เปิดหลักฐานจากเอกสารฝรั่งเศส ‘ชม กับ แก้ว’ เด็กชายผู้เคียงข้างปาเลอกัวซ์

24 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ พระสังฆราชปาเลอกัวซ์ (Jean Baptist Pallegoix) ชื่อเสียงของท่านปาเลอกัวซ์เป็นที่รู้จักในหมู่นักประวัติศาสตร์เป็นอย่างดีและใครต่อใครอีกหลายคนที่สนใจประวัติศาสตร์ไทย ทว่ากลับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่มีการศึกษาเรื่องราวของอดีตประมุขมิสซังสยามท่านนี้ไว้น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำคริสต์ศาสนาท่านอื่นๆ ที่เข้ามาเผยแพร่คำสอนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักท่านบาทหลวงนี้ผ่านงานนิพนธ์ชิ้นสำคัญ เช่น บันทึกเรื่องมิสซังแห่งกรุงสยาม (Mémoire sur la mission de Siam) เล่าเรื่องกรุงสยาม (Description du Royaume Thaï ou Siam) หรือพจนานุกรม “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” แต่ เมื่อได้ค้นคว้าเรื่องราวของท่านบาทหลวงผู้นี้อย่างจริงจัง ยิ่งเหมือนเดินอยู่ในเขาวงกตชนิดที่คลำหาทางออกไม่เจอ

หลักฐานจำนวนมากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุแห่งการศึกษา เอกสารบางอย่างอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุในประเทศฝรั่งเศสและหอสมุดวาติกัน มิหนำซ้ำยังมีความสลับซับซ้อนในงานนิพนธ์ของท่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือหากพิจารณาเฉพาะงานนิพนธ์ที่เกี่ยวกับประเทศสยามและหนังสือภาษาสยามนั้น จะระบุชื่อท่านในฐานะผู้ประพันธ์อย่างชัดเจน ในทางกลับกัน หากเป็นงานนิพนธ์ที่เป็นหนังสือที่ใช้พิสูจน์ความเชื่อที่แตกต่างกันระหว่างพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนานั้นกลับไม่ถูกระบุชื่อในฐานะผู้ประพันธ์แม้แต่ชิ้นเดียว

นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาแก่ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของท่าน นั่นคือ ภาพถ่ายที่มีเด็กผู้ชายสองคนยืนเคียงข้าง ถ่ายไว้เมื่อ ค.ศ.1857 ตรงกับ พ.ศ.2379 ทราบชื่อว่า เด็กชายแก้วและเด็กชายชม แต่รายละเอียดเกี่ยวกับเด็กชายทั้งสอง ไม่ได้ปรากฏแพร่หลายนัก อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าเอกสารที่หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑล กรุงเทพฯ ณ ห้องอ่านเอกสารในแฟ้มเอกสารพระสังฆราชปาเลอกัวซ์ และการค้นคว้าเอกสารในระบบออนไลน์ของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส (BCF), ห้องเอกสารคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส, ประเทศสยาม แฟ้มเอกสารหมายเลข 890 รายงานประจำปีขององค์กรช่วยเหลือเด็ก (Anales de Saint Enfance) 1856-1857 ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Advertisement

‘เด็กชายแก้ว’ ชาวสยาม ‘ยอแซฟชม’ ชาวญวน

เด็กหนุ่มที่อยู่ทางซ้ายมือ ชื่อ “แก้ว” เป็นชาวสยาม ส่วนอีกคนมีชื่อว่า “ยอแซฟ ชม” เป็นชาวญวน สันนิษฐานว่า ครอบครัวของเขาหนีอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพร้อมกับคณะสอนศาสนาฝรั่งเศส และอาศัยอยู่บริเวณบ้านญวน แก้ว และ ชม ร่วมเดินทางไปฝรั่งเศสกับท่านบาทหลวงปาเลอกัวซ์ โดยออกเดินทางจากกกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2395 การเดินทางครั้งนี้ ท่านบาทหลวงได้นำบรรณาการจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปถวายจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และยังถือโอกาสจัดพิมพ์พจนากรม 4 ภาษา อีกด้วย โดยที่ท่านบาทหลวงได้แวะไปยังสิงคโปร์ก่อน จากนั้นผ่านเกาะปีนัง และซีลอน (ศรีลังกา) ด้วยเรือชื่อสิงคโปร์ และเปลี่ยนเรือที่มีชื่อว่า ปัตแต็งเช (Pattinger) เรือลำนี้นำท่านไปจนถึงกรุงเอเดน คลองสุเอซ กรุงไคโร เมืองอเล็กซานเดรีย จากนั้น โดยสารเรือชื่อโอซีรีส์ไปจนถึงเกาะมอลตา และเดินทางต่อไปจนถึงท่าเรือมาร์เซยตอนใต้ของฝรั่งเศส ในวันที่ 17 มิถุนายน ปีเดียวกัน

