อสส.ยกทีมประชุมต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ยูเอ็น กรุงเวียนนา

อสส.พร้อมคณะ ร่วมประชุม คณะCCPCJ ต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ ยูเอ็น กรุงเวียนนา ย้ำ ไทยเอาจริงปราบอาชญกรรมฯเร่งรัดคดีพัวพันข้ามชาติ ค้ามนุษย์ ฉ้อโกงรายใหญ่ ยอมรับยังติดปัญหาด้านกฎหมายไม่พร้อมลงสัตยาบัน ต่อต้านขนย้ายถิ่นฐาน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20-24 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด นำคณะอัยการ อาทิ เช่น นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการต่างประเทศ ,นาย โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ผู้อำนวยการ โครงการพระดำริฯ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice: CCPCJ) สมัยที่ 28 ที่สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

โดยสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา ร่วม จัดแสดงนิทรรศการ เผยแพร่งานในโครงการ เช่น มีสติ อดทนอดกลั้น และการไม่เลือกปฎิบัติ ช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อการประชุมในปีนี้ ตลอดจนเผยแพร่งานตามแนวพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ให้ผู้แทนแต่ละประเทศได้ทราบ ว่ามีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งพระองค์ท่านเคยเป็นประธานกรรมาธิการการประชุม CCPCJ มาก่อน

โดยนายเข็มชัย อัยการสูงสุด ขึ้นกล่าวในที่ประชุม เน้นย้ำถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญาการมีส่วนร่วมและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ(อนุสัญญา TOC)และพิธีสารที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ามนุษย์ การขนย้ายคน โดยทางบก ทางน้ำ ทางอากาศโดยได้ชี้แจงรายละเอียดว่าในแต่ละพิธีสาร สำนักงานอัยการไทย ทำอะไรไปบ้างแล้วมีความก้าวหน้าอย่างไร เช่น ในเรื่องของการป้องกันและปราบปราม การมีส่วนร่วมของอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยได้มีการลงโทษดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ฉ้อโกงรายใหญ่ เช่นคดียูฟัน ซึ่งศาลลงโทษโดยตัดสินจำคุกจำเลยสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดได้มีการยึดทรัพย์หลายร้อยล้านบาทในส่วนของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประเทศไทยใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งรัดคดีใช้ระยะเวลาในการพิจารณาดำเนินคดีน้อยลง โดยอัยการใช้เวลาประมาณ 21 วันหลังจากที่รับสำนวนมา เพื่อที่จะนำคดีมาสู่ศาล และคดีค้ามนุษย์ก็ลดน้อยลงแต่ว่าการดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในการดำเนินการเชิงรุกของสำนักงานอัยการสูงสุดก็มีการดำเนินการหลายอย่างเช่นการจัดโครงการ”น้องต้องรู้”ก็คือเข้าไปยังสถานศึกษาให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงทางเพศหรือการล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้นแล้วก็ยังมีโครงการร่วมกับทรู ในการจัดประกวดคลิปวิดีโอโฆษณาสั้นๆเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยให้โอกาสนำเสนอเข้าไปเพื่อการแข่งขันซึ่งอาจจะมีการออกอากาศไปยังช่องต่างๆ

Advertisement

ในด้านการต่อต้านการขนย้ายถิ่นฐาน ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเนื่องจากยังไม่พร้อมทางด้านกฎหมายที่ใช้อยู่ แต่การทำงานร่วมกันของหลายหลายหน่วยงานในปัจจุบันทำให้ ร่างกฎหมายเข้าไปสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งหวังว่าจะมีกฎหมายออกมารองรับปัญหาเหล่านี้ได้โดยเร็ว เพราะว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยด่วน ในด้านการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (Mutual Legal Assistance) และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition) ประเทศไทยดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง (Central Authority)

แต่อย่างไรก็ตาม เรายังมีปัญหาในเรื่องของการติดตามทรัพย์สินคืน (Asset Recovery) และการแบ่งปันทรัพย์สิน แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว แต่ว่ายังมีปัญหาในการบังคับใช้ ในปัจจุบันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกจากประเทศไทยเป็นไปโดยง่ายและรวดเร็ว ประเทศไทยมีปัญหาในการที่จะแบ่งปันหรือขอคืนทรัพย์สิน โดยประเทศไทยได้ขอความช่วยเหลือทางเทคนิคกับธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ โดยจัดการประชุมระดมความคิดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศไทยรู้ว่าแต่ละหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร แล้ว ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คิดว่าน่าจะเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของประเทศไทย ในการดำเนินการในเรื่องนี้ ประเทศไทย พร้อมที่จะเข้าไปสู่กระบวนการ ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นกันเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านนาย โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้อำนวยการ โครงการพระดำริฯ ที่ได้ร่วมคณะฯเดินทางกล่าวว่า โดยในการประชุมในครั้งนี้สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ร่วมออกบูธนิทรรศการในการปฏิบัติการตามแนว พระดำริในการป้องกันอาชญากรรม ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ชมนิทรรศการของสำนักงานอัยการสูงสุดส่วนหนึ่งด้วย จากการเข้าประชุมตั้งแต่วันที่ 20 ถึง 24 พค 62 ซึ่งที่ประชุมมีทั้งห้องหลักและห้องคู่ขนาน การประชุมเริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 19.00 น. หรือบางวันถึง 22.00น. ภาพรวมสรุปได้ว่าทุกประเทศมีปัญหา อาชญากรรมต่างกัน แต่ละประเทศจะนำเสนอปัญหาของตน และแนวทางในการให้ความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ หรือร่วมกันป้องกันอาชญากรรม โดยเสนอแนะมาตรการวิธีการแก้ไข ในรูปแบบต่างๆร่วมกัน การทำงานเชิงรุกเพื่อนำเสนอแนวทางและแลกเปลี่ยนมุมมองในการรับมือกับปัญหา อาชญากรรมจึงเป็นเรื่องท้าทายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image