ข้าวเหนียวราคางามแซงหอมมะลิ ปรากฏการณ์ส่งสัญญาณเตือน รบ. “บิ๊กตู่” ถึงเวลาเอาจริง…จัดโซนนิ่งพืชเกษตร

ข้าวเหนียวราคางามแซงหอมมะลิ ปรากฏการณ์ส่งสัญญาณเตือน รบ. “บิ๊กตู่” ถึงเวลาเอาจริง…จัดโซนนิ่งพืชเกษตร

วงการข้าวตอนนี้ที่กำลังเป็นประเด็นจับตาอย่างใกล้ชิด คงไม่พ้นเรื่องเหตุใดราคาข้าวเหนียวจึงสูงแซงหน้าข้าวหอมมะลิถึงตันละ 2,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยนัก

แถมราคาข้าวเหนียวขยับสูงต่อเนื่องหลายเดือนตั้งแต่ต้นปีและทุบสถิติสูงสุดอีก

จึงเป็นเรื่องปกติ เมื่อสินค้าเกษตรตัวใดราคาดี สิ่งที่ตามมาคือ แห่กันปลูก และหวังชิงความได้เปรียบโดยเร่งการลงมือเพาะปลูกก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับการปลูกข้าวเหนียวฤดูกาลใหม่ เป็นที่มาของความวิตกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พ่อค้าข้าว โรงสี หรือแม้ชาวนากันเอง ที่มองล่วงหน้าว่าหากช่วง 4-5 เดือนนับจากเริ่มเพาะปลูกข้าวเหนียวรอบใหม่ถึงช่วงเก็บเกี่ยว การที่ชาวนาแห่หันมาปลูกข้าวเหนียวแทนข้าวหอมมะลิ จะมีผลต่อปริมาณเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาตีกลับดิ่้งลงเหวหนักอีกครั้ง

ร้อนถึงรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ เร่งตรวจสอบหาต้นเหตุว่าที่ข้าวเหนียวแพงทุบสถิติครั้งนี้ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากภัยแล้งและความต้องการสูงขึ้นจริง จากคนในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมบริโภคข้าวเหนียว หรือ ภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศต้องการ

Advertisement

หรือ แค่ความต้องการเทียม จากมีการลักลอบนำข้าวออกไปประเทศเพื่อนบ้านที่เจอภาวะแล้ง และบางส่วนกว้านซื้อเก็งกำไรช่วงสั้นๆ

หรือเพราะผลจากการบริหารจัดการข้าวของภาครัฐเองที่ไม่ต้องจุดประสงค์ นำพันธุ์ข้าวที่ต้องกระจายสู่ชุมชนไม่ได้เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวตามที่ต้องการ เพราะที่ผ่านมานโยบายส่งเสริมการปลูกหอมมะลิแทนข้าวเจ้า หลังเลิกโครงการรับจำนำหมดลง

ทั้งหมดนี้ ต้องได้ข้อเท็จจริงภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อนำไปประกอบแผนบริหารจัดการข้าวครบวงจร ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้

Advertisement

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย อธิบายถึงสถานการณ์ขณะนี้ว่า

“ราคาข้าวเหนียวขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ต่อเนื่อง 4-5 เดือนแล้ว ผลจากภัยแล้งผลผลิตมีน้อย สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเหนียวแห้งขึ้นไปถึงตันละ 16,000-18,000 บาท แต่ราคาขข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่แต่ตันละ 12,000-13,000 บาท ที่ก่อนหน้านี้ราคาขึ้นพรวดๆ เพราะแย่งซื้อ ตอนนี้ราคาเริ่มอ่อนตัวลง ที่ซื้อกันไว้ก็ค่อยทยอยขายตามความต้องการยืนยันไม่ได้เก็บเพื่อเก็งกำไรหรือปั่น”

สอดคล้องกับ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวเหนียวว่า

“ปกติคนไทยปลูกข้าวเหนียวเพื่อบริโภคในประเทศเกือบ 90% ผลผลิต 7-8 ล้านตันต่อปีนั้นเพียงพอ

