ปฏิรูปประเทศไทย แบบอย่างการพายเรือในอ่างที่ยั่งยืน : โดย สมหมาย ภาษี

วันหยุดกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมและเพื่อนๆ สนิท 4 คน สายนิติศาสตร์ คือ ท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ สมัยประชาธิปไตยเต็มใบ ท่านนคร ทองประยูร อดีตอัยการอาวุโส ท่าน พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง นายตำรวจใหญ่ที่เกษียณแล้ว ท่านสมชัย โรจน์วณิชย์ ทนายอาวุโส ได้พากันเดินทางไปรับอากาศชายทะเลที่ภูเก็ต แล้วเราก็ได้คุยกันถึงเรื่องเก่าๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราอย่างสนุกปาก

พวกเราทั้ง 5 คน อายุก็เลย 70 เข้าไปแล้ว ถ้าเป็นคนไทยบ้านนอกก็ต้องเลี้ยงหลาน เอาผ้าขาวม้าคาดพุงเดินชายทุ่ง ดูแลไร่นาที่ยังพอหลงเหลือให้ลูกหลานทำมั่งไปวันๆ หนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรเหลือ ก็ต้องอาศัยกินอยู่กับลูกหลานไปทุกวัน

แต่พวกเราซึ่งเป็นคนบ้านนอกมาแต่กำเนิดได้มีโอกาสมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในกรุงเทพฯเมืองหลวงเมื่อจบการเล่าเรียนก็หางานทำในเมืองกรุง มีงานมีการทำและมีครอบครัวเป็นชาวกรุงไป จึงต่างกับคนแก่บ้านนอก

ถ้าตามมาตรฐานและศาสตร์ของคนจีน เขาว่ามนุษย์ที่ผ่านวัย 60 ปี ถือว่าเพิ่งผ่านวัยฉกรรจ์เท่านั้น ยังมีเวลาที่ยังคิดอ่านและทำอะไรต่ออะไรได้อีกจนถึงอายุ 75 ปี ช่วงนี้เรียกว่าช่วงเข้าสู่วัยแก่ จนอายุ 76 ปี ขึ้นไปจึงจะเรียกว่าวัยผู้สูงอายุ ต้องไปเลี้ยงหลานเป็นงานหลัก เดินเข้าออกโรงพยาบาลเป็นงานรอง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม พวกเราทั้ง 5 คน ที่เกิดสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เริ่มเป็นหนุ่มสมัยที่การเมืองของไทยลุ่มๆ ดอนๆ มาก ยังจำความบ้านเมืองสมัยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ดี ท่านเข้าและออกสองสามครั้ง แต่ก็ได้บริหารประเทศที่เป็นขวานทองผืนนี้อยู่ร่วม 10 ปี ตามประสาเด็กวัยรุ่นสมัยนั้นแทบ
ไม่ได้ยินข่าวสารจากประเทศอื่นๆ เลยจะพอได้ยินบ้างก็คือ สงครามคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งรุนแรงมากและรัฐบาลไทยสมัยนั้นจำเป็นต้องยึดข้างสหรัฐอเมริกาผู้สนับสนุนเกาหลีใต้

ประเทศไทยสมัยนั้น ไม่ได้ดีเด่อย่างไรหรอก แต่เราพอรู้ว่าดีกว่าประเทศเกาหลีใต้มาก ส่วนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เรารู้แต่ว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ ประชาชนอดอยากแร้นแค้นมาก รู้แบบเด็กว่าเขามีประชากรมาก แย่และด้อยกว่าเราแยะมาก

ความมีชีวิตชีวา และรู้จักมองบ้านเมือง ก็ตอนที่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ แค่ได้เข้ามหาวิทยาลัยหนึ่งในสามแห่งที่เรารู้จัก คือยังมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราก็อดภูมิใจในตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว แถมยังคิดในใจลึกๆ ว่าสักวันเราจะเป็นโน่นเป็นนี่ สรุปได้ว่าเราจะรับราชการรับใช้ประเทศชาติ หรือไม่ก็ต้องประกอบอาชีพอิสระที่มีหน้ามีตากันละ

Advertisement

หัวใจเราพองโตขึ้นมาก หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติ ทุกคนรุ่นนั้น คงจำกันได้ดีตอนที่ท่านจอมพลสฤษดิ์เดินนำขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และได้ยินเสียงกรอกหูแทบทุกวันถึงมอตโต หรือคำขวัญต่างๆ ที่รัฐบาลท่านปล่อยออกมาปลุก
ระดมคนไทยให้ฮึกเหิมตามท่าน เช่น “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” “ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์” “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เป็นต้น

