โมเดลให้เช่า ‘บ้านธนารักษ์ประชารัฐ’

สอบถามกันเข้ามาเยอะมาก ชื่อโครงการยาวๆ “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ”

ก่อนอื่น บอกได้เลยว่าเป็นแพคเกจเดียวกันกับโครงการบ้านประชารัฐของรัฐบาล คสช. นั่นเอง แต่คราวนี้มีความแตกต่างกันตรงที่เป็นโครงการให้เช่าโดยเฉพาะ เนื่องจากสร้างบนที่ดินหลวง โดยเป็นมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) วันที่ 22 มีนาคม 2559

ในวงการรัฐศาสตร์เขามีภาษิตที่ว่า “เงินหลวง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” เพราะฉะนั้น ที่ดินของรัฐก็เหมือนกัน โอนกรรมสิทธิ์ให้ใครไม่ได้ จึงต้องอยู่กันแบบสิทธิการเช่า

ทีนี้ กลับมาดูโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ชื่อจำยากๆ แต่ความจริงมีเทคนิคอยู่นิดเดียว ทางกระทรวงการคลังเขามอบหมายให้กรมธนารักษ์ ซึ่งกำกับดูแลที่ราชพัสดุทั่วประเทศอยู่ด้วย ทำโครงการคล้ายๆ บ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ แต่เรียกชื่อว่า “บ้านธนารักษ์”

Advertisement

เพราะฉะนั้น โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ จึงเป็นการหยิบ 2 คำ 2 โครงการมารวมให้เป็น 1 คำ 1 โครงการ ประกอบด้วย บ้านธนารักษ์ กับ บ้านประชารัฐ ดังนั้น จึงกลายเป็น “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ”

เรามาดูความพิเศษพิโสกันดีกว่า ย้อนรอยบ้านประชารัฐสักเล็กน้อย เป็นโครงการสำหรับผู้ซื้อเป็นบ้านหลังแรก ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซื้อไปแล้วมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ด้วย

ในขณะที่บ้านธนารักษ์ประชารัฐเขาหยิบโมเดลการพัฒนาเป็นโครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ แปลว่าให้เช่าอย่างเดียว ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ เรื่องนี้ต้องย้ำกันเยอะๆ จะได้ไม่สับสน

Advertisement

สำหรับไส้ในบ้านธนารักษ์ประชารัฐ จัดระเบียบข้อมูลในการอธิบายได้ ดังนี้ 1.แม้จะเช่าก็ต้องเช่าเป็นบ้านหลังแรก เงื่อนไขเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ (จะพูดว่าข้าราชการก็กลัวจะมัดตัวเอง เพราะสมัยนี้คนทำงานกินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชนไม่ได้มีแต่ข้าราชการ มีหลายหน่วยงานที่ชื่อแปลกๆ แต่สถานภาพเป็นคนทำงานให้รัฐบาล ก็เลยเรียกรวมๆ ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ได้มีโอกาสเช่ายาวๆ เสมือนมีกรรมสิทธิ์ได้

2.ราคาอสังหาฯบนที่ดินหลวง กำหนดไว้ 2 ราคา คือ “เพดานไม่เกิน 1 ล้านบาท” โดยจะต้องเป็นอสังหาฯก่อสร้างใหม่เท่านั้น กับ “เพดานไม่เกิน 5 แสนบาท” สำหรับคนที่เช่าบ้านอยู่บนที่ดินราชพัสดุอยู่แล้ว อาจจะกู้ซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านก็ว่ากันไป

ถ้าให้เดาก็คงหมายถึงกลับไปดูแลกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ-ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เช่าบ้านหรือผ่อนบ้านบนที่ดินหลวง ได้มีโอกาสต่อเติม-ซ่อมแซมบ้านกับเขาบ้าง

3.ไซซ์ของอสังหาฯ เนื่องจากที่อยู่อาศัยมีหลายประเภท ได้แก่ คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด แต่ถ้าดูจากราคาที่กำหนดอย่างเก่งน่าจะได้เพียงคอนโดฯกับทาวน์เฮาส์เป็นหลัก เพราะกำหนดไว้ว่า บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 48 ตารางเมตรขึ้นไป ส่วนคอนโดมิเนียมให้เริ่มต้นห้องละ 24 ตารางเมตรขึ้นไป