แต่ปีนี้เจอภัยแล้งฝนขาดช่วงทำให้เพาะปลูกรอบที่ผ่านมาไม่ได้มาก และหากเพาะปลูกรอบใหม่ต้องชะลอออกไปอีกเพราะไม่มีน้ำเพียงพอ ผลผลิตที่ควรออกเดือนตุลาคมก็จะหายไป ก็จะเป็นตัวแปรให้ชาวนาแห่ปลูกข้าวเหนียวเพราะมองแค่ราคาขายสูงกว่าข้าวชนิดอื่น

โดยตอนนี้ภาวะราคาข้าวสารเหนียวนาปรังออกใหม่กิโลกรัม (ก.ก.) ละ 28-29 บาท ข้าวสารหอมมะลิ ก.ก.ละ 23 บาท ข้าวสารขาว 5% ก.ก.ละ14 บาท ขณะที่ข้าวเหนียว กข 6 นาปี มีราคาสูงสุด ในพื้นที่ภาคอีสาน ก.ก.ละ 29-29.50 บาท ภาคเหนือ ก.ก.ละ 31.50-32 บาท ซึ่งระดับราคานี้ถือว่าสูงมากแล้ว

ต้นเหตุจากแล้งและไม่มีจำนำข้าว ปริมาณข้าวในตลาดจึงลดลง การเก็บเกี่ยวก็หมดแล้ว โรงสีจึงเร่งซื้อเก็บกันไว้ทำค้าขายจนกว่าผลผลิตใหม่จะออกก็เข้าปลายปี

และยอมรับว่าราคาระดับนี้ จะส่งออกคงทำได้ยาก เพราะราคาเวียดนามยังถูกกว่าไทย จะประเมินล่วงหน้าก็ลำบาก ราคาข้าวเหนียวตอนนี้คล้ายกับภาวะหุ้น ผันผวนตลอด”

เมื่อถามไปยังกรมการค้าภายใน ระบุเพียงว่า ราคาข้าวเหนียวสูงขึ้นเพราะผลผลิตน้อยกว่าปกติจากภัยแล้ง ส่วนความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคในประเทศ ข้อเท็จจริงอย่างไรกำลังตรวจสอบ!

ขณะที่กลุ่มชาวนาไทยต่างแสดงความเป็นห่วงและออกมาเตือนกันเอง ว่า แม้ราคาข้าวเหนียวจะดี แต่ใช่ว่าชาวนาทุกคนจะปลูกได้เพราะขึ้นกับดินในพื้นที่และปริมาณน้ำ หากน้ำไม่มีก็ปลูกไม่ขึ้น และกระทุ้งให้รัฐเร่งจัดระบบพื้นที่ปลูกข้าว ทำโซนนิ่ง หรือรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อบริหารจัดการด้วยตนเอง ลดพึ่งพาภาครัฐ เชื่อว่าจะยั่งยืนกว่า

แต่กลุ่มพ่อค้ายังแสดงความมั่นใจว่า ราคาข้าวเหนียว จะยังรุ่งพุ่งแรงอยู่ เรื่องนี้ นายพิเชษฐ์ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปโรงสีข้าว บริษัท ธรรมธุรกิจ ข้าวเหนียวสันป่าตอง จำกัด ระบุว่า สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะหมดฤดูกาลนาปรัง และกว่าข้าวเปลือกเหนียวรอบใหม่จะออกอีกครั้งเดือนตุลาคม

ดังนั้น 4 เดือนจากนี้ จะไม่มีข้าวเปลือกเหนียวออกสู่ตลาด จะทำให้ราคาข้าวเหนียวเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้สูงขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

แม้รัฐบาลจะนำข้าวสารเหนียวเก่าในคลังรัฐออกมาประมูลก็ตาม แต่ตลาดบริโภคข้าวเหนียวคนไทย ไม่ยอมรับคุณภาพข้าวสารเหนียวเก่าที่เก็บมามากกว่า 3 ปีในคลังสินค้ารัฐบาลได้ แม้ว่าราคาจะถูกกว่า ก.ก.ละ 10 บาท

