พปชร.จับมือ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม จัดเสวนา แนวทางแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า

พปชร.จับมือ นักวิชาการ  ภาคประชาสังคม จัดเสวนา แนวทางแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า

วันที่ 9 เมษายน พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดเสวนา หาทางออกแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน pm 2.5 ภายหลังการลงพื้นที่ติดตามปัญหาที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายอุตตม กล่าวเปิดการเสวนาว่า พรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ลงสนามหาเสียงเลือกตั้งเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ที่เกิดขึ้นทั้งใน กทม. จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งหากปล่อยไปก็จะเป็นปัญหาในระยะยาว เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคการเมือง ยืนยันจะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่พรรคได้ประกาศไว้อย่างจริงจัง เพราะ มีทีมงานของพรรคที่ศึกษาหาข้อมูล มีประสบการณ์ ดังนั้นจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะในฐานะฝ่ายการเมืองต้องยึดโยงกับประชาชนเสมอ อะไรที่จะเป็นประโยชน์เราก็นำเสนอไปยังภาครัฐ เพราะเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซับซ้อนและต้องดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน พรรคพลังประชารัฐจึงขอเป็นหนึ่งในผู้ที่จะมีส่วนรวบรวมและกระตุ้นความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยไม่รอว่าจะต้องเป็นรัฐบาล

Advertisement

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เป้าหมายระยะสั้นคือทำอย่างไรให้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า ของ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบน เบาบางลงและไม่เกิดขึ้นอีก นำอากาศที่ดีกลับสู่ พี่น้องประชาชน ซึ่งเมื่อวานได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งช่วยดูแลเรื่องไฟป่าและการทำฝนเทียม แต่ค่อนข้างที่จะมีอุปสรรคจากสภาพอากาศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มาแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกันในวันนี้

นายวีระวิทย์ แสงจักร ตัวแทนผู้ประสบภัย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ ต้องอยู่กับฝุ่นควันพิษมานานกว่า 2 เดือน คนในพื้นที่ทุกข์ทรมาน มีโรคภัยตามมา จึงต้องการให้พรรคพลังประชารัฐนำปัญหาตรงนี้ เสนอต่อรัฐบาลให้ลงมาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา โดยเร่งยกระดับความเดือดร้อนของชาวภาคเหนือตอนบนทุกจังหวัด ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัย เพราะไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเหล่านี้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ มีเพียงอาสาสมัครในพื้นที่ 30 องค์กรที่ลงขันกันผลิตเครื่องฟอกอากาศ แจกหน้ากากอนามัย ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นอยากให้เกิดการบูรณาการอย่างถาวร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

Advertisement

นายวีระชัย เจือสันติกุลชัย กลุ่ม Clean Ari For All กล่าวว่า ฝุ่นที่ จ.เชียงใหม่ ร้ายแรงเท่ากับการสูบบุหรี่ 18 มวน ดังนั้นในระยะเร่งด่วนอยากให้ภาครัฐ เอกชน สื่อ ยกระดับการตระหนักรู้ต่อประชาชน ถึงพิษภัยของฝุ่นควันไฟป่า ควบคู่กับมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาว

ด้าน นายรุจิพัฒน์ สุวรรณสัย กลุ่มล่ามช้าง กล่าวว่า ปัญหาต้นเหตุทางภาคเหนือ ไม่ได้มีปัญหาหลักจาอุตสาหกรรมและเผาไหม้รถยนต์ แต่เป็นการเผาไหม้ในพื้นที่ หากดูจากจุดฮอตสปอทกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดในพื้นที่ป่าและไม่ใช่ไฟป่าที่เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ที่มีแรงจูงใจแม้รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี นั่นคือชาวบ้านไม่มีอาชีพ ไม่มีเงิน จึงคิดว่าการเผาเพื่อเก็บของป่าขายเป็นการหารายได้ นอกจากนี้อีก 20 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร อย่างพื้นที่ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีพันธะสัญญาว่า ปลูกเท่าไหร่รับซื้อหมด เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็เผา บ้านเราก็ทำ พม่าก็ทำ ลาวก็ทำ เมื่อลมมา จึงพัดมายังประเทศไทย เมื่อชาวบ้านไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีทางเลือก จึงต้องทำเช่นนั้น ดังนั้นต้องหาแนวทางให้คนที่อยู่รอบๆป่ามีทางเลือก และมีองค์ความรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image