4.วงเงินสินเชื่อ ในเมื่อเป็นโครงการของรัฐบาล แน่นอนว่าเจ้าภาพย่อมหนีไม่พ้นแบงก์ของรัฐ งานนี้เป็นเรื่องราวของอสังหาฯ ดังนั้น จึงมีเจ้าภาพปล่อยเงินกู้ 2 แบงก์ มีแบงก์ออมสินกับแบงก์ ธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) แต่ก็อย่างว่าแหละค่ะ เนื่องจากเป็นอสังหาฯให้เช่า วงเงินที่ใช้ก็เลยกำหนดไม่เยอะเท่ากับบ้านประชารัฐที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ และได้วงเงินก้อนแรกไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท

แต่พอเป็นบ้านธนารักษ์ประชารัฐ รัฐบาลเจียดเงินมาให้แค่ 9 พันล้านบาท แบ่งให้ 2 กลุ่มด้วยนะ กลุ่มแรก ผู้ประกอบการหรือคนที่จะกู้ไปก่อสร้างโครงการ 4 พันล้าน อีกกลุ่มก็เป็นฝั่งผู้เช่านี่แหละ ให้มา 5 พันล้านบาท

5.จะเรียกว่าสิทธิการเช่าหรือระยะเวลาเช่าก็ได้ โครงการนี้รายละเอียดเยอะแยะไปหมด ขอบอก สงสัยกลัวจะงงไม่พอกระทรวงคลังก็เลยมีให้เลือกเช่า 2 แบบ เรียกว่า “การเช่าแบบสั้น” วงเล็บให้ด้วยว่า Rental มีเวลาแค่ครั้งละ 5 ปี หมดอายุแล้วต้องถูกเชิญเปิดหาผู้เช่ารายใหม่ ถ้าอยากอยู่ต่อก็ต้องไปแข่งราคาหรือแข่งโชคให้เขาหยิบใบดำใบแดงเป็นชื่อเรา

อีกแบบคือ “การเช่าแบบยาว” อธิบายความหมายผ่านภาษาต่างด้าวว่า Leasehold คราวนี้ให้สิทธิเช่านาน 30 ปี ใกล้เคียงกับการถือกรรมสิทธิ์กันเลยทีเดียว

6.การเช่าสั้น 5 ปี เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นเพราะที่ดินราชพัสดุมีบางแปลงที่สวยจัด ทำเลอยู่กล๊าง กลางใจเมือง จะปล่อยเช่ายาวก็เสียดายราคา เสียดายรายได้เข้าหลวง ก็เลยคิดโมเดลดื้อๆ ขึ้นมาเลยว่าให้เช่าก็แล้วกัน ตั้งเงื่อนไขให้ดูมีหลักการขึ้นมาหน่อยว่า ผู้ประสงค์อยากเช่าต้องมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท โดยห้องเช่าตั้งราคาไว้ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

ประเด็นคือ กันไว้สำหรับ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” เพียงอย่างเดียว คนทั่วไปหมดสิทธิ งานนี้ขาเมาธ์เขาบอกว่าคงจะต้องใช้กำลังภายในแบบเส้นทับเส้นแน่นอน (ฮา)

7.การเช่ายาว 30 ปี ส่วนใหญ่จะเปิดกว้างให้ทั้งคนของรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้ามาเช่าได้ ยกเว้นบางแปลงที่มีข้อจำกัดหยุมหยิมงอกขึ้นมาอีก เช่น อยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีน้ำเงิน ข้อกำหนดต้องใช้กิจกรรมส่วนราชการ ดังนั้น ถ้าจะนำมาทำบ้านธนารักษ์ประชารัฐ จึงต้องเปิดให้เช่าสั้น-เช่ายาวได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น

8.โครงการนำร่อง มีที่ไหนบ้าง ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า โครงการนี้กรมธนารักษ์ใจดีมาก เอ่ยปากยกที่ดินให้ทำเฟสแรก 30 แปลงทั่วประเทศ แต่เพื่อให้โครงการนี้สามารถแจ้งเกิดได้ก่อนก็เลยต้องมีโครงการนำร่อง ทำออกมาก่อน 6 แปลงแรก แบ่งเป็น 3 แปลงที่ให้สิทธิกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับอีก 3 แปลงเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามาเอี่ยวด้วย

รายละเอียดสักนิด 3 แปลงที่ให้เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเช่า อยู่ทำเลสามเสนใน กรุงเทพฯ ชั้นใน 2 แปลง กับที่เชียงใหม่ ถนนช้างคลาน (ติดผังเมืองสีน้ำเงิน) อีก 1 แปลง ส่วนทำเลที่เปิดกว้างจะมีที่อำเภอแม่จัน เชียงราย 1 แปลง กับอำเภอชะอำ เพชรบุรีอีก 2 แปลง

งานนี้โดนใจใครบ้าง เงี่ยหูฟังให้ดี ถ้ามีความคืบหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image