เพื่อนคนหนึ่งได้แทรกขึ้นมาว่า ต่างกับสมัยนี้ ไม่ต้องทำงานแค่ไปลงทะเบียน ก็รับเงินบันดาลสุขได้โว้ยไม่ดีกว่าหรือ เพื่อนที่ร่วมวงคนอื่นก็ได้แต่ส่ายหัวและยิ้มแหยๆ

ที่พวกเราจำได้ดีมากๆ ก็คือการสั่งฆ่าคนที่ป่วนเมืองด้วยการลอบวางเพลิงในกรุงเทพมหานครด้วยมาตรา 17 ซึ่งเป็นอำนาจที่ให้แก่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ มาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวสมัยนั้น ก็เหมือนเป็นปู่ของมาตรา 44 ที่คนไทยสมัยนี้รู้จักกันดี ที่เกิดจากคณะ คสช.ที่ดีแต่ลอกมานั่นเองเวลาห่างกันร่วม 60 ปี ยังมีการลอกของรุ่นคุณปู่มาใช้ แทบไม่มีความคิดอ่านใหม่ๆ เสียเลย

ก่อนจะเลยเถิดไปพูดเรื่องการเมืองต่อ หรือพูดเรื่องที่ท่านนายกฯจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นนายกฯที่มีม่ายผ้าขาวม้าแดงมากมาย และเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นต้นฉบับของการเป็นนายกฯต้องคอร์รัปชั่นแล้วถูกยึดทรัพย์ในภายหลัง ซึ่งเรื่องเหล่านี้พวกเราเห็นว่าบางเรื่อง เช่น การคอร์รัปชั่นนั้น มีสืบเนื่องมาแทบทุกยุคทุกสมัย

เพื่อนที่นั่งเงียบอยู่นานคนหนึ่งได้ขัดคอขึ้นมาว่า “นี่ นี่ ไอ้คอร์รัปชั่นนั้น นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งเขาทำได้ดีกว่าและมากกว่าก็มีโว้ย”

แต่ผมซึ่งเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ก็ต้องพูดให้เพื่อนๆ เห็นความดีของท่านจอมพลสฤษดิ์ ขวัญใจของคนไทยในสมัยนั้นว่า ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี 4 ปีเศษ แต่ได้ทำความดีที่เรียกว่า การเปลี่ยนประเทศไทยคือเปลี่ยนได้จริงๆ ในเรื่องการจัดให้มีการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นได้ในสมัยนั้น เทียบดูกับสมัย คสช.ที่บริหารประเทศนานถึง 5 ปี ไม่สามารถมองเห็นอะไรมาทาบท่านได้เลย

ท่านจอมพลสฤษดิ์ได้ทำคุณงามความดีอะไรบ้าง คนสมัยนี้อาจไม่รู้กัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ท่านได้ดึงธนาคารโลกมาให้ความช่วยเหลือไทย โดยได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาช่วยงานแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศไทย ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกับพลเรือนผู้เชี่ยวชาญที่ถูกจัดเป็นทีมเข้ามาประสานงานและเรียนรู้ โดยใช้เวลาทำงานกันอย่างเอาจริงเอาจังถึงร่วมปี แล้วเราก็ได้นำข้อเสนอแนะของธนาคารโลกมาใช้พัฒนาประเทศโดยทันที โดยได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น ที่เรียกว่าสภาพัฒน์ ได้จัดตั้งบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้น ได้จัดตั้งธนาคารทหารไทยขึ้น ได้จัดตั้งกระทรวงพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เป็นต้น

ที่ท่านจอมพลสฤษดิ์สามารถจัดทำสิ่งที่ดีๆ ให้ประเทศชาติได้มากมายในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า ท่านได้นำพลเรือนที่ดีและเก่งมาช่วยงานท่านมาก คนที่เข้ามาช่วยท่านก็เต็มใจทำงานให้เพราะจอมพลสฤษดิ์ท่านใช้คนเป็น ท่านไม่ได้เชื่อถือเพื่อนร่วมรุ่น หรือเพื่อนพ้องน้องพี่ที่จ้องแต่เอาผลประโยชน์อย่างเดียวมาเป็นสรณะเหมือนผู้นำบางคน ผู้ทรงคุณวุฒิสมัยโน้นที่เข้ามาช่วยท่านบริหารบ้านเมืองที่พวกเราพอจะจำชื่อได้ เช่น ท่านหลวงวิจิตรวาทการ ท่าน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่าน ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ท่านสุนทร
หงส์ลดารมภ์ ท่านถนัด คอมันตร์ เป็นต้น

