อาศรมมิวสิก : ดนตรีศิลปะสมัยใหม่ สะท้อนความสับสนวุ่นวาย ควบคุมไม่อยู่ คาดหวังไม่ได้ หยาบกระด้าง และดิบถ่อยเถื่อน : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดนิทรรศการศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่แห่งประเทศไทย (Thailand New Music and Arts Symposium 2019) โดยมีศิลปินรุ่นใหม่พร้อมด้วยคนหน้าใหม่ๆ เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนี้ก็มีนายปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ (หลุย) เป็นแม่งาน ซึ่งได้รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่สนใจดนตรี คนที่สนใจงานศิลปะร่วมสมัย งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับงานศิลปะ ซึ่งได้รวมศิลปะการแสดงสมัยใหม่เข้าไปด้วย

ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ (หลุย) อายุ 26 ปี กำลังเรียนปริญญาเอกด้านการประพันธ์เพลง อยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญและก้าวหน้ามาก ยังมีผู้ร่วมอุดมการณ์เข้าร่วมจำนวนไม่น้อย สามารถรวบรวมผู้คนที่มีความสนใจ ผู้ที่มีน้ำใจ ผู้ที่มีความรู้ และมีความสามารถสูง ทั้งนี้ยังมีเครือข่าย มีความสามารถในการจัดการ ทั้งในเรื่องการหาเงิน หาบุคลากร หาศิลปินมาช่วยกันจัดงานในครั้งนี้ได้จนสำเร็จลงด้วยดี

งานศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ เป็นหุ้นส่วนของสังคมในปัจจุบัน “ดนตรีและศิลปะเป็นอย่างไร ก็จะสะท้อนสังคมออกมาอย่างนั้น สังคมเป็นอย่างไร ดนตรีและศิลปะก็จะสะท้อนออกมาเป็นอย่างนั้นด้วย”

งานศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ เป็นเรื่องที่ใหม่ ไม่ค่อยจะมีพื้นที่ให้แก่ศิลปินนัก ไม่มีผู้สนับสนุนมากนัก มีคนสนใจน้อย ถ้าหากจะมองจากบริบทของสังคมไทย งานศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ประเภทนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเป็นงานเป่าลูกโป่ง จุดพลุ หรืองานเทศกาลเฉพาะกิจ เสร็จแล้วก็ปล่อยผ่านไป การจัดงานที่ใช้ชื่อนิทรรศการศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ เพื่อต้องการสื่อสารให้คนรู้ว่า เป็นเรื่องที่แปลกและแหวกแนวไปจากศิลปะหรือดนตรีที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยปัจจุบัน

Advertisement

ดนตรีและศิลปะในสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นงานรับใช้ค่าจ้าง งานประเพณี งานสังสรรค์รื่นเริง เรียกว่าหัสดนตรีหรือดนตรีเพื่อความหรรษา ศิลปะดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้งบประมาณสูง มีการลงทุนแบบสุดตัว ผู้สนับสนุนลงขันร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อความแสดงยิ่งใหญ่ผ่านดนตรีและศิลปะ

ในเมืองไทยนั้น ดนตรีสมัยใหม่ (New Music) เกิดขึ้นในสังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่วงภาคีวัดอรุณ ซึ่งคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น เมื่อปี พ.ศ.2519 เวลา 43 ปีมาแล้ว นักดนตรีประกอบด้วยอาจารย์นพ โสตถิพันธ์ ดนู ฮันตระกูล
สมเถา สุจริตกุล และบรูซ แกสตัน หลังจากนั้นก็มีคลื่นลูกใหม่ๆ พยายามที่จะจัดกิจกรรมดนตรีสมัยใหม่เรื่อยมา แต่ไม่ได้มีความต่อเนื่องหรือเป็นแก่นสารอะไรนัก “เสร็จแล้วได้ชื่อเสียงก็ทอดทิ้งไป” ทั้งนี้ เพราะไม่มีคนทำงานสมัยใหม่ที่แข็งแรงพอและทำงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีความหลากหลายมากขึ้น มีนักประพันธ์เพลงที่หลากหลาย มีนักดนตรีจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่มีฝีมือสูง มีบทเพลงที่ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงถึง 136 ชิ้น ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ และที่ประหลาดใจก็คือ มีผู้ฟังและผู้ชมจำนวนมากที่ให้ความสนใจ

