้อย แต่ที่สำคัญเป็นพิเศษคือ “ตอร์ปิโด จาร์” ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาที่พบในอ่าวเปอร์เซีย รูปทรงยาว ไม่มีหู เท่าที่ตรวจสอบยังไม่เคยพบในแถบบ้านเรามาก่อน เจอใกล้สุดคือศรีลังกา ที่เป็นเมืองท่าแวะพักเช่นกัน

 

เส้นทางการค้าโลก และการค้าข้ามคาบสมุทร ควรเป็นประเด็นที่ได้รับการเผยแพร่และทำความเข้าใจมากขึ้นในการศึกษาไทย (ภาพในนิทรรศการจากบ้านสู่เมือง)

ถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ? ที่การศึกษาไทยรวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ควรสร้างความเข้าใจถึง “ประวัติศาสตร์การค้าโลก” การค้าข้ามคาบสมุทร ที่ทำให้ชุมชนเติบโตเป็นบ้านเมือง บ้านเมืองเติบโตเป็นรัฐ รุ่งโรจน์และติดต่อสัมพันธ์กันแม้อยู่ห่างไกล

“การศึกษาเพิ่มเติมเรื่องโบราณวัตถุที่มีอยู่ในเรือพนมสุรินทร์จำเป็นต้องทำให้ชัด แต่ในส่วนของนิทรรศการ บ้านเราไปเน้นโบราณวัตถุเยอะ โดยไม่ได้เชื่อมเรื่องราวความเป็นมาของมัน เรื่องการมองภาพรวมและโยงความสัมพันธ์ของหลักฐาน การค้าระหว่างภูมิภาค ยังเชื่อมไม่ค่อยได้ และเราอาจมองข้ามการดึงนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันศึกษามากพอ ในเมืองไทยก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีอิสลาม”

สุนิติให้คำตอบ

เหล่านี้คือความคืบหน้าและมุมมองของนักวิชาการที่มีต่อการดำเนินงานเกี่ยวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์ ขุมสมบัติเลอค่าในด้านวิชาความรู้ที่ยังอยู่ใต้โคลนน้ำขลุกขลิกของนากุ้งจนถึงวันนี้

เครื่องถ้วยจีนจากเรือเบลิตุง อินโดนีเซีย สมบัติล้ำค่ายุคราชวงศ์ถัง
Asian Civilisation Museum สิงคโปร์ ทุ่มซื้อเครื่องถ้วยราชวงศ์ถังที่พบในเรือเบลิตุง อินโดนีเซียมาจัดแสดง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image