เปิดพ.ร.บ.เลิกเกณฑ์ทหาร ‘อนค.’ชง‘ปฏิรูปกองทัพ’

หมายเหตุสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ต่อสภาผู้แทนราษฎร

บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. …
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ดังต่อไปนี้

(1)แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายมีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7)

(2)แก้ไขเพิ่มเติมให้การรับสมัคร และการบรรจุบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการ ให้บรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขัน โดยหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามกฎหมายที่กระทรวง
กลาโหมกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)

Advertisement

(3)แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ที่ได้รับการบรรจุเป็นทหารกองประจำการมีสิทธิได้รับเงินเดือนสวัสดิการรวมถึง ทุนการศึกษา ประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงครอบครัว และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น รวมทั้งห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาให้ทหารกองประจำการทำงานในลักษณะที่เป็นงานรับใช้อันเป็นการละเมิดต่อร่างกาย หรือจิตใจ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (เพิ่มเติมมาตรา 8 ทวิ มาตรา 8 ตรี และมาตรา 8 จัตวา)

(4) แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการในกรณีที่อาจเกิดภาวะสงคราม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)

(5) เพิ่มเติมหมวด 5 ทวิ โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกและบรรจุคนเป็นทหารกองประจำการ (เพิ่มเติมมาตรา 37 ทวิ มาตรา 37 ตรี มาตรา 37 จัตวา มาตรา 37 เบญจ มาตรา 37 ฉ และมาตรา 37 สัตต)

Advertisement

เหตุผล
เนื่องจากการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการ
ทหาร พ.ศ.2497 ได้ถูกบังคับใช้มายาวนานจนไม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอีกทั้งการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการ โดยไม่ต้องอาศัยความสมัครใจยังเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ที่ว่าด้วยการรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการให้ใช้วิธีการรับสมัครแทนการเรียกมาตรวจเลือก เว้นแต่ในยามสงคราม มีการเพิ่มบทบัญญัติที่กำหนดให้การเข้ารับราชการทหาร ต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของทหารกองประจำการต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และแก้ไขบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พ.ร.บ.การรับราชการทหาร
พ.ศ.2497

มาตรา 7 ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

มาตรา 8 การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจําการ ให้กระทําด้วยวิธีเรียกมาตรวจเลือกหรือจะรับเข้าเป็นทหารกองประจําการโดยวิธีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวงก็ได้
ถ้ามีความจําเป็น การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจําการจะไม่กระทําในบางท้องที่ก็ได้

มาตรา 9 ทหารกองเกินซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างที่จะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจําการ และเมื่อต้องเข้ากองประจําการจะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจําการมีกําหนดสองปี ส่วนผู้ซึ่งมีคุณวุฒิพิเศษหรือเมื่อมีกรณีพิเศษ จะให้รับราชการทหารกองประจําการน้อยกว่าสองปีตามที่กําหนดในกฎกระทรวงก็ได้ แต่สําหรับผู้ซึ่งมีคุณวุฒิพิเศษนั้นจะอ้างสิทธิดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้แสดงหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก หรือต่อหน่วยทหารที่ตนร้องขอเข้ารับราชการทหารในวันร้องขอ

วันเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจําการ ให้นับแต่วันขึ้นทะเบียนกองประจําการในกรณีที่ทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจําการแล้ว แต่ยังขึ้นทะเบียนกองประจําการให้ไม่ได้ในวันที่ทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจําการนั้น จะขึ้นทะเบียนกองประจําการภายหลังจากวันเข้ารับราชการทหารกองประจําการก็ได้ และให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนกองประจําการตั้งแต่วันที่เข้ารับราชการทหารกองประจําการ เมื่ออยู่ในกองประจําการจนครบกําหนดแล้วให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ดังนี้
กองหนุนชั้นที่ 1 เจ็ดปี กองหนุนชั้นที่ 2 สิบปี กองหนุนชั้นที่ 3 หกปี ตามลําดับชั้นไปจนปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ 1

มาตรา 36 ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนมีหน้าที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพล

กระทรวงกลาโหมมีอํานาจกําหนดให้ทําการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม ตามที่เห็นสมควร ส่วนการระดมพลให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา การเรียกเข้ารับราชการทหารตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดเตรียมและอํานวยการ และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดําเนินการเรียกและส่งทหารเข้ารับราชการตามความประสงค์ของกระทรวงกลาโหม

การผ่อนผันไม่ต้องเรียกหรือไม่ต้องเข้ารับราชการทหารตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 37 ทหารกองเกินและทหารกองหนุนที่ถูกเรียกเข้ารับราชการตามมาตรา 36 และทหารประจําการ ต้องอยู่ในวินัยทหารเหมือนทหารกองประจําการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image