กรมท่าอากาศยานกลับลำ ไม่เวนคืนที่ดินชาวชุมชนหัวสนามบินตรัง เผย ความดัง-แรงสั่นสะเทือนอยู่ในเกณฑ์

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นางสมศรี เงินศรี อายุ 57 ปี และนายพรหมภัสสร อนุสรณ์วาณิช อายุ 57 ปี พร้อมตัวแทนชาวบ้านหัวสนามบินที่มีอยู่จำนวน 30 ครัวเรือน พื้นที่กว่า 19 ไร่ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นลงของเครื่องบินสนามบินตรัง ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง ทำให้บ้านเรือนแตกร้าวได้รับความเสียหายและเดือดร้อนมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฝนตก น้ำฝนจะรั่วเข้าบ้าน หากสภาพอากาศปิด เครื่องบินจะยกตัวขึ้นใกล้หลังคาบ้าน และบินวนต่ำเฉียดหลังคาบ้าน บางครั้งบินวนหลายๆ รอบ เพื่อหาทางขึ้นหรือลงสู่สนามบิน จนทำเด็กเล็กร้องไห้ และบ้านเรือนแตกร้าวสะสมดังกล่าว

ล่าสุด ได้มีการนำผลการตรวจวัดระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือนของเครื่องบินจากกรมท่าอากาศยานตรัง ที่ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ระบุว่า ระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือนไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงจะไม่พิจารณาเวนคืนที่ดินทั้งหมดดังกล่าวตามที่ชาวบ้านร้องเรียน

หนังสือตอบกลับของกรมท่าอากาศยานมีข้อความระบุว่า กรณีกรมท่าอากาศยานได้ทำการตรวจสอบโดยให้บริษัทที่ปรึกษาตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนบริเวณชุมชนหัวทางวิ่ง 26 เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน 2562 โดยมีท่าอากาศยานตรัง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และเทศบาลตำบลโคกหล่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการดังกล่าว ผลการตรวจวัดค่าระดับเสียงกลางวัน-กลางคืนที่เกิดจากอากาศยาน มีค่า 52.89-55.73 เดซิเบล อยู่ในเกณฑ์ระดับเสียงที่เหมาะสม (น้อยกว่า 65 เดซิเบล ของกรมควบคุมมลพิษ ปี พ.ศ.2559 และผลการตรวจความสั่นสะเทือนขณะที่อากาศยานบินผ่านมีค่าความถี่สูงสุดมากกว่า 100 เฮิรตซ์ ความเร็วอนุภาคมีค่าอยู่ในช่วง 0.251-7.701 มม./วินาที เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน 20 มม./วินาที ) จึงไม่มีผลกระทบต่ออาคารตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 37 พ.ศ.2553

ดังนั้น ผลการตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนจึงยังเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน หากภายหลังมีการตรวจวัดแล้วพบว่าระดับเสียงและความสั่นสะเทือนมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงจะพิจารณาจัดซื้อพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกินเกณฑ์มาตรฐานในภายหลังต่อไป ลงนามโดย นายสมเกียรติ มณีสถิต รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน

Advertisement

ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันว่า พวกตนทั้งหมดยินดีที่สนามบินตรังจะเจริญขึ้น ไม่ได้ต่อต้านการปรับปรุงขยายสนามบิน และไม่ได้อยากจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะอยู่กันมาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่อยากขอความเป็นธรรม เพราะบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของสนามบิน แตกร้าวเพราะการขึ้นลงของเครื่องบินสนามบินตรังจริง

ตัวแทนชาวบ้านร้องว่า ผลการตรวจวัดที่กรมท่าอากาศยานตอบกลับมาไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะในวันที่มาติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดมีการแจ้งล่วงหน้า โดยท่าอากาศยานตรังรับรู้และทำเพียง 2 วันเท่านั้น สภาพอากาศโปร่ง ทำให้เครื่องบินแต่ละลำบินในระดับสูงตั้งแต่ขึ้น และไม่ได้บินวนเหมือนที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงสภาพอากาศปิด และตรวจวัดโดยบริษัทที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับกรมท่าอากาศยาน ไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นกลาง เพราะเดิม บริษัทที่ปรึกษาฯทำผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นที่ตัดบ้านเรือนหัวสนามบินออกไปไม่อยู่ในแผนเวนคืน เพราะเข้าใจผิดว่าชาวบ้านทั้งหมดดังกล่าวอยู่ในที่ราชพัสดุ ไม่ใช่ที่เอกสารสิทธิ จึงตัดชาวบ้านทั้งหมดออกไปตั้งแต่แรก

Advertisement

“ชาวบ้านยืนยันทั้ง 30 หลังคาเรือนว่าเป็นเอกสารโฉนดที่ดิน และบ้านเรือนแตกร้าวเพราะการขึ้นลงของเครื่องบิน ซึ่งพวกตนอยู่อาศัยมานาน ปัญหารอยแตกร้าวของบ้านเกิดขึ้นสะสมมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ค่อยๆ แตกร้าว จนกระทั่งรอยแยกกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนต้องซ่อมแซมกันหลายครั้ง และฝนตกบ้านก็รั่ว และขณะนี้รอยแผลแตกร้าวของบ้านเรือนแต่ละหลังขยายรอยแยกมากขึ้น หากไม่เวนคืนในวันข้างหน้าปริมาณเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร เพราะขณะนี้เริ่มมีการก่อสร้างขยายสนามบินแล้ว โดยบ้านชาวบ้านที่ใกล้ที่สุดรั้วสนามบินห่างกันไม่กี่ศอกกับกำแพงบ้าน และห่างหัวทางรันเวย์ไม่กี่เมตร ขณะที่บ้านเรือนทางด้านทิศตะวันตกที่ได้กรมท่าอากาศยานกำหนดในแผนการเวนคืนไม่ได้เดือดร้อน และบ้านเรือนไม่ได้แตกร้าวจากการขึ้นลงของเครื่องบินเหมือนบ้านของพวกตนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก”

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจะร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และขอให้ส่งผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบและเป็นกลางลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อขอความเป็นธรรม หากไม่ได้รับเวนคืนจะเตรียมบุกร้องผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง และเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดไปถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ชาวบ้านได้พาผู้สื่อข่าวไปสำรวจบ้านบางหลังที่พบว่าขณะนี้รอยแผลแตกร้าวขยายรอยแยกมากขึ้น

โดยชาวบ้านยืนยันว่า ตามแบบแปลนการก่อสร้างขยายสนามบินตรังที่ทางบริษัทรับศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแจกจ่ายให้กับประชาชนในการเรียกประชุมทำโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่า เดิมครั้งที่ 1 บ้านเรือนทั้ง 30 หลังคาเรือน ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เตรียมเวนคืนที่ดิน แต่ในการประชุมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 2 ถูกตัดออกไป โดยชาวบ้านยืนยันเป็นความผิดพลาดของบริษัทฝ่ายสำรวจที่เข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image