เดินไปในเงาฝัน : อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ชื่อของหนังสือ “อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ” ที่มี “แน่งน้อย ปัญจพรรค์” เป็นผู้เขียนอาจยาวไปสักนิดสำหรับใครบางคน แต่สำหรับ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” เขากลับชอบชื่อนี้เป็นอย่างมาก
เพราะชื่อนี้เป็นประโยคสำคัญจากโคลงนิราศนรินทร์ที่ “อาจินต์” บอกว่าผมมักใช้คำนี้เสมอ หากต้องหยุดเขียนหนังสือด้วยความเศร้า

ดุจความอาลัยต่อคนรักที่จากกัน

เพราะการเขียนคือ “ความรัก” ที่เขียนมากมายเท่าไรก็ไม่หมด เปรียบเสมือนความรักการเขียนคือแผ่นฟ้าที่เขียนเท่าไรก็ไม่มีวันสิ้นสุด

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “คนรัก” ในอีกความหมายหนึ่งคือ “คู่ชีวิต” ของ “อาจินต์” ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ “แน่งน้อย” จึงเขียนหนังสือเล่มนี้แทนความรัก และความห่วงใยตลอดช่วงของการมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน

Advertisement

แม้ตอนนี้จะเหลือ “แน่งน้อย” เพียงลำพังก็ตาม

แต่กระนั้น เมื่อเธอจะต้องทำหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2534 เพื่อแจกให้แก่เหล่าบรรดาญาติน้ำหมึก และแฟนานุแฟนหนังสือทั่วฟ้าเมืองไทย ณ ฌาปนสถาน วัดตรีทศเทพ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2562 ผ่านมา

“แน่งน้อย” กลับเขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่ม โดยเพิ่มเติมเนื้อหาช่วง 14 ปีสุดท้ายของชีวิตคือระหว่างปี 2548-2561 ที่ “อาจินต์” กำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัย

Advertisement

เพราะก่อนหน้าเธอเคยเขียนอัตชีวประวัติของ “อาจินต์” มาแล้วครั้งหนึ่ง จากการเล่าผ่านความทรงจำ ด้วยการบันทึกเทปตลอดระยะเวลา 1 ปีคือประมาณปลายปี 2537 จนถึงปลายปี 2538

รวมทั้งหมด 35 ม้วน

เพื่อถอดเทป และเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือในปี 2548

แต่สำหรับ “อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ” ผู้เขียนหรือ “แน่งน้อย” กลับเพิ่มเติมเนื้อหาช่วงชีวิตสุดท้ายของ “อาจินต์” ที่จะต้องต่อสู้กับความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยประการทั้งปวง

ทั้งนั้นเพื่อให้หนังสือเล่มนี้เสร็จทันก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ และเสร็จทันพอที่จะให้แฟนานุแฟนของ “อาจินต์” ซื้อหาอ่านก่อนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-7 เมษายน 2562

เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำงานเขียนหนังสือในคำนำผู้เขียนครั้งล่าสุดว่า…ความยากลำบากคือต้องเขียนอย่างรีบเร่งในช่วงเวลาที่ต้องทำอย่างอื่น เพื่อวาระเดียวกันนี้พร้อมกันหลายเรื่อง

“อีกทั้งช่วงเวลา 14 ปีผ่านมาเป็นระยะที่ชีวิตของคนต้นเรื่องค่อยๆ เสื่อมถอยลง ไม่มีกิจกรรมการงานสังคม หรือแม้แต่ความคิดที่น่าสนุก น่าสนใจใดๆ แล้ว เนื่องจากทั้งร่างกาย และเส้นเลือดในสมองเริ่มเสื่อม เป็นชีวิตที่ราบเรียบอย่างยิ่ง แน่นิ่งอย่างมาก”

“ยิ่งช่วงท้ายๆ ยิ่งแทบเรียกได้ว่านิ่งสนิท ไม่พูดไม่จา กระทั่งตาก็ยังหลับอยู่เสมอ ทีวีก็ไม่ดูบอกว่าดูไม่รู้เรื่อง วิทยุซึ่งติดมือ ติดหูอยู่เป็นประจำก็ไม่อยากฟัง หนังสือนั้นไม่อ่านมาหลายปีแล้ว ตาข้างหนึ่งเสื่อมลงจนไม่เห็นอะไรแล้ว อีกข้างก็ใช้ได้ไม่เต็มร้อย”

“ประกอบกับภาวะอารมณ์ของคนเขียนเองก็ไม่พร้อมที่จะเขียน เขียนไปหยุดไป บางครั้งเขียนต่อไม่ได้ไปวันๆ แต่ก็ต้องพยายามทำให้จบ มันอาจดูตกๆ หล่นๆ ติดๆ ขัดๆ ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ความคิด คำพูดดีๆ ที่ตั้งใจไว้บางอย่างก็ถูกข้ามไป ต้องขออภัยอย่างมาก”

ความเบื้องต้นเป็นความในใจของ “แน่งน้อย” ที่กล่าวถึงการทำงานเขียนหนังสือเล่มนี้

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ภายในเล่มจะเริ่มต้นบอกเล่าถึงเรื่องราวของ “อาจินต์” ตั้งแต่เรื่องพ่อแม่พี่น้อง, นครปฐม 2476-2480, อำนวยศิลป์ปากคลองตลาด 2480-2484, สงคราม 2485-2487, โลกนอกมหาวิทยาลัย 2488-2492, เหมืองแร่ปลายปี 2492, เหมืองแร่ 2493-2496

ไทยทีวีช่อง 4, จัดตั้งละครคณะสุภาพบุรุษ, แต่งเพลงเป็นงานอดิเรก, ฟ้าเมืองไทย, นักเขียนอิสระ, วงการหนังสือ, 14 ปีสุดท้าย 2548-2561, 2556-2560 อาจินต์ระยะสุดท้าย และ 2561 ท้ายสุดของระยะสุดท้าย

โดยทุกบททุกตอนล้วนทำให้ผู้อ่านเห็นภาพการก่อร่างสร้างตัวของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ อย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้น ใครที่สนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถหาซื้อได้ที่ร้านลายแทง บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ บูธสำนักพิมพ์มติชน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ซึ่งไม่เพียงผู้อ่านจะได้หนังสือ 1 เล่ม หากยังได้กระเป๋าซิป, เข็มกลัด, สมุดโน้ต 1 เล่ม และที่คั่นหนังสือ 2 ชิ้น ที่มีรูปวาดสีน้ำ และรูปวาดลายเส้นฝีมือของ “ช่วง มูลพินิจ” และศิลปินท่านอื่นๆ พร้อมกันด้วย

และถ้าใครมีหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ “นายอาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2534 แล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่จะหาหนังสือเล่มนี้มาประกอบการอ่านด้วย

จะยิ่งทำให้เข้าถึงอรรถรสชีวิตของ “สุภาพบุรุษเหมืองแร่” นาม “อาจินต์ ปัญจพรรค์” อย่างเข้าใจ

แต่ต้องรีบหน่อยนะครับ เพราะทราบข่าวว่าพิมพ์ออกมาน้อยมากๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image