หาเหตุผล…ทำไม เฟซบุ๊ก ต้องซ่อนยอด “ไลค์”

(Photo by Alastair Pike / AFP)

หาเหตุผล…ทำไม เฟซบุ๊ก ต้องซ่อนยอด “ไลค์”

คอลัมน์ ไซเบอร์ทีน
โดย พี่ศรีหนุ่ย

 

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมามีรายงานว่า เฟซบุ๊กได้เริ่มการทดสอบซ่อนตัวเลขนับจำนวน “ไลค์” (Like) และปุ่มแสดงอารมณ์อื่นๆ บนหน้าฟีดแล้ว โดยทางเฟซบุ๊กออกแถลงมาแล้วว่า ได้เริ่มการทดสอบดังกล่าวแล้วที่ประเทศ “ออสเตรเลีย” ซึ่งจะทำให้ไม่มีการโชว์ตัวเลขของการกดไลค์ ผู้เข้าชมวิดีโอ หรือตัววัดอื่นๆ บนโพสต์นั้น โดยจะเห็นเพียงชื่อไม่กี่ชื่อที่มากดไลค์ แต่จะไม่เห็นจำนวนตัวเลขที่เคยแสดงไว้ ซึ่งได้เริ่มต้อนการซ่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา

หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า “ทำไม” ถึงต้องซ่อนตัวเลขการกดไลค์ด้วย ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่า ตัวเลขการกดไลค์ มันก็ทำให้เราได้รู้ว่าใครเข้ามาดูหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเราทางเฟซบุ๊กบ้าง

ก็ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ต้องยอมรับกันว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์อีกหลายๆ แพลตฟอร์ม หลายต่อหลายคน เวลาโพสต์อะไรลงไป ก็เพื่อต้องการจะให้คนเข้ามามี “ปฏิสัมพันธ์” ด้วย ผ่านทาง ปุ่มไลค์และปุ่มต่างๆ ที่มีมาให้ รวมไปถึงเพจต่างๆ ที่ต้องการให้คนเข้ามากดปุ่มไลค์และอื่นๆ เพื่อดูว่ามีคนสนใจมากน้อยเพียงใด และมีความดึงดูดต่อผู้คนมากน้อยเพียงใด

Advertisement

จึงเป็นที่มาของความพยายามในการเพิ่มยอดไลค์ด้วยวิธีต่างๆ นานา รวมไปถึงการโพสต์ข้อความหรือวิดีโอที่จะกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกที่เกี่ยวกับความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติหรือความรุนแรงอื่นๆ ที่คนชอบเข้าไปดูกัน

ทำให้การกดไลค์ ไม่ได้แสดงถึงความนิยมอย่างแท้จริงของเนื้อหาบนเพจหรือเฟซบุ๊กนั้นๆ

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างพยายามผลักดันให้เฟซบุ๊กหยุดการให้สำคัญกับการนับจำนวนผู้กดไลค์ เนื่องจากเป็นการส่งผลกระทบ “ด้านลบ” ต่อการเคารพตัวเอง และพบว่า มีเด็กๆ ที่พยายามเอาตัวเองไปผูกอยู่กับ ปุ่มไลค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเคารพตัวเองของเด็กๆ และวัยรุ่น

Advertisement

แล้วถ้าเราสังเกตดู หลายคนก็จะพบว่า ถ้าเราเห็นโพสต์ของใครมีคนมากดปุ่มไลค์เยอะมากๆ บางคนก็จะเกิดอาการ “อิจฉา” ขึ้นมา แล้วพอเราตั้งใจว่า โพสต์นี้ของเรา คนต้องเข้ามากดไลค์มากๆ แต่กลายเป็นว่า คนเข้ามากดไลค์น้อยมาก เราก็ “เซ็ง” อีก หดหู่อีก

กลายเป็นว่า พวกเรากลายเป็นโรคตามล่า “ไลค์” กันไปโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้ เฟซบุ๊กจึงได้เริ่มเดินหน้าที่จะให้ความสำคัญกับปุ่มไลค์และปุ่มแสดงอารมณ์อื่นๆ น้อยลง

ซึ่งได้ทำควบคู่กันไปกับการซ่อนปุ่มไลค์บนอินสตาแกรมที่เริ่มทดสอบไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ประเทศแคนาดา ก่อนจะขยายไปประเทศอื่นๆ ในอีก 6 ประเทศ

เบื้องต้น เฟซบุ๊กเองแจ้งว่า จะทำการทดสอบดูก่อนว่า การซ่อนจำนวนไลค์แล้ว ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร ถ้าผลตอบรับดี ก็จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป

อย่าทำให้ชีวิตตัวเองติด “ไลค์” เป็นดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image