นี่ นี่ การที่รัฐบาลนี้ทำนโยบายชิม ช้อป ใช้ ตั้ง 2-3 ครั้งนี้ดีไหม เป็นคำถามทะลุกลางปล้องขึ้นมา จากเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นทนาย หลังจากวิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างสนุกปาก ก็สรุปกันได้ว่า นโยบายชิม ช้อป ใช้ เหมือนการซื้อคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มีผิด เพียงแต่รัฐแจกเงินแบบมีการใช้เครื่องมือ IT เข้ามาช่วยก็จะได้คนละพันบาทเท่าๆ กัน ก็พอๆ กับพรรคการเมืองใหญ่เล็กที่ทำกันในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านๆ มา โดยชิม ช้อป ใช้ 2 ครั้งที่ผ่านมา ใช้งบหลวงไปประมาณ 20,000 ล้านบาท ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณรายจ่าย และที่ใช้วิธีให้คนจนควักเงินส่วนตัวไปสมทบใช้นั้น จะมีคนจนสักกี่คนที่ทำกันได้นอกจากคนจนแถวทำเนียบรัฐบาล

ผลจากการซื้อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองผู้แทนของพรรคก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เสร็จแล้วเป็นไงประชาชนคนไทยมีอะไรดีขึ้นบ้างไหม ประเทศมีปฏิรูปอะไรบ้างไหม ก็เป็นเหมือนเด็กได้รับแจกขนมหรือลูกอมครั้งหนึ่งๆ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน แต่คนไทยที่ยากจนนั้นชอบรับของที่คนอื่นให้ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็ติดใจแจกอีกก็รับอีก การซื้อคะแนนเสียงของไทยจึงมีมาตลอด

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ก็มีการอนุมัติเฟส 3 ก็คงใช้เงินอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดจะทำยาวข้าราชการที่ทำงานให้ก็เหนื่อยแทบตาย แต่ทำไงได้เป็นข้าราชการก็ต้องรับคำสั่ง ถามจริงๆ เถอะได้อะไรที่มั่งคั่งและยั่งยืนบ้างจากนโยบายชิม ช้อป ใช้ นอกจากเรื่องซื้อเสียงแบบถูกต้องตามกฎหมาย

เฮ้ย นี่ยิ่งกว่านโยบายประชานิยมละโว้ย ยอดจริงๆ หว่า! นี่เป็นเสียงอุทานออกมาจากเพื่อนคนหนึ่ง

เอ้า ถามจริงๆ เถอะวะ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาล คสช.เขาได้ทำการปฏิรูปประเทศไทยตามเหตุผลของการปฏิวัติที่ถูกแต่งเป็นเพลงให้ร้องกันทั้งเมืองว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” บ้างหรือเปล่า เพื่อนอีกคนนำเข้าสู่เรื่องยาก เพื่อนอีกคนที่ปากจัดหน่อยตอบขึ้นมาทันทีว่า ปฏิรูปอะไรโผล่มาให้เห็นบ้างไหม

มีซี ก็ปฏิรูปมหาวิทยาลัยเห็นไหม มีการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาขึ้นมาปลายสมัย คสช. เชียวนะ นี่เป็นเสียงค้านจากเพื่อนที่นั่งเงียบอยู่ข้างๆ

โอ้ย นั่นมันแค่การรวบรวมงานที่มีอยู่มาแยกออกเป็นกระทรวง รัฐบาลไหนก็ทำได้โว้ย เพื่อนคนเดิมรีบค้านทันที

เฮ้ย มีโว้ยการปฏิรูปที่เห็นชัด ก็การปฏิรูปภาษีไง ไอ้หมายมันไปทำกฎหมายภาษีมรดกออกมาใช้ตั้ง 2 ปีแล้ว จำไม่ได้หรือ การพูดคุยเริ่มออกรสชาติเพราะมีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย

นี่จะเล่าเบื้องหลังเรื่องกฎหมายภาษีให้ฟังหน่อย ผมเห็นท่าจะออกนอกเรื่องจึงเข้ามาเสริมหน่อยคือ ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล คสช. ชุดแรก คณะ คสช.เขาไปได้แนวคิดมาจากผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังในสมัยนั้นว่า การปฏิรูปภาษีที่ควรต้องทำและเป็นที่ยอมรับของประชาชน คือ ประการแรกต้องออกภาษีมรดกให้ได้ เดาเอาว่าคนที่เสนอรู้ไม่ลึกว่าภาษีนี้มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในหลายประเทศว่าเก็บกันไม่ค่อยได้เงินเพราะมีวิธีการหลบเลี่ยงมากมายหลายช่องทาง แต่เมื่อเป็นนโยบายของ คสช. กระทรวงการคลังก็ต้องเข็นออกมาให้ได้

