มงคลเมือง 8 : โดย ทวี ผลสมภพ

ความเป็นมงคลเมืองของจังหวัดลพบุรี อันเนื่องมาจากพระพุทธองค์เสด็จมาประกาศพุทธศาสนา และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ยอดเขาวงพระจันทร์ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ตามที่กล่าวมาแล้ว น่าจะเป็นการเพียงพอ และน่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ ควรจะมีเหตุผลทางสภาพแวดล้อมบางอย่างเข้ามาอ้างด้วย เช่น ทำไมแม่น้ำโขงในปัจจุบัน สมัยพุทธกาลจึงชื่อแม่น้ำนิมมะทา เมืองลพบุรีสมัยโบราณชื่อเมืองกัมโพช ต่อมาทำไมจึงชื่อเมืองละโว้ และทำไมจึงเป็นเมืองที่มีฉากปรากฏเรื่องรามเกียรติ์ได้อย่างไร ซึ่งในตอนที่ 8 นี้ จะได้อธิบายเหตุผลดังกล่าวให้เห็นเป็นประจักษ์

แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว ขอพูดถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า ตามที่ได้เกริ่นไว้ ในมงคลเมือง 7 ก่อน อาจจะมีบางท่านคิดว่า ทำไมช่างอาจหาญไปวิเคราะห์การเข้ามาของพระพุทธศาสนา ในประเทศพม่า แทนคนในประเทศเขาเอง ขอตอบว่าเพราะผู้เขียนได้ปฏิเสธเรื่องที่พม่าอ้างว่าพระโสณะและพระอุตรเถระ ไปประกาศพระศาสนาที่เมืองสุธรรมวดี โดยอ้างพระเจ้าราชาธิราชกษัตริย์มอญ ได้จารึกเรื่องดังกล่าวไว้ในแผ่นศิลาที่ชื่อ จารึกวัดกัลยาณี อันเป็นเรื่องที่ผิดไปจากคัมภีร์
อรรถกถาวินัยชื่อ คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ซึ่งในคัมภีร์ดังกล่าวระบุไว้ชัดว่า พระเถระทั้งสองท่านไปเผยแผ่ที่สุวรรณภูมิ สถานที่เป็นเกาะ

ผู้เขียนเชื่อตามที่ระบุไว้ในอรรถกถาชื่อสมันตปาสาทิกา

ดังนั้น จึงต้องหาหลักฐานว่า เมื่อพระโสณะและพระอุตรเถระไม่ได้มาประกาศพระพุทธศาสนาที่พม่าแล้ว ใครเป็นผู้มาประกาศพระพุทธศาสนาที่พม่า นี่คือเหตุผลที่ต้องหาหลักฐานมาอ้างเพื่อยืนยันความเห็นของผู้เขียน

Advertisement

ขั้นต้นขอให้เปิดพระไตรปิฎกแปลไทย เล่ม 4 พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 3 หน้า 8 ในที่นั้นได้ระบุไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะประทับอยู่ที่ใต้ร่มต้นราชายตนะ พ่อค้า 2 คน ชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เดินทางมาจากอุกกลชนบท ได้นำข้าวสัตตุผง และข้าวสัตตผง น้อมถวายพระผู้มีพระภาค ส่วนในอรรถกถาพระวินัยชื่อ สมันตปาสาทิกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนพ่อค้าทั้งสองกราบทูลลา เขาได้ทูลขอสิ่งอันควรสักการบูชาจากพระองค์ พระองค์จึงประทาน พระเกสาธาตุ 8 องค์ ให้พ่อค้าทั้งสองไป – ข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีจุดที่จะเป็นหลักฐานให้ค้นหาอยู่ 2 จุดคือ คือ อุกกลชนบท และพระเกสาธาตุ ทั้ง 8 องค์

ขั้นแรกขอพูดถึง พระเกสาธาตุก่อน ถามว่าขณะนี้พระเกสาธาตุ อยู่ที่ไหน?

