เครียด‘การเมือง’ : โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

หลายคนคิดว่า การเมืองคือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐสภา พรรคการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงคำว่า “การเมือง” มีคำนิยามที่หลากหลายและแตกต่างกัน
มีทั้งความหมายทางวิชาการ หรือการเหน็บแนม หรือการเปรียบเทียบ เช่น

การเมืองคือ การกำหนดกติกาสังคม และการบริหารประเทศ

การเมืองคือ การต่อสู้เพื่อแสวงหาอำนาจ

การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์

Advertisement

การเมืองยังเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง ฯลฯ

ซึ่งช่วงนี้ การเมืองไทยกำลังคึกคัก เพราะจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้

พรรคการเมืองและนักการเมือง ต่างโชว์นโยบายที่คิดว่า จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคตัวเอง หรือเลือกนักการเมืองคนไหน

Advertisement

ทั้งยังกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง

การหาเสียงก็มีทั้งเท็จและจริง มีการป้ายสี ดิสเครดิต เหน็บแนม และเย้ยหยันคู่ต่อสู้

ยิ่งในยุคสังคมออนไลน์ ข่าวสารจะรวดเร็ว

คนที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองจึงต้องระวัง พยายามรู้ให้เท่าทัน

ต้องไม่ยินดียินร้าย และอย่าเป็นเดือดเป็นแค้น หากพรรคที่ชื่นชอบ หรือผู้สมัครที่รักถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกกลั่นแกล้ง

อย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุว่า อะไรจะเกิดขึ้น เพราะการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ซึ่งการเกาะติดข่าวสารทางการเมือง อาจจะทำให้หลายคนเกิดความเครียดได้

ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า หากติดตามข่าวสารมากจนเกินไป อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการทางกายได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขนขา ชาตามร่างกาย หายใจไม่อิ่ม อึดอัดใน ช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้ว ตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้

ส่วนอาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการวิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว

นพ.เกียรติภูมิจึงมีข้อแนะนำให้คนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองให้ห่างไกลความเครียด โดยให้ใช้หลัก 5 ข้อ คือ

1.แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี โดยการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะจะทำให้เครียดมากขึ้น

2.ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ หันเหความสนใจจากข่าวสารไปเรื่องอื่น ละเว้นการรับรู้ข่าวสารการเมืองบ้าง โดยหันไปทำหน้าที่ของตนเอง เรียนหนังสือ การทำงาน และการให้เวลากับครอบครัว

3.เคารพความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ โดยไม่ดูข่าวหรือรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว จะทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง ควรเปิดกว้างและรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่าง

4.การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งการพักผ่อนจะทำให้ความเครียดลดลง

5.การผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ฝึกโยคะ การทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจคลายเครียด การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นต้น

ทั้งนี้ หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความเครียดรุนแรง สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม

ใครที่รู้สึกเครียดและมีอาการดังกล่าว ลองปฏิบัติตามดู

ทรงพร ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image