‘ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์’ ทรงสานต่อพระราชปณิธาน ร.9 นำวิทย์-เทคโนโลยียกระดับชีวิตคนไทย

ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย และเพื่อสนองพระราชปณิธาน และแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงทรงใช้เวลาตลอด 31 ปี นับตั้งแต่ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อ พ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบัน ในการแสวงหาความรู้ และความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังทรงคำนึงถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวมอีกด้วย

สำหรับในปี พ.ศ.2561 นี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โปรดให้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติทางด้านอินทรีย์เคมีขั้นสูงในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 13 (The 13th International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia) หรือ ICCEOCA-13 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายน พ.ศ.2561

ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้รับเกียรติจัดการประชุม ICCEOCA-4 มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2552 โดยการประชุมวิชาการฯ ICCEOCA ครั้งที่ 13 นี้ จะเป็นการรวมตัวของนักวิจัย คณาจารย์ที่มีผลงานวิจัยอันโดดเด่น และมีความเชี่ยวชาญด้านอินทรีย์เคมี และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 200 คน เข้าร่วมนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางการวิจัย วิทยาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างกว้างขวาง

Advertisement

Advertisement

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การมอบรางวัล Lectureship Awards แก่ผู้ที่นำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยม โดยนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนี้จะได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่ความก้าวหน้างานวิจัยของตนเอง อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทั้งการวิจัยและสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยและคณาจารย์ชั้นนำในกลุ่มประเทศสมาชิก ในขณะที่ประเทศไทยจะได้นำงานวิจัยที่ทำขึ้นภายในประเทศ ออกเผยแพร่ให้แก่นักวิชาการในต่างประเทศด้วย

จากพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย ในการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการในสาขาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลโดยตรงต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการเติบโตของเครือข่ายวิจัยภายในประเทศ และโครงการนี้ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำคัญให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนักวิทยาศาสตร์ จากประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย นำไปสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยจากเครือข่ายวิจัยของกลุ่มประเทศสมาชิกอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว

นับว่าเป็นโอกาสอันดีของนักวิจัยไทยที่จะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางการวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เพื่อยกระดับการวิจัยให้มีความเข้มแข็ง และมีความก้าวหน้า ทัดเทียมประเทศอื่นๆ รวมไปถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

โดยผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถาม 0-2554-1902 โทรสาร 0-2553-8572 อีเมล์: [email protected] หรือ https://icceoca13.cri.or.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image