ตอบว่า ขณะนี้พระเกสาธาตุ อยู่ที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า เมืองหงสาวดีในอดีตเป็นเมืองของชาวมอญ เมือพม่าชนะมอญ พม่าก็ยอมรับว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ เป็นชาวมอญ

Advertisement

และก็ยอมรับอีกว่าเจดีย์ชเวดากอง เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกสาธาตุที่ ตปุสสะ ภัลลิกะ ได้รับมาจากพระพุทธเจ้า

ขั้นต่อไปขอให้จำคำว่าอุกกลชนบท เพราะคำคำนี้จะเป็นหลักฐานชี้ไปยังเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองนี้ ซึ่งจะยกหลักฐานให้เห็นในช่วงหน้า ผู้อ่านคงจำพ่อค้าชาวมอญสองคนที่ชื่อตปุสสะ และภัลลิกะได้ ว่าพ่อค้าสองคนนี้เป็นชาวอุกกลชนบท คำว่าอุกกลชนบทในสมัยนั้นเป็นชื่อของ แคว้น อย่างเช่นคำว่า โกศลชนบท คือ แคว้นโกศล
ที่มีเมืองหลวงชื่อเมืองสาวัตถี แคว้นมคธชนบท มีเมืองหลวงชื่อราชคฤห์ หรือปัญจะคีรีนคร

สำหรับอุกกลชนบทที่กำลังกล่าวถึงนี้ มีเมืองหลวงชื่ออุกกนคร จากตรงนี้ไป ขอให้ไปอ่าน เรื่อง จูฬสุภัททา บุตรสาวของท่านเศรษฐีชื่อ อนาถบิณฑิกะ ในพระไตรปิฎกชื่อ พระสูตรและอรรถกถา เล่ม 43 หน้า 182 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

– อุกกเศรษฐี ชาวอุกกนคร ไปขอธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อจูฬสุภัททา เมื่อนางไปอยู่ในครอบครัวของสามี ณ เมืองอุกกนคร เมื่อครอบครัวมีงานมงคล ได้เชิญพระชีเปลือยมาในบ้าน พ่อผัวสั่งให้นางมาไหว้พระชีเปลือย เพราะเหตุที่นางมีความละอายที่จะไปไหว้พระไม่นุ่งผ้า จึงไม่ยอมไปไหว้พระชีเปลือย แม่ผัวโกรธมาก จึงมาต่อว่าเธอเรื่องไม่ไปไหว้สมณะของครอบครัว

เธอคงตอบไปว่า ไหว้ไม่ลงหรอกเพราะพระไม่นุ่งผ้า แม่ผัวจึงพูดย้อนไปว่า พระของเธอดีอย่างไรรึ ! นางได้โอกาสที่จะพรรณนาความดีของพระของตน และได้โอกาสที่จะให้พ่อผัวและแม่ผัวศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงพรรณนาจริยวัตรของพระอรหันต์ เป็นต้นว่า ขณะที่ปุถุชน เมื่อได้ลาภ ใจก็เห่อเหิมด้วยลาภ แต่พอเสื่อมลาภ ใจก็หดหู่ เพราะการเสื่อมลาภ แต่พระอรหันต์ของฉัน ท่านวางเฉยต่อการได้ลาภและเสื่อมลาภนั้น พ่อผัวและแม่ผัวฟังคุณสมบัติของพระที่ลูกสะใภ้แล้ว คงเกิดความเลื่อมใส จึงถามไปว่าเธอสามารถเชิญสมณะของเธอ มาฉันที่บ้านนี้ได้ไหม เธอตอบว่าได้ นางคงต้องการให้ครอบครัวสามี มีความเลื่อมใสมากขึ้น และนางรู้ฤทธิ์ของพระผู้มีพระภาค

ในคืนวันนั้นนางจึงขึ้นไปชั้นบนของปราสาท ผินหน้าไปทางพระเชตวัน บูชาพระผู้มีพระภาค แล้วทูลเชิญให้พระผู้มีพระภาคเสด็จมาเสวย ที่บ้านของสามีที่อุกกนคร ในวันพรุ่งนี้ คราวนั้นท้าวสักเทวราชพอทราบว่าพระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปเสวยที่อุกกนคร ซึ่งมีระยะทางไกลถึง 120 โยชน์ คิดเป็นกิโลเมตร ได้ 1,920 กิโลเมตร จึงให้วิศวกรรมเทพบุตร เนรมิตยานอากาศ ทรงมุข 500 หลัง นำพระผู้มีพระภาคไปสู่อุกกนคร พ่อผัวแม่ผัวของนางจูฬสุภัททาพร้อมชาวอุกกนครจ้องมองการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาค อย่างตื่นตะลึง เพราะไม่เคยเห็นปาฏิหาริย์ของพระชีเปลือยที่ตนนับถืออยู่ จึงมีความศรัทธาเลื่อมใส ทำการถวายอาหารด้วยจิตเลื่อมใส และคารวะอย่างที่สุด เมื่อเสวยเสร็จ ก่อนเสด็จกลับ ทรงให้พระอนุรุทธพักอยู่ ณ เมืองนี้ เพื่ออนุเคราะห์ นางจูฬสุภัททาและชาวอุกกนครต่อไป –