“ระยะนี้ราคาข้าวเปลือกเหนียวอาจไม่ขึ้นมากกว่านี้ เพราะราคาสูงมากแล้ว แต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน อาจขาดแคลนข้าวสารเหนียวได้มากในภาคอีสาน หากฝนทิ้งช่วง แล้งต่อเนื่อง สถานการณ์จะซ้ำรอยปีที่แล้ว แล้งจนปลูกข้าวได้น้อย ถ้านาปีปีนี้ปลูกได้น้อยอีก ปัญหาราคาข้าวเหนียวแพงขึ้นอีกแน่นอน ได้แต่ลุ้นผลผลิตเดือนตุลาคมหากไม่เสียหายหนัก ไม่มีการแย่งซื้ออีกรอบ ภาวะราคาจะไม่รุนแรงมากนัก จึงยังเป็นเรื่องที่ติดตามอย่างใกล้ชิด”

นายพิเชษฐ์ ยังฉายภาพการทำนา อีกว่า วันนี้ชาวนาจังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก ยังเอาพันธุ์ข้าวเปลือกเหนียวจากเชียงใหม่มาปลูกอยู่ เพราะเห็นราคาดี หากปีนี้น้ำอุดมสมบูรณ์ปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวจะออกมากสุดๆ เหมือนครั้งเชียงรายตอนมีโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554 ชาวนาก็หันไปปลูกข้าวขาวกัน 1.2 ล้านไร่

แต่ปีนี้จะหันมาปลูกข้าวเหนียวเกือบหมด และเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวจำนวนมากทยอยถึงมือชาวนาแล้ว

เมื่อถามหน่วยงานต้นทางอย่างกรมการข้าว นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดี ยืนยันว่ายังคุมปริมาณอยู่ ขณะนี้ได้ ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวเหนียว พบว่า ยังอยู่ในพื้นที่เดิมๆ และปริมาณพันธุ์ข้าวเหนียวที่นำไปปลูกเปลี่ยนแปลงไม่มาก เพราะพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวมีเฉพาะเท่านั้น และดูจากเมล็ดพันธุ์ข้าวเกือบทุกชนิดรวมถึงข้าวเหนียวที่ทางการส่งเสริมให้ปลูกยังเหลืออยู่ จากปกติต้องหมดแล้วในเดือนพฤษภาคม

“ตอนนี้กำลังดำเนินการตามแผนบริหารจัดการข้าวครบวงจร ซึ่งต้องควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง เพื่อให้ผลิตสอดคล้องกับความต้องการตลาด ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาวนา ที่จะเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ โดยแผนกำหนดผลผลิตข้าวปี 2559/60 ทั้งนาปีและนาปรัง เป้าหมายไม่เกิน 27.17 ล้านตันข้าวเปลือก สอดคล้องพอดีกับความต้องการทั้งตลาดในและส่งออกไปต่างประเทศ แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 8.09 ล้านตัน ข้าวปทุมธานี 1.10 ล้านตัน ข้าวเจ้า 10.75 ล้านตัน ข้าวเหนียว 7.11 ล้านตัน และข้าวอื่นๆ 0.12 ล้านตัน”

แต่เมื่อเช็กการลงพื้นที่ของกระทรวงพาณิชย์ กลับพบว่า หลายพื้นที่เพาะปลูกข้าว จับจ้องที่จะเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวรอบใหม่แล้ว ในเดือนมิถุนายน แค่เห็นสัญญาณว่าฝนกำลังจะมา และหลายพื้นที่ยืนยันว่าจะเริ่มทำนาให้เร็วกว่าปกติอีก 1 เดือนหรือเริ่มในเดือนมิถุนายน จากปกติจะเริ่มกรกฎาคมหรือสิงหาคม โดยไม่ได้สนใจที่ภาครัฐส่งสัญญาณเตือนไว้เลิกแข่งปลูกแค่มองเรื่องราคาขายดี ณ ขณะนี้!

คงต้องติดตามรัฐบาลจะจัดระเบียบอย่างไร ให้ชาวนาลงล็อกพอดีตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการข้าวครบวงจร ที่หน่วยงานปฏิบัติด้านเศรษฐกิจได้ผูกพันไว้ใน “รัฐบาลบิ๊กตู่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image