หลังจากค้างแรมที่เมืองมาร์กเซย (Marseille) ไม่กี่วัน ทั้งสามคนมุ่งเดินทางสู่เมืองโบลน (Beaune) จังหวัด โกต-ดอร์ (Côte d’Or) ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบาทหลวงปาเลอกัวซ์ ท่านและลูกศิษย์พำนักอยู่ที่เมืองดิฌง (Dijon) ในระหว่างนี้ ได้ไปเยี่ยมเยียนตามที่ต่างๆ พร้อมทั้งถวายมิสซา นอกจากนี้ ท่านยังไปร่วมพิธีรับเสื้อของนวกเณรีหรือผู้เตรียมตัวเป็นนักบวชแบบพิศเพ่งรำพึงที่อารามคาร์แมลแห่งเมืองดิฌงด้วย จากนั้น วันที่ 29 กรกฎาคม คณะของบาทหลวงปาเลอกัวซ์ได้เดินทางสู่กรุงปารีส และได้พักที่บ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศที่ถนนบัค ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคณะ และในวันที่ 11 สิงหาคม ท่านได้รับเชิญเป็นประธานพิธีส่งตัวธรรมทูต 6 องค์ หนึ่งในนั้นคือ คุณพ่อยัง-เทฟาน เวนาร์ด (Jean-Thèphane Vènard) ซึ่งมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่จดบันทึกเรื่องราวของท่านบาทหลวงปาเลอกัวซ์ เด็กชายแก้ว และเด็กชายชม ในเอกสาร “Lettre choisies du Bienheureux”

คุณพ่อยัง-เทฟาน เวนาร์ด (Jean-Thèphane Vènard) ได้พรรณนาถึงท่านปาเลอกัวซ์ด้วยความชื่นชม ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“พิธีส่งตัวธรรมทูตครั้งล่าสุดมีพระสังฆราชปาเลอกัวซ์ พระสังฆราชเกียรตินามแห่งมัลลอสเป็นประธาน ท่านเป็นประมุขมิสซังสยาม มีบุคลิกสง่าผ่าเผยเหมือนดังภาพบรรดาประมุขมิสซังรุ่นก่อนๆ หรือปิตาจารย์ของพระศาสนจักรอันศักดิ์สิทธิ์ที่เราเคยเห็น ท่วงทำนองการพูดของท่านเป็นไปอย่างช้าๆ บ่งบอกถึงความชาญฉลาด แต่บางครั้งก็มีความสนุกสนานแฝงอยู่ด้วย ท่านพาเด็กไทยกับเด็กญวนมาฝรั่งเศสด้วย เด็กทั้งสองเป็นหนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ของท่าน ทั้งสองจะไปเรียนต่อด้านเทววิทยาที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมาเลเซีย”

พรรณนาละเอียด ชุดพื้นเมืองจากตะวันออกไกล

ในเอกสารดังที่กล่าวมาข้างต้น คุณพ่อยัง-เทฟาน เวนาร์ด ยังได้พรรณนาถึงเด็กชายแก้วและเด็กชายชมอย่างละเอียด เพราะสะดุดตาต่อเครื่องแต่งกายพื้นเมืองจากดินแดนตะวันออกไกลที่เด็กทั้งสองสวมใส่ ดังนี้