ขอวิเคราะห์ความในคัมภีร์อรรถกถาที่พูดมาดังต่อไปนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ตปุสสะและภัลลิกะ ที่มาจากอุกกชนบท ตามที่อ้างมาในคัมภีร์มหาวรรค พระวินัย หน้า 8 นั้น เป็นชาวมอญ หลักฐานคือพม่ายอมรับว่าสองพ่อค้านั้นเป็นมอญ ที่ได้พระเกสาธาตุจากพระพุทธเจ้า แล้วมาบรรจุอยู่ที่ชเวดากอง เมืองหงสาวดีในขณะนี้ และเชื่ออีกว่าอุกกนครเป็นเมืองหลวงของอุกกชนบท ที่ธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถูกส่งตัวไปเป็นสะใภ้ที่เมืองนั้น ตามที่อ้างมาแล้ว ในคัมภีร์พระสูตรและอรรถกถา เล่ม 43 หน้า 182

และนั่นคือเป็นสะพานให้พระพุทธศาสนาเดินทางเข้ามา เพราะธิดาของอนาถบิณฑิกะ นับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งในช่วงดังกล่าวมานั้น พม่ายังไม่เข้ามายึดเมืองมอญ

เป็นเรื่องที่น่าแปลก ก็คือ ในการมาประกาศพระพุทธศาสนา ที่เมืองอุกกนครในอดีต แต่ปัจจุบัน คือพม่า โดยทรงให้พระอนุรุทธเป็นผู้ประกาศพระศาสนา ส่วนการมาประกาศพระพุทธศาสนาที่เขาสัจพันธ์ เมืองกัมโพช ในอดีต แต่ปัจจุบบันคือ เขาวงพระจันทร์ ลพบุรี โดยทรงให้พระสัจพันธ์ ประกาศพระศาสนา ทั้งสองสถานที่ได้เสด็จมาด้วยยานอากาศทั้งสองแห่ง แต่มีรายการระหว่างทางต่างกัน กล่าวคือ ขณะที่เสด็จมาโปรดพระฤษีสัจพันธ์ ที่เขาวงพระจันทร์ และที่เสด็จไปโปรดที่อาณาจักรจาม ทรงอธิษฐานไม่ให้ผู้ใดได้เห็นยานอากาศเหล่านั้น แต่ในขณะเสด็จมาโปรด นางจูฬสุภัททาและชาวเมืองอุกกนคร ทรงเปิดเผยให้ได้เห็นทั้งหมด

ทั้งนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงเปิดเผยที่นี่

คำตอบก็คงเป็นเพราะถิ่นนี้ ประชาชนนับถือสมณะชีเปลือย ดังนั้น เพื่อจะให้ชาวเมืองต่างศาสนานับถือ ก็ต้องแสดงปาฏิหาริย์ให้เขาเกิดศรัทธา ทั้งนี้เพื่อนำเขาเหล่านั้นให้เข้ามาสู่หนทางที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ทั้งอุกกนคร และเขาสัจพันธ์ เมืองกัมโพช เป็นเมืองมอญทั้งสองจุด จึงขอสรุปในเรื่องนี้ว่าพระพุทธศาสนาในพม่า ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม พระพุทธเจ้าทรงนำมาด้วยพระองค์เอง

จากนี้ไป เรามากล่าวถึงเรื่องที่ว่า ทำไมแม่น้ำโขงจึงชื่อแม่น้ำนิมมะทากันต่อไป คำว่าแม่น้ำ นิมมะทา คนบางกลุ่มชินหู เพราะการลอยกระทง ในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นการบูชาลอยพระพุทธบาท ที่แม่น้ำนี้ ตามตำนานการเล่าเรื่องนางนพมาศ ในสมัยสุโขทัย แล้วมาแต่งเป็นหนังสือ ในสมัยรัชกาลที่สาม เพราะพระองค์กลัวจะสูญหาย กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คุ้นชินกับศัพท์นี้ คือกลุ่มผู้ที่เรียนภาษาบาลี เพราะคำคำนี้เป็นภาษาบาลี ผู้เขียนเองแต่เดิมก็คิดว่าแม่น้ำนี้อยู่อินเดีย เพราะปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก และคัมภีร์อรรถกถา อันแป็นฉากหรือเป็นภูมิประเทศที่ในพระคัมภีร์ระบุถึง

