การเมือง เชื้อชาติ ในประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

การเมืองผลักดันให้มีกำเนิดประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีของไทย แล้วถูกใช้เพื่อสนองงานการเมืองทุกสมัยจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในโลกนานมากแล้ว

แต่ “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ” นักประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีทางการของไทยต่างเชื่อว่าเป็นวิชาการบริสุทธิ์ “ไม่การเมือง”

ซึ่งยากปฏิเสธ เพราะหลักฐานมหาศาลว่าประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีของไทยเต็มไปด้วยการเมือง มีในงานวิจัยสำคัญคือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก พ.ศ.2561 ของ ชาตรี ประกิตนนทการ (อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เรื่อง “การประกอบสร้างศิลปะไทยฉบับทางการ : ประวัติศาสตร์ศิลปะกับการก่อร่างสร้างชาติ พ.ศ.2408-2525” ซึ่งมีจำนวนมากผมไม่เคยพบมาก่อน เมื่อพบแล้วตาสว่าง

อย่างเรื่อง ชาตินิยมไทยผลักดันให้มีศิลปะไทยสร้างโดยชนชาติไทยเชื้อชาติไทย เฟื่องฟูขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นับแต่นั้นความมหัศจรรย์ก็บังเกิด ได้แก่ ความเป็นไทยที่มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก จึงมีศิลปะไทยยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่กว่าใครในโลก ฯลฯ เป็นมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน (ต้นตอแนวคิด เชื้อชาติ ในประวัติศาสตร์ศิลปะไทย มาจากฝรั่งยุคคลั่งเชื้อชาติออกล่าอาณานิคม) จะยกบางตอน (โดยจัดย่อหน้าใหม่เพื่ออ่านง่าย) มาแบ่งปันไว้อีกดังนี้

Advertisement

“เชื้อชาติ” ในประวัติศาสตร์ศิลปะไทย

“งานอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง’เชื้อชาติ’ ในฐานะที่เป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเกิดขึ้นของรูปแบบทางศิลปะคือ Sculpture in Siam ของ อัลเฟรด ซัลโมนี (Alfred Salmony) ตีพิมพ์ พ.ศ.2468

โดยซัลโมนีเชื่อว่างานศิลปะใดๆ ไม่สามารถที่จะปกปิดร่องรอย ‘เชื้อชาติ’ ของผู้สร้างได้ และดังนั้นการจำแนกหมวดหมู่ทางศิลปะจึงควรพิจารณาบนฐานคิดเรื่องเชื้อชาติ รวมไปถึงอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรต่างๆ

Advertisement

ในงานของซัลโมนี เราจะพบการใช้คำศัพท์ที่แสดงแนวคิดเชื้อชาตินิยมประเภท ‘เลือดและดิน’ (blood and soil) และเชื้อชาติไทย เขมร มอญ อินเดีย มาเลย์ ฯลฯ ตลอดเล่ม

การใช้คำแบบนี้แม้จะพบในงานเขียนร่วมสมัยชิ้นอื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะในงานเขียน ‘สกุลดำรง-เซเดส์’ แต่นัยยะที่ต้องการสื่อสารต่างกัน —-”

“แต่สำหรับซัลโมนี การใช้คำเหล่านี้จะให้ภาพของการเน้นเอกลักษณ์ของคนแต่ละเชื้อชาติที่แสดงออกผ่าน ความแตกต่าง ทางรูปแบบศิลปะ มีการเล่าพัฒนาการของรูปแบบศิลปะของชนชาติไทยในลักษณะที่มียุคแรกเริ่มที่ยังไม่มีความเป็นตัวของตัวเองและเต็มไปด้วยอิทธิพลทางศิลปะจากภายนอกของชนชาติอื่น เช่น อินเดีย และเขมร จนเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 จึงได้เกิดศิลปะรูปแบบไทยขึ้นเป็นครั้งแรกที่ สวรรคโลก จนพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบประจำชาติที่ พิษณุโลก และ สุโขทัย—-”

“แม้แนวคิด ‘เชื้อชาตินิยม’ จะเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว แต่การยกระดับขึ้นจนกลายเป็นกระแสหลัก และถูกดึงเข้าไปสู่การเป็นลักษณะสำคัญของงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีไทย จะเกิดขึ้นหลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475”

คัดค้านแล้ว แต่ไม่สำเร็จ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งต่อ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ ที่ทำให้รู้ชัดมากขึ้นว่าประวัติศาสตร์ไทยถูกเขียนโดยคนกลุ่มน้อยที่กีดกันคนส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์

ขณะผมเป็นนักเรียนโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ราว 50 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.2510 พอจะจับเค้าเดาความได้ว่ามีนักค้นคว้าวิชาการกลุ่มหนึ่งสมัยนั้น คัดค้านการใช้ศิลปกรรมโบราณระบุเชื้อชาติ และชี้ขาดประวัติศาสตร์ไทย เช่น ศิลปะแบบทวารวดีเป็นมอญ, แบบเชียงแสนเป็นลาว, แบบลพบุรีเป็นขอม, แบบสุโขทัยเป็นไทย ฯลฯ

แต่คัดค้านไม่สำเร็จ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยจึงพิกลพิการอย่างที่มีทุกวันนี้ แม้ทำใหม่ก็ยังรักษาไม่หาย (ดูจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ของ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2558) เพราะนักค้นคว้านักวิชาการของทางการครั้งนั้นเชื่อมั่นการเมืองชาตินิยมมีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด แม้ทุกวันนี้ก็ยังไม่หน่ายเชื้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image