“เด็กทั้งสองอยู่กับเรานานพอสมควร เด็กไทยอายุ 11 ปี ส่วนเด็กญวนอายุ 14 ปี พวกเขาฉลาดพอสมควรหรือฉลาดพอๆ กับเด็กฝรั่งเศส พวกเขามีบุคลิกเรียบง่าย ซื่อๆ ตั้งแต่วันที่สองที่เดินทางมาถึง เด็กทั้งสองสามารถทำให้เราเข้าใจด้วยท่าทางและภาษาฝรั่งเศสบางคำที่เรียนรู้และพยายามพูดซ้ำไปซ้ำมาบ่อยๆ สามสัปดาห์ต่อมา เราสามารถสนทนากับพวกเขาได้ เด็กสยามตัดผมสั้น ไว้จุกกลางกระหม่อม มีปิ่นปักตรงกลาง คาดสายสะพายทำด้วยผ้าฝ้ายสีแปลกๆ และมีผ้าอีกผืนหนึ่งคาดเหมือนเข็มขัดรอบเอวเหนือสะโพก เครื่องแต่งกายในลักษณะนี้พบในสยามเท่านั้น

ขณะเข้าร่วมพิธี เขาสวมเสื้อที่ทำจากผ้าฝ้ายสีต่างจากเครื่องแต่งกายด้านใน คาดผ้าสไบเหนือไหล่ซ้ายห้อยลงมาจนถึงเข็มขัด สวมสร้อยและเหรียญที่คอ สวมกำไล แขนเข้าชัดกัน ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจมาก ข้าพเจ้าไม่เคยลืมถุงเล็กๆ ของเด็กคนนี้ ถุงนี้ผูกติดกับผ้าคาดเอวด้วยเชือกเส้นหนี่ง ในถุงบรรจุหินเหล็กไฟ ยาสูบ และของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ประจำ ขาและเท้าว่างเปล่าไม่สวมอะไรเลย ส่วนเด็กญวนสวมกางเกงตัวใหญ่ที่ทำจากผ้าฝ้าย สวมเสื้อผ้าชาย เสื้อผ้าข้าง ที่เข็มขัดมีเชือกร้อยผูกถุงเล็กๆ ไว้เช่นกัน ไม่สวมถุงเท้า แต่สวมรองเท้าเหมือนรองเท้าแตะที่มีพื้นรองเท้าขนาดใหญ่ ศีรษะโพกผ้าเหมือนแขก

อย่างที่ทราบกันกันดีว่าเครื่องแต่งกายของเด็กญวนนั้นไม่ฟุ่มเฟือยนัก ครอบครัวที่ร่ำรวยมักใช้ผ้าไหมแทนผ้าฝ้าย เวลาอยู่ท่ามกลางพวกเรา เขาจะแต่งกายธรรมดาแบบชาวยุโรป

เด็กทั้งสองอยู่ร่วมพิธีส่งตัวมิชชันนารีด้วย โดยแต่งชุดประจำชาติ ยืนเป็นเกียรติอยู่ด้านหลังพระสังฆราขปาเลอกัวซ์ พวกเขาสามารถเรียกร้องความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นจากผู้พบเห็นได้มาก”

วัดญวนหรือวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ซึ่ง ‘ยอแซฟชม’ เด็กเชื้อสายญวนเคยอาศัยและวิ่งเล่น

เรื่องราวของเด็กชายชมนั้นไม่มีบันทึกหรือหลักฐานใดกล่าวถึงอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่กลับพบหลักฐานที่กล่าวถึงเด็กชายแก้ว ซึ่งมีพ่อแม่เป็นคนต่างศาสนา เด็กชายแก้วได้รับศีลบาปที่วัดแซ็งต์ซุลปีส ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1853 ตรงกับ พ.ศ.2396 โดยพระคุณเจ้าการีบัลดี (Garibaldi) พระสมณทูตวาติกันประจำฝรั่งเศส ท่ามกลางผู้มาร่วมพิธีหลายพันคนจากสมาคมช่วยเหลือเด็กแห่งกรุงปารีส ปัจจุบันสมาคมนี้ชื่อว่า “ยุวทูต”

