อาการไหว้เจ้า ไม่ได้ถามเจ้าทางการศึกษา : ผศ.ดร.ชมพู โกติรัมย์

ชะตากรรม กรรมร่วม หรือแม้แต่ผู้ร่วมชะตากรรมทางการศึกษา คำนี้ผู้เขียนนำมาสะท้อนถึงการศึกษาของไทย ซึ่งกำลังอยู่ในบรรยากาศปฏิรูปที่กำลังเป็นอยู่นี้ และประเมินรอบสี่ ในฐานะการศึกษาเป็นคลังปัญญาของชาติ การศึกษาจึงต้องมีบทบาทชี้นำสังคม ยิ่งในปัจจุบันสังคมได้เปิดกว้าง ไทย (สมอง) ของคนในชาติ มิอาจปฏิเสธการรุกรานจากต่างชาติจากกรอบอาเซียน และนานาชาติในนามเสรีไร้พรมแดนทางการค้า ไม่เว้นแม้แต่การศึกษา ที่รุกคืบในลักษณะซึมซับสู่สังคมไทย นับวันมีแนวโน้มหักโหม วาทกรรมความเป็นนานาชาติ ความทันสมัย ได้เป็นคำที่มีพลังที่ยากจะปฏิเสธเมื่อถูกยึดโยงเข้ากับการศึกษาได้มีพลังหักโหมสังคมไทยยิ่งนัก

หากเหลียวหลังแลหน้าอย่างถี่ถ้วนแล้ว เกิดคำถามว่า การศึกษาไทยได้ลงทุน หรือใช้ทุนเพื่อการศึกษา สมเหตุสมผลหรือไม่ เราหันมุ่งเป้าสู่ความเป็นนานาชาติทางการศึกษา ได้ทิ้งประชากรส่วนมากจากกรอบการศึกษาอย่างนั้นหรือ แม้มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.การศึกษา “ความเสมอภาคทางการศึกษา”… “ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” ได้ระบุไว้ก็ตาม และจากข้อมูลการประเมินการลงทุนเพื่อการศึกษาจากต่างชาติในอาเซียนพบว่า ไทยมีจุดคุ้มทุนมากที่สุด

จากประเด็นนี้ สามารถวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ได้หลายประการ กล่าวคือ ด้านการลงทุน ไทยมีศักยภาพเป็นแหล่งลงทุน สืบเนื่องจากมีวัฒนธรรมนิยมความทันสมัย เป็นสังคมรับไม่นิยมสร้าง รับฟังอย่างไตร่ตรองมีความเป็นจริงมากน้อยประการใด

ในแง่การศึกษา ผู้เขียนเห็นว่ามีความเป็นจริงค่อนข้างมาก บางครั้งขาดสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ขาดการวิจัยค้นหาองค์ความรู้เพื่อพัฒนา เพราะไปหลงในวิชาจากแดนไกล ระบบจับวาง (copy and paste) ทางการศึกษา ได้เป็นสูตรสำเร็จดังอาหารจานด่วน “มีมูลเหตุอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร สัมพันธ์กับอะไร จะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่จะสังเคราะห์อย่างไร” ไม่ได้เข้าไปกระตุ้นการคิด การคิดไม่ได้พัฒนาเพราะการจับวางเป็นสูตรสำเร็จ หรือมักคว้า แต่ไม่ชอบค้นหาพัฒนา (วิจัย)

Advertisement

ด้านการจัดการศึกษา ที่เน้นคุณภาพ ได้ประสบปัญหาในแง่การจัดการ การประเมินที่มีลักษณะจัดเตรียมเอกสารจัดหาหลักฐานมารองรับเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานตัวชี้วัด บรรยากาศจึงเกิดความโกลาหลเพื่อการประเมิน บางครั้งเลิกหรือลดเวลาสอนเพื่อการประเมิน ยิ่งนานวันกำลังเป็นวัฒนธรรมเอกสาร ด้านหลักสูตร หลักสูตรในฐานะเครื่องปรุงสำคัญทางการศึกษา มีลักษณะไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและสถานการณ์โลกมากนัก บางครั้งขาดความเข้าใจความเป็นวิชาชีพ ความเป็นวิชาชีวิต (ศึกษาทั่วไป) ส่งผลให้เครื่องปรุงขาดองค์รวม (สังคม อารมณ์ สติ ปัญญา) ความเป็นมนุษย์ ความสำนึกต่อสังคมมันได้ถูกกัดเซาะที่ฐาน

