รายงานหน้า2 : ‘บิ๊กตู่’ยกคณะเยือนปักกิ่ง ร่วมขบวน‘วันเบลต์วันโรด’

หมายเหตุกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะนำคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) หรือ วัน เบลต์ วัน โรด เป็นการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีด เชื่อมระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 เป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย เนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 ไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม เพราะไทยต้องการก่อสร้างโครงการเอง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ได้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา โดยหารือร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 เมษายนนี้
เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้สั่งให้เร่งประชุมสรุปสัญญาฉบับที่ 2.3 เป็นพิเศษ แต่เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อผลักดันโครงการไฮสปีดไทยกับจีน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะต้องดูเนื้อหาสัญญาให้รอบคอบ ประเด็นเนื้อหาสัญญาต้องทำการแก้ไขในหลายข้อและต้องดูให้ละเอียดตามข้อกฎหมายของไทย โดยกระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายจะสรุปร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 23 เมษายน และลงนามสัญญากับฝ่ายจีน ในโอกาสที่ผู้นำไทยจะเดินทางและเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562

 

Advertisement

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

การประชุม BRF ครั้งนี้ จีนต้องการจะสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ มากขึ้นและจัดการประชุมที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยมีการเชิญระดับผู้นำสูงสุดประมาณ 38 ประเทศ โดยยังไม่รวมถึงผู้แทนที่ระดับรองลงมา คาดว่าหากรวมทั้งหมดจะมีตัวแทนเข้าร่วมใกล้เคียงกับการประชุมครั้งแรกปี 2560 ที่มีประมาณ 70-80 ประเทศ แต่ผู้นำของไทยไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุม มีเพียงระดับรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม
การที่จีนเชิญไทยและทุกประเทศเข้าร่วมการประชุมเพื่อต้องการเพิ่มพลังการเชื่อมโยงดึงสมาชิก
เข้ามามีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์เบลต์แอนด์โรดให้มากที่สุด และอีกประเด็นคือ จีนพยายามแก้ไขปัญหาที่ถูกโจมตีว่าจีนทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปในประเทศต่างๆ และทำให้ประเทศที่จีนขยายการลงทุนเข้ามีหนี้กับจีน เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น ขณะที่บริษัทจีนเป็นผู้ได้ประโยชน์ โดยประเด็นนี้เป็นเหตุผลที่นาย
มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ประกาศยกเลิกโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์กับสิงคโปร์ มีรายงานว่าบริษัทจีนมีโอกาสจะชนะการประมูลหากโครงการเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้มีกลุ่มต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน ทั้งสหรัฐ ยุโรปตะวันตก รวมทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ดี ล่าสุด จีนประสบความสำเร็จในการดึงอิตาลีเข้ามาเซ็นเอ็มโอยูกับจีน โดยจีนต้องการใช้กลไกในการประชุมครั้งนี้สร้างความเชื่อมโยงให้แนบแน่น และยืนยันว่ายุทธศาสตร์เบลต์ แอนด์ โรด (Belt and Road) เป็นเรื่องที่ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่เพียงจีนที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
เรื่องสำคัญมากของไทยคือไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ สำหรับไทยการเข้าร่วมไม่เฉพาะการเป็นผู้แทนประเทศไทยเท่านั้น แต่ไทยยังไปในฐานะประธานอาเซียน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับจีนตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงอาเซียน (เอ็มแพค 2025) จะมีการเชื่อมโยง การขนส่งและโลจิสติกส์ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงระบบการเงิน เป็นต้น ไทยถือเป็นประตูสู่อาเซียน
ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (ลีดเดอร์ส ราวด์เทเบิล) เป็นการประชุมนักธุรกิจเพื่อจะให้โครงการของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมและเชื่อมโยงกับจีน เพื่อพิสูจน์ว่าจีนให้ความสำคัญกับการได้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับไทยครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมการเพื่อไปประชุม ทั้งโครงการรถไฟไทย-จีน การเชื่อมโยงรถไฟไทย-จีน-สปป.ลาว นโยบายไทยแลนด์4.0 การเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (จีเอ็มเอส) การเชื่อมโยงในกลุ่มข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเม็กซ์) การเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การเชื่อมโยงกับพื้นที่ พื้นที่เกรตเตอร์เบย์ (จีบีเอ) ในระหว่างมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า การเชื่อมโยงโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่าไทยก็มีการเตรียมการเพื่อเข้าร่วมการประชุม ไม่ใช่ว่าไทยจะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ แต่ไทยเปิดกว้างและพร้อมจะเชื่อมโยงกับทุกประเทศเช่นกัน
การประชุมครั้งนี้ จีนต้องการพิสูจน์ว่าโครงการของจีนเชื่อมโยงกับทั้งโลก และเป็นการเชื่อมโยงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน แต่แน่นอนว่าทางด้านการเมืองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนต้องการขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ โดยยุทธศาสตร์เบลต์แอนด์โรดเป็นหนึ่งในองค์ประกอบและยังมีองค์ประกอบอื่นอีก เช่น การเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศอาเซียน เขตการค้าเสรีอาเซียน+1 (จีน) และจีนสนับสนุนเต็มที่ในการผลักดันหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ประกอบด้วยอาเซียน และ 6 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และจีน รวมทั้งจีนเสนอให้มีเขตการค้าเสรีของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ทั้งนี้ จีนอาจจะใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นการปิดปากกลุ่มที่เกิดความรู้สึกว่าจีนกำลังขยายอิทธิพลทางทหารเข้าไปยึดครองในทะเลจีนใต้ โดยเบี่ยงมาให้สนใจทางด้านเศรษฐกิจแทน

๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏

Advertisement

คมนาคมชงเอ็มโอยูเชื่อม‘ไฮสปีด’

กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพของไทย ประชุมร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา เป็นภาระเร่งด่วน เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้มีการนำไปลงนามในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือวัน เบลต์ วัน โรด ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย อีกทั้งการต่อรองร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 ระหว่างประเทศไทยและจีนยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากสัญญามีส่วนต่างราคา 1,000 ล้านบาท และฝ่ายจีนยังไม่ยอมลดราคาให้ ที่ประชุมจึงขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย นำเรื่องไปหารือกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของตนเองก่อน จากนั้นจะนัดประชุมอีกครั้งช่วงเย็นของวันที่ 22 เมษายนนี้
สำหรับเนื้อหากระทรวงจะต้องเสนอร่างบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง 3 ประเทศ คือ จีน ลาว และไทย ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จีนและลาว ยืนยันข้อความในร่างบันทึกความร่วมมือฯแล้ว ตามเป้าหมายจะเสนอ ครม.เห็นชอบในวันที่ 23 เมษายนนี้ เพื่อให้เกิดการลงนามฯ 3 ประเทศในช่วงการประชุม BRF ช่วงวันที่ 26-27 เมษายนนี้

๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏ ๏

วาระทัวร์จีน-จับเข่า‘สี จิ้นผิง’

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม BRF ครั้งที่ 2 คือ Belt and Road Cooperation: Shaping a Brighter Shared Future จะมีผู้นำจาก 38 ประเทศเข้าร่วม โดยจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders-Roundtable) มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทุกมิติ รวมทั้งการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ นายกฯจะผลักดัน คือ 1.เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผ่าน MPAC 2025 และ ACMECS Master Plan ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับ BRI บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความโปร่งใส การเปิดกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วนและการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ 2.ขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งของอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน 3.ผลักดันให้จีนใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ ACMECS ในการเป็นตัวเชื่อมจีนและอาเซียน และส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area – GBA) และกรอบความร่วมมือพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan – Pearl River Delta – PPRD) กับ EEC
นอกจากนี้ มีกำหนดพบปะหารือกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรี และนายหาน เจิ้ง รองนายกฯ เพื่อหารือถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ การสานต่อและผลักดันความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือจีน-ญี่ปุ่น ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ย้ำถึงความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในภูมิภาค และการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image