‘อัศวิน’ ขอบคุณ ‘ลม’ ช่วยปัดเป่า ‘ฝุ่นพิษ’ คาด 13-15 ก.พ.นี้ แนวโน้ม PM2.5 สูงอีก

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาล (รพ.) กลาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงสถานการณ์ฝุ่นละอองกับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บุคลากรของกรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองได้อย่างเข้าใจมากขึ้น โดยมี ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการวิจัยและพัฒนาการป้องกันและการจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมบรรยายเรื่อง “รู้เท่าทัน พีเอ็ม 2.5” และ พญ.ชุลีกร โวอุดร แพทย์ชำนาญการ รพ.สิรินธร บรรยายเรื่อง “การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในสถานการณ์ฝุ่นละออง” ให้แก่ผู้บริหาร กทม. บุคลากรกทม.ที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 500 คน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนและจริงจัง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมออกมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาฝุ่น PM 2.5 อาทิ การระดมรถฉีดน้ำและอุปกรณ์ทำความสะอาดพื้นถนนทั่วกรุงเทพฯ การประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง ประสานภาคเอกชน ห้างหุ่นส่วน และผู้ประกอบการในการติดตั้งสปริงเกอร์ตามอาคารและฉีดน้ำ รวมถึงประสานโรงเรียนการบินกรุงเทพนำเครื่องบินเล็กร่วมปฏิบัติภารกิจขึ้นฉีดพ่นละอองน้ำ (สเปรย์) ในอากาศบริเวณพื้นที่วิกฤตค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมอุตุนิยมวิทยา ยังแจ้งว่าระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์นี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากอากาศปิด ซึ่งกทม.จะประสานให้โรงเรียนการบินกรุงเทพปฏิบัติภารกิจอีกครั้งในวันดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางของนักวิชาการที่มีข้อเสนอแนะให้ กทม.ควรดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดที่ประสบวิกฤตจนกว่าสถานการณ์จะบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการมาตรการระยะสั้นนั้น กทม.สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ โดยปัจจุบันค่าฝุ่นละอองลดลงและมีค่าฝุ่นละอองต่ำกว่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่แล้ว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักการแพทย์ กทม.รายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นในโรงพยาบาลสังกัด กทม. พบสถานการณ์ฝุ่นละอองมักจะรุนแรง ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม-มกราคมของทุกปี โดยเฉพาะปี 2559-2561 มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งพบมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 70,000 ราย และปี 2562 มีจำนวนผู้ป่วยทะลุถึง 200,000 ราย ดังนั้น สำนักการแพทย์ กทม. จึงเห็นควรจัดประชุมชี้แจงสถานการณ์ฝุ่นละอองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ความเข้าใจทางวิชาการด้านอนามัยและสาธารณสุข โดยจะนำแนวทางและข้อสรุปในที่ประชุมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกำหนดเป็นมาตรการระยะกลางและยาว พร้อมจะนำเสนอให้ปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันเฉพาะทวีปเอเชียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7 ล้านคนต่อปี

Advertisement

“ผมเชื่อว่าธรรมชาติเข้าข้างผม เพราะตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีลมช่วยปัดเป่าฝุ่นพิษในพื้นที่ออกไป” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงข้อเสนอของนักวิชาการที่ให้ กทม.เสนองบประมาณติดตั้งเครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่เช่นเดียวกับประเทศจีน ว่า ประเด็นดังกล่าวจะนำไปเสนอต่อ ครม.ด้วย แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูงมาก ประกอบกับระยะเวลาติดตั้ง โดย กทม.เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาวอาจมีแนวทางอื่นด้วย ก็จะร่วมถกกับนักวิชาการและทุกภาคส่วนหาแนวทางอื่นนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างถาวรและยั่งยืน

ด้าน ศ.ศิวัช กล่าวว่า สำหรับแหล่งเกิด PM 2.5 หรือ มลพิษทางอากาศนั้น ตามที่ทราบกันดี คือมาจากไอเสียจากยานพาหนะ กิจการโรงงาน การปิ้งย่าง และการเผาที่โล่งแจ้ง นอกจากมลพิษในพื้นที่แล้ว ยังมีมลพิษจากประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน หลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด(Clean Air) รวมถึงประเทศไทย ซึ่งบางประเทศมีกฎหมายนี้แล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยประเทศไทยและประเทศอื่นในอาเซียนซึ่งพื้นที่เชื่อมต่อกัน จึงน่าจะดำเนินการด้วย ทั้งนี้แม้ประเทศไทย จะมีดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) แต่ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ ส่วนใหญ่มาจากแหล่งกำเนิดที่ว่ามา ทั้งหมด เห็นว่าในอนาคตไทยจะต้องเฝ้าระวังฝุ่นที่มีขนาดเล็กลงจากเดิมอีก ใกล้เคียงกับสถานะที่จะเป็นแก๊ส เช่น PM0.1 ซึ่งขนาดจะเล็กกว่าPM2.5 สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นอีก จึงต้องหาแนวทางป้องกันในอนาคต โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ตนคิดว่าควรมีการสร้างที่พัก (shelter) ที่มีเครื่องฟอกอากาศในช่วงที่เกิดมลพิษ ในโรงเรียนเพื่อเป็นจุดปลอดภัยที่ให้เด็กๆ ได้พักและหลีกเลี่ยงอากาศเป็นพิษหรือมลพิษชั่วคราว และต้องคำนึงผลกระทบจากปัญหาที่จะเกิดกับสุขภาพให้มากขึ้นมากกว่านี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image