แต่ในเมื่อค่อนข้างแน่ชัดว่า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่แม่น้ำนิมมะทา ตามเรื่องในพระคัมภีร์ จึงทำให้สันนิษฐานได้ง่ายว่าแม่น้ำโขงนี่เองเป็นแม่น้ำนิมมะทา อีกทั้งหลักฐานที่พบมีเฉพาะ ในปูณโณวาทสูตร อันเป็นเรื่องพระพุทธองค์เสด็จไป อาณาจักรจาม คือเวียดนามปัจจุบัน

ผู้เขียนขอยืนยันว่า ผู้เขียนได้อ่านทั้งพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก แต่ได้พบคำว่า แม่น้ำนิมมะทา และจำได้ เฉพาะที่จุดนี้จุดเดียว แต่อาจจะมีอีก แต่ผู้เขียนอาจจำไม่ได้ จึงทำใหัผู้เขียนสันนิษฐานว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนิมมะทา หลักฐานที่ผู้เขียนสันนิษฐานเช่นนั้น ก็คือ ในเมื่อแขกจามอพยพมาจากอินเดียมาอยู่บริเวณนี้ เขาจึงนำชื่อแม่น้ำในถิ่นของเขามาตั้งชื่อแม่น้ำนี้ ซึ่งช่วงนั้นอาจจะยังไม่มีชื่อ เพราะแขกจามได้อพยพมาอยู่ในถิ่นนี้ก่อนคนอื่นๆ และต่อมาเมื่อลาวอพยพมาจากจีนกลุ่มแรก ได้มาตั้งถิ่นฐานทางเหนือของแม่น้ำโขงนี้ จึงให้ชื่อแม่น้ำนี้ว่า แม่น้ำ ลานช้าง ตามชื่อของรัฐลานช้าง

และต่อมาเมื่อทั้งขอม และเวียดนามขับไล่ แขกจามออกไปได้แล้ว ขอมซึ่งมีอำนาจครอบครองจุดนี้ จึงคงเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำขอม หลายร้อยปีต่อมาจึงเพี้ยนไปเป็น แม่น้ำของเช่น อำเภอเชียงของ เป็นต้น หลายร้อยปีต่อมา จึงได้เพี้ยนไปเป็นแม่น้ำโขง ดังในปัจจุบัน อีกทั้งในตำนานพระอุรังคธาตุก็แปลคำว่าแม่น้ำโขงนี้เป็นภาษาบาลีว่า ขลฺลนที อ่านว่า ขัลละนะที ขอนักภาษาศาสตร์ช่วยพิจารณา นั่นคือแสดงว่าได้เปลี่ยนคำว่านิมมะทา มาเป็น ขลฺลนที ซึ่งใกล้ต่อการใช้ศัพท์ว่าขอม คือใกล้อักษร ข อันเป็นชื่อของชนชาติที่มีอำนาจในช่วงนั้น

โดยการสันนิษฐานของผู้เขียน จึงขอสรุปว่า แขกจามนั้นเป็นชาวอินเดีย เมื่ออพยพมาอยู่ ณ ถิ่นนี้ จึงได้นำชื่อแม่น้ำในถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของตนมาตั้งเป็นชื่อแม่น้ำ ในถิ่นที่ตนอพยพมาอยู่ใหม่ ว่าแม่น้ำนิมมะทา ตามประวัติศาสตร์ แขกจามดูเหมือนจะอพยพมาจากอินเดียใต้ ชื่อแม่น้ำนิมมะทา น่าจะเป็นชื่อแม่น้ำในอินเดียใต้ เมื่อขอมได้ทำลายอำนาจของแขกจามได้แล้ว ก็เปลี่ยนชื่อแม่น้ำนิมมะทา เป็นแม่น้ำขอม ตามชื่อชนชาติของตนผู้ครอบครองดินแดน เหมือนรัฐลานช้าง เมื่อมาอยู่ทางเหนือของแม่น้ำนี้ ก็ตั้งชื่อแม่น้ำสายนี้ ว่าแม่น้ำลานช้าง

ฉะนั้น นับจากนั้น เป็นเวลาได้สองพันกว่าปี คำเรียกจากปากของคนก็เพี้ยนไป จากขอม เป็นของ และจากของก็เพี้ยนไปเป็นแม่น้ำโขง ดังที่ชาวเราพบอยู่ในขณะนี้

นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ขอผู้อ่านช่วยพิจารณา

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image