นอกจากภาษีมรดกแล้ว ยังมีภาษีทรัพย์สินอีกอย่าง เรื่องนี้คือยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่อันแสนจะโบราณเต่าล้านปี เก็บได้นิดๆ หน่อยๆ ให้ท้องถิ่น เป็นเหตุให้ท้องถิ่นต้องเอาแต่ของบจากรัฐบาลกลางอยู่ตลอดมา ภาษีนี้ถ้าเกิดขึ้นจะได้เงินภาษีมามากซึ่งต้องยกให้ท้องถิ่นไปใช้พัฒนาตนเอง ฟังดูสวยหรูดีมากแต่พอเริ่มร่างเป็นพระราชบัญญัติเข้า ครม.ก็ผ่านเข้าไปสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตามขั้นตอนแล้วก็ผ่านออกมา จนเข้าสู่สภาที่เรียกว่า “สภา สนช.” ทุกท่านคงจำได้ดี แล้วก็ถูกบรรจุเข้าวาระให้คณะกรรมาธิการพิจารณา

เพื่อนๆ รู้บ้างไหมว่า เรื่องพระราชบัญญัติภาษีทรัพย์สินนี้มีการพิจารณาในคณะกรรมาธิการของสภา สนช.ถึงร่วม 3 ปี และมีการแก้ไขเละเทะจนแทบไม่เห็นร่างเดิม มีการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินซึ่งก็คือบ้านและที่ดินที่จะต้องถูกเสียภาษีให้สูงขึ้น จากเดิมเสนอไปว่ามูลค่าประมาณ 10-15 ล้าน ก็ต้องเสียภาษี แต่เสียต่อปีไม่มากกว่าค่าต่อทะเบียนรถยนต์หนึ่งคัน ส่วนที่มูลค่ามากกว่านั้น ก็ขยับเก็บสูงขึ้นเป็นขั้นบันได ให้คนมีฐานะดีจ่ายเงินให้ท้องถิ่นมากขึ้น แต่ในที่สุดหลังการพิจารณาในคณะกรรมาธิการของ สนช. กฎหมายนี้จะเก็บภาษีจากบ้านและที่ดินที่ราคาประเมินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ต่ำกว่าราคานี้ไม่ต้องเสียภาษีทรัพย์สิน

อย่างนี้จะได้เงินที่ไหนมาให้ท้องถิ่นในต่างจังหวัดเขาพัฒนา อย่างนี้กรุงเทพมหานครจะเอาเงินที่ไหนมาแก้ปัญหารถติดเป็นตังเมเพราะมีคอขวดอยู่ทั่วกรุงเช่นทุกวันนี้ เอาแต่สร้างทางด่วนให้รถมากมายมหาศาลไปจอดและขับไปเอื่อยๆ เป็นประจำวันทุกสาย เอาแต่สร้างรถไฟฟ้าให้คนต้องกระเสือกกระสนนั่งมอเตอร์ไซค์มาขึ้นที่สถานีทุกแห่ง นี่มันพัฒนาด้วยสมองตื้อๆ ของไอ้ตี๋ไหนก็ไม่รู้

เรื่องตำนานของภาษีทรัพย์สินนี้ยังอาจไม่จบลงง่ายๆ ทั้งๆ ที่กฎหมายยักแย่ยักยันนี้ได้ผ่านการพิจารณาจนจบสิ้นแล้ว และได้มีประกาศออกมาว่าจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ แต่ดูท่าทางจะยังไม่ได้ใช้เพราะอาจมีปัญหาเรื่องกฎหมายลูกออกมาไม่ทัน

สรุปแล้วการปฏิรูปเรื่องภาษีโดยการออกภาษีทรัพย์สินนี้มีพฤติกรรมการยื้อการดึงในสภา สนช.อย่างเห็นได้ชัด ที่เห็นๆ ก็คือ คสช.ไม่เคยเร่งรัดให้ออกมาเร็วและแถมยังมีการให้ความสนใจที่น้อยมากจากหน่วยงานในขั้นเตรียมการและขั้นปฏิบัติการ อย่างนี้จะเรียกว่าการปฏิรูปหรืออะไรกันแน่ มันเป็นการพายเรือในอ่างโชว์ชัดๆ

เฮ้ย กูมีตัวอย่างการปฏิรูปของรัฐบาล คสช. จริงๆ โว้ย เพื่อนคนหนึ่งที่นั่งฟังคนอื่นอยู่นานระเบิดอารมณ์ออกมา มีหรือ ของจริงหรือ เพื่อนที่ไม่เห็นด้วยถามหาด้วยความสนใจ

เพื่อนคนที่ว่าก็ยกมือชี้หน้าเพื่อนทุกคนแบบท่านนายกฯ แล้วก็พูดเสียงดังว่า “ก็การปฏิรูปกองทัพไง ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีทั้งซื้อรถถังหุ้มเกราะ เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ และเรือดำน้ำครบทุกกองทัพเลยเพื่อน เห็นรึยังว่าเป็นการปฏิรูปขนาดไหน ปั๊ดโธ่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image