แชร์ด่วน! เตือนกิน ‘ชานมไข่มุก’ เสี่ยง ‘อ้วน-เบาหวาน-ฟันผุ’ ผงะ 25 แบรนด์สารกันบูด 100%

แชร์ด่วน! เตือนกิน “ชานมไข่มุก” เสี่ยง “อ้วน-เบาหวาน-ฟันผุ” ผงะ 25 แบรนด์สารกันบูด 100%

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ทพญ.มัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายไม่กินหวาน แถลงข่าวเปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนักในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ

น.ส.สารี กล่าวว่า โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ ของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มเก็บตัวอย่างทั้งหมด 25 ยี่ห้อเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง โดยชานมไข่มุกที่ซื้อมีราคาตั้งแต่แก้วละ 23-140 บาท เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน รวมถึงทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว  และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก พบชานมไข่มุกบางยี่ห้อมีน้ำตาลมากกว่า 19 ช้อนชา ซึ่งเป็นปริมาณเกินกว่าที่ควรจะได้บริโภคต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดแนะนำไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม

ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์พบมีเพียง 2 ยี่ห้อจาก 25 ยี่ห้อเท่านั้นที่มีปริมาณน้อยกว่า 24 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อ KOI the’ มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุด 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา และยี่ห้อ TEA 65 มีปริมาณน้ำตาล 22 กรัมหรือ 5.5 ช้อนชา ส่วนอีก 23 ยี่ห้อพบมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 29 กรัม หรือ 7.25 ช้อนชาขึ้นไปจนถึงปริมาณน้ำตาลที่มากสุด 74 กรัม หรือ 18.50 ช้อนชา คือ ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice

น.ส.สารีกล่าวว่า นอกจากนี้ ผลทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ในเม็ดไข่มุกพบทุกยี่ห้อมีสารกันบูด หรือคิดเป็นร้อยละ 100 โดยยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ The Alley มีปริมาณกรดซอร์บิกเท่ากับ 58.39 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดมากที่สุด คือ ยี่ห้อ BRIX Desert Bar พบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกรวมกันเท่ากับ 551.09 มก./กก. แม้ไม่ได้เกินมาตรฐานกำหนด แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้รับในปริมาณมาก

Advertisement

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องค้นหาแหล่งที่มาของสารกันบูดให้ได้ว่าปริมาณสารกันบูดที่มีมากเกิดจากอะไร ส่วนปริมาณพลังงานจากน้ำตาลและไขมันที่ผู้บริโภคได้รับ พบมากเกินความจำเป็นเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่มียี่ห้อใดให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง ยกเว้นผลทดสอบโลหะหนักในเม็ดไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว

Advertisement

“ขอให้ผู้ประกอบการปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้วลงให้เหมาะสม เนื่องจากพบว่าขนาดของแก้วสัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไป ซึ่งบางยี่ห้อมีราคาสูงมาก เมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุกอาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ขณะเดียวกัน ขอให้ผู้ประกอบการระบุฉลากให้ถูกต้องตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการใส่วัตถุเจือปนอาหาร หากไม่ระบุฉลากอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย รวมถึงเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เพื่อทำให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภค” น.ส.สารีกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ข้อมูลการตลาดพบปัจจุบันตลาดชาไข่มุกทั่วโลกมีมูลค่า 6.5 หมื่นล้าน คาดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านในปี 2020 โดยไทยมีสัดส่วนการตลาดคิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทชานมไข่มุกยี่ห้อ Ochaya ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 146 ล้านบาทและมี 360 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งผลวิเคราะห์พบมีปริมาณน้ำตาลต่อแก้ว 50 กรัม หรือ 12.50 ช้อนชา ส่วนปริมาณสารกันบูดรวม 291.76 มก./กก. เป็นกรดเบนโซอิก 160.21 มก./กก.และกรดซอร์บิก 131.55 มก./กก.

ทพญ.มัณฑนากล่าวว่า ชาไข่มุกกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในปัจจุบัน ตั้งแต่กลุ่มเด็กเยาวชนไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งชานมไข่มุกแก้วเดียวมีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วสูงมากถึง 19 ช้อนชาเกินกว่าปริมาณที่ควรจะได้รับถึง 3 เท่า อีกทั้งได้รับปริมาณเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ทำให้สถานการณ์ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงโรคอ้วนและโรคฟันผุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฟันผุที่เป็นปัญหาส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นจากการกินหวานมากเกินความจำเป็น

“ที่ผ่านมาทางเครือข่ายมีความพยายามขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้รับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยการลดปริมาณน้ำตาลน้อยลง พบมีบางร้านเท่านั้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ จะไปห้ามก็ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ไปห้ามไม่ให้กินก็ไม่ได้ แต่ขอแนะนำให้ลดปริมาณการกินน้อยลง หากเลี่ยงได้ควรงดดื่ม ส่วนสารกันบูดทราบกันดีว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ไต และก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น หากรับปริมาณมากเกินกำหนด จะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการรุนแรงเสี่ยงต่อชีวิต” ทพญ.มัณฑนากล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image