Advertisement

ประเด็นสำคัญของงานศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ในครั้งนี้ มุ่งไปที่การก้าวข้ามข้อจำกัดของศิลปะในแต่ละสาขา ดนตรีไม่ได้อยู่จำกัดแค่ดนตรีเพื่อความไพเราะ ศิลปะไม่ได้อยู่จำกัดกับงานศิลปะเพื่อความงาม เทคโนโลยีไม่ได้อยู่จำกัดในโลกแค่เทคโนโลยีอย่างเดียว และงานทุกสาขาได้นำมาแสดงปะปนกันเป็นงานชิ้นเดียวกัน ทุกสาขาทุกแขนงของศิลปะนำศิลปินที่มีความสามารถสูงมาเสนอต่อสาธารณะ

ศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่นำเสนอนั้น เป็นงานที่ไร้พรมแดน ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อจำกัด สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ นอกคอก แหกคอก ปลดปล่อยความรู้สึก โดยผ่านการแสดงออก ทั้งเสียงหนวกหู เสียงหยาบกระด้าง เสียงที่น่ารำคาญ โดยใช้สีสัน แสงไฟ การแสดงทั้งร่างกาย อารมณ์ และเทคโนโลยีร่วมในการแสดง ทั้งนี้ต้องการที่จะก้าวผ่านเสียงดนตรีที่มีคำจำกัด แค่ความไพเราะหรือความประณีตได้ถูกตัดออกไป โครงสร้างดนตรีและศิลปะดั้งเดิมถูกทำลายลงอย่างสมบูรณ์แบบ

ในวัตถุประสงค์และความหมายดั้งเดิมนั้น ดนตรีเป็นงานศิลปะของเสียงที่ประณีตงดงาม ประพันธ์เพลงออกมาจากจิตใจที่สดใส เพราะเสียงที่ใสออกมาจากจิตใจที่สะอาด เสียงพุ่งออกจากใจของนักดนตรีตรงเข้าสู่จิตใจของผู้ฟัง ตั้งใจจะให้เสียงช่วยขัดเกลาจิตใจให้สะอาดขึ้นด้วย

จากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมนั้น ดนตรีสมัยใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ประเด็นนี้อีกต่อไป ดนตรีได้กลายเป็นเสียงที่ทดลองขึ้นใหม่ โดยนำเสียงที่มีอยู่ในสังคมขณะนี้ “ทั้งเสียงที่ได้ยิน และเสียงที่ไม่ได้ยิน” อาทิ เสียงของความวุ่นวาย เสียงด่าทอ เสียงตะโกน บรรยากาศที่ควบคุมไม่ได้ สังคมที่คาดหวังอะไรไม่ได้ สังคมจมอยู่กับความหยาบคาย ดิบถ่อยเถื่อน แสดงผ่านศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่ทำให้สังคมรู้สึกฉงน

เดิมนั้น “ความจริง ความดี ความงาม ความไพเราะ เป็นสัจจะ” ดนตรีศิลปะมุ่งสะท้อนและรักษาความเป็นสัจจะอันนั้น ในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของการใช้ดนตรีและศิลปะเปลี่ยนไป อย่าลืมว่า “ดนตรีและศิลปะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้” เมื่อปัจจุบันต้องการใช้ดนตรีและศิลปะเป็นภาพสะท้อนของสังคม

ในการจัดงานแสดงศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เพียงแต่การแสดงทั้งหมดเป็น “นามธรรม” จนมองไม่ออกว่า ศิลปะดนตรีสะท้อนสังคมไทยได้อย่างไร อาทิ เสียงความวุ่นวาย ความสับสน งุนงง ฉงน ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แล้วจะจัดการกับมันอย่างไร

เมื่อสังคมรู้สึกสับสน อาจจะไปเริ่มต้นใหม่ แต่ไม่รู้ว่าความดีความชั่วแตกต่างกันอย่างไร สังคมงงและสงสัยว่า ความถูกความผิดแตกต่างกันอย่างไร และที่สำคัญที่สุด มาตรฐานของชีวิตไทย มาตรฐานสังคมไทยควรเป็นอย่างไร ความสับสน ความไม่ชัดเจน เพราะว่าผู้นำเป็นตัวอย่างของความสับสน สับสนในความจริง สับสนในความดีงาม สับสนในความถูกต้อง สัจจะอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ หรือคนไทยอยู่ไปอย่างยถากรรม แบบต้องเสี่ยงดวงเสี่ยงชีวิต ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ปรัชญากรีก