จากการศึกษาที่ขาดฐานคิดดังกล่าวนี้ได้เป็นอยู่และมีแนวโน้มหักโหมในสังคมไทยมิอาจปฏิเสธได้ การจัดการการศึกษาในด้านหลักสูตรมีลักษณะจัดให้ครบ หรือจัดให้มีเฉกเช่นไหว้เจ้าตามประเพณี โดยไม่ถามหรือตระหนักว่าเจ้าต้องการอะไร ทั้งที่มีช่องทางของหลักสูตรสถานศึกษาเปิดช่วงให้สถานศึกษาสามารถปรับให้สอดคล้องตามภูมิท้องถิ่นนั้นๆ เราต้องยอมรับว่า เราตกอยู่ภายใต้กรอบมิจฉาทิฐิของระบบสังคมที่ผูกโยงกับวาทกรรม การศึกษาเพื่อปริญญา ขาดการเตรียมคนที่ไม่ได้มุ่งสู่ปริญญา ซึ่งเป็นคนส่วนมากของสังคม เขาได้เป็นส่วนเกินจากกรอบปริญญาเหล่านั้นจะดำรงอยู่อย่างไร เท่ากับสิ่งที่ไหว้เจ้าได้สูญเปล่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาเป็นดังดึงคนจากป่าแต่ไม่ได้ศาสตราวุธใดๆ ที่จะพึงมีพร้อมเผชิญสัตว์ร้ายที่กำลังคืบคลานรุกรานชุมชนเขา ค่าการศึกษาต้องขับเคลื่อนจากมุ่งสู่ปริญญาเป็นด้านหลัก แต่มุ่งเพื่อดำรงชีพได้ เยาวชนได้ใช้เวลานับสิบปีจนย่างสู่วัยทำงาน ยุทธศาสตร์ต้องมีรองรับคนกลุ่มนี้ในกรณีไม่ได้ไปต่อบนเส้นทางปริญญา เขาจะอยู่และพัฒนาชุมชนอย่างไร มิฉะนั้นแล้ว สังคมจะขาดความยั่งยืนในระยะยาว

Advertisement

และด้านคุณภาพทางการศึกษา ประเด็นนี้เป็นหลักสำคัญ คุณภาพสัมพันธ์กับ คน ทุน วัตถุดิบ และวิธีการ ซึ่งรายละเอียดมีมาก จากการจัดอันดับคะแนนด้านการศึกษาโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD พบว่าความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ความสามารถทางการอ่าน และความสามารถทางคณิตศาสตร์ครั้งล่าสุดนี้ ประเทศไทยมีคะแนนทั้ง 3 ส่วนอยู่ในกลุ่มประเทศระดับความสามารถทางการศึกษาต่ำ หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน

ถามว่าเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มคงที่แปลว่าถอยหลัง เมื่อประเทศอื่นในอาเซียนได้ก้าวไปเรื่อยๆ ที่นำมาปรารภเพื่อเป็นโจทย์การศึกษา เป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข แม้เรามีการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น เราต้องหันมาสำรวจตนอย่างตระหนัก ภายใต้คน ทุน วัตถุดิบ และวิธีการ เพียงปฏิรูปคงไม่พอ จะต้องกล้าที่จะตอบรับ ทบทวน (ปฏิวัติ) ทั้งระบบ

อย่าลืมว่าการศึกษาคือปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ หากการศึกษาล้มเหลว การตั้งความหวังให้ประเทศพัฒนาเพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก แล้วจะวนอยู่ในชะตากรรมร่วม ต้องกล้าที่จะออกจากวังวนแบบเดิม

ผศ.ดร.ชมพู โกติรัมย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image