วาระสุดท้ายเด็กชายแก้ว

เมื่อจะเดินทางกลับกรุงสยาม ท่านบาทหลวงปาเลอกัวซ์ต้องไปขึ้นเรือที่เมืองมาร์เซยกับเด็กชายแก้วในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2397 แต่ต้องเลื่อนการเดินทางออกไปอีก 2 เดือน ท่านจึงนำเด็กชายแก้วไปฝากไว้ที่โรงเรียนของภราดาคณะลาซาล ณ เมืองมาร์เซย เด็กชายแก้วศึกษาเล่าเรียนที่นี้ด้วยความมุ่งมั่นและเรียนอย่างรวดเร็ว บรรดาภราดาต่างชื่นชมในตัวเขามาก เมื่อบาทหลวงปาเลอกัวซ์ต้องเดินทางออกจากเมืองมาร์เซยด้วยเรือกลไฟ ท่านกังวลใจต่อเงินสำหรับเดินทาง ดังนั้นเอง จึงฝากแก้วไว้กับภราดาโดยเขาอธิบายและให้เหตุผลว่าทำไมจึงไม่สามารถพาเด็กชายแก้วเดินทางกลับสยามได้

วัดเขมรหรือวัดคอนเซ็ปชัญซึ่งคุณพ่อปาเลอกัวซ์ให้สร้างขึ้นและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา เด็กชายแก้วเคยอาศัยในชุมชนแถบนี้

เด็กชายแก้วมิได้แสดงอากัปกิริยาที่ไม่พอใจออกมา เพียงตอบบาทหลวงปาเลอกัวซ์อย่างเรียบๆ ว่า “สุดแล้วแต่พระคุณเจ้า !” เด็กชายแก้วพักกินนอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกที่นี่ กระทั่งในปีต่อมาได้เดินทางออกจากฝรั่งเศสมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2398 โดยพักอยู่ที่บ้านพ่อแม่ระยะหนึ่ง ในช่วงเวลานี้ แม่ รวมถึงพี่สาวน้องสาวของเด็กชายแก้วกลับใจมาเป็นคริสตัง จึงไปพบพระสังฆราชปาเลอกัวซ์เพื่อขอให้ส่งพวกตนไปเรียนคำสอนที่บ้านของภคินีเพื่อเตรียมตัวรับศีลล้างบาป

เมื่อพระสังฆราชปาเลอกัวซ์ตัดสินใจส่งเด็กชายแก้วไปสิงคโปร์เพื่อศึกษาต่อในโรงเรียนของคณะภราดาลาซาล เด็กชายแก้วได้ตอบท่านบาทหลวงไปด้วยความนอบน้อมแบบเดียวกับที่เคยตอบไปเมื่อครั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส “สุดแล้วแต่พระคุณเจ้า” แต่น่าเสียดาย หลังจากเดินทางถึงสิงคโปร์ไม่กี่วัน เด็กชายแก้วมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ ในที่สุดถึงแก่ชีวิตเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2399

ร่างของเด็กชายแก้วถูกฝังไว้ที่สิงคโปร์


คุณพ่อยัง-เทฟาน เวนาร์ด

คุณพ่อยัง-เทฟาน เวนาร์ด

ผู้จดบันทึกเรื่องราวของท่านบาทหลวงปาเลอกัวซ์ เด็กชายแก้ว และเด็กชายชม ในเอกสาร “Lettre choisies du Bienheureux” เกิดวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1829 ตรงกับ พ.ศ.2372 ณ แซ็งต์ลูป-ซูร์-ตูเอต์ (Saint Loup-sur-Thouet) จังหวัดเดอแซฟวร์ (Deux-Sèvres) เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1851 บวชเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1852 และในวันที่ 19 กันยายน ออกเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกไกล เพื่อมาประจำที่อ่าวตังเกี๋ย ถูกจับกุมที่เกโบ กระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1860 ถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะสอนความเชื่อคาทอลิกที่ตังเกี๋ย การเป็นมรณสักขีของท่านเกิดขึ้นที่เมืองฮานอย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1861 ท่านถูกทุบตีด้วยตีด้วยดาบหลายครั้งก่อนถูกศีรษะในที่สุด

คุณพ่อยัง-เทฟาน เวนาร์ด ได้รับการประกาศให้เป็นบุคคลที่น่าเอาเป็นแบบอย่างเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1879 โดยสมเด็จพระสันตปาปาเลโอที่ 13 ต่อมาได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิโอที่ 10 เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1909 และในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1988 สมเด็จพระสันตปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ทรงประกาศแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image