นักดนตรีและศิลปินที่มาร่วมงานทุกคน เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือสูง มีความสามารถที่ชัดเจน รู้ว่าจะสะท้อนความสับสนออกมาได้อย่างไร การแสดงร่วมกันในศิลปะที่หลากหลายสาขา ก็เพื่อจะสื่อให้ผู้ชมรู้ว่า ศิลปะสามารถส่องทางกันได้ ความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณ ถ่ายทอดให้แก่กัน สร้างแรงบันดาลใจระหว่างกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นเด็กไทยรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดี มีความสามารถสูง ไม่ได้ทำมาหากินเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ กลายเป็นประชาคมที่มีคุณภาพ สามารถจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้

เงาสะท้อนได้จากการเริ่มต้นสร้างคนดนตรีให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง คนรุ่นใหม่สามารถสื่อสารได้ 5 ภาษา ตั้งแต่ภาษาแม่ ภาษาสากล (อังกฤษ) ภาษาเทคโนโลยี ภาษารสนิยม (ศิลปะดนตรี) และภาษาทำมาหากิน ซึ่งพบว่า เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้
สามารถก้าวข้ามคนรุ่นเก่าโดยอาศัยความสามารถได้อย่างสง่างาม ซึ่งเชื่อว่า ในอนาคต ไทยจะเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ได้อย่างจริงจัง

ข้อจำกัดของนิทรรศการหรือมหกรรมศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ไม่ค่อยมีเจ้าภาพที่ “ใจถึงพึ่งได้” ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนที่เป็นผู้จัด ไม่มีพื้นที่สำหรับการจัดแสดงที่ชัดเจน ไม่มีงบประมาณช่วยเหลือ ไม่มีสถาบันการศึกษาที่มุ่งจัดการศึกษาด้านศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่เฉพาะอย่างจริงจัง ที่ทำได้ก็ล้วนเป็นความอยากของคนที่รักศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่เพียงแค่นั้น

ข้อเสนอในวันนี้ ไทยเราควรมีสถาบันศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ขึ้นมาเฉพาะ เพื่อเป็นการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อโลกอนาคต เป็นพื้นที่ของคนที่อยู่ในโลกอนาคต มีบทบาทจัดการศึกษาที่ “คิดแล้วทำ และนำเสนอ ดนตรีศิลปะในโลกอนาคต” หรือสร้างพื้นที่ให้ “คนบ้ากล้าแสดงและถูกกฎหมาย” อย่างน้อยจะได้ช่วยดึงคุณลุงคุณป้า คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ออกจากปลักโคลนตมที่อยู่ในโลกอดีต เข้าสู่สมัยใหม่ แล้วนำไปสู่โลกอนาคตบ้าง

งานศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่นั้น ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีขอบเขต ไม่มีเงื่อนไข ไร้ข้อจำกัด มีความหลากหลาย และมีความแตกต่าง ซึ่งจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้คนในสังคมได้มองเห็นความแตกต่างเป็นความสวยงาม มองเห็นความหลากหลายเป็นความร่ำรวย ซึ่งตั้งอยู่บนความตั้งใจจริง “ของการแสดงออก” แล้วคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การได้ไปชมการแสดงงานนิทรรศการศิลปะสร้างสรรค์สมัยใหม่ในวันนั้น ได้เห็นลูกศิษย์ (70%) ทำให้รู้สึกว่ามีความสุข “ลูกน้องอยู่ได้เพราะผลประโยชน์ ส่วนลูกศิษย์นั้น อยู่ได้ด้วยความรัก ความผูกพัน และแรงศรัทธา” ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์มหาศาลที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้

เมื่อได้เห็นความสามารถของคนรุ่นใหม่แล้ว ทำให้มีกำลังใจ และสะท้อนให้รู้ว่า สังคมยังมีความหวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image