จับตาศึกซักฟอก‘รบ.บิ๊กตู่’ ส่อเค้าดุเดือดโยง‘คสช.’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะมีการอภิปรายก่อนวันที่ 20 ธันวาคม

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อยากเห็นการอภิปรายครั้งนี้มีการหาข้อมูลหลักฐานให้แน่น แสดงให้ประชาชนได้เห็นชัดๆ ว่าการทำงานของรัฐบาลมีจุดอ่อนและข้อบกพร่อง ดังนั้นผู้อภิปรายต้องหาข้อมูลเก่ง อภิปรายได้ประทับใจ เรื่องสำคัญคือขณะนี้มีข้อมูลลึกในระดับใดบ้าง มีจริงหรือไม่ ส่วนการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ การอภิปรายการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.น่าจะหนักพอควร รวมถึงรัฐมนตรีบางรายที่เคยต้องโทษคดียาเสพติด จุดอ่อนในการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การรับเงินสินบนข้ามชาติ การบริหารธุรกิจพลังงาน การจัดซื้ออาวุธราคาสูงจะต้องเอาราคาจริงมาแฉ ความเดือดร้อนของประชาชนจากสินค้าราคาแพง เชื่อว่าจะเอามารวมกันหมด และการอภิปรายคราวนี้ไม่ได้มองว่าเร่งรีบ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วงนี้ก็ต้องรอสมัยประชุมสภาครั้งหน้า

Advertisement

สำหรับความหวังที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงคงไม่มี เนื่องจากรัฐบาลเตรียมตัวมาดีทั้งข้อมูลสนับสนุนและมีน้ำเลี้ยง รัฐบาลต้องมีชัยชนะจากการยกมือ จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้มี ส.ส. 3 รายของพรรคฝ่ายค้านยกมือโหวตให้รัฐบาล ดังนั้นหลังอภิปรายต้องจับตามองทิศทางและอนาคตของจำนวน ส.ส.งูเห่าใน 2 พรรคใหญ่ของฝ่ายค้าน อาจมีเพิ่มหากมีการต่อรองลงตัว เพราะบางคนอาจจะมองไม่เห็นอนาคตทางการเมืองของตัวเอง

ถ้ามองอีกด้านหากฝ่ายค้านอภิปรายดีมีน้ำหนัก ต้องดูว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะกล้ายกมือหนุนหรือไม่ ขณะที่ต้องถนอมตัวเอาไว้ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหลังจากนั้นสื่อและประชาชนจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์เปิดแผลเพิ่ม อาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีบางคน

 

Advertisement

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ว่างเว้นมานานหลายปี หลังมีการยึดอำนาจในปี 2557 แต่หลังจากรัฐบาลใหม่ทำงานได้ไม่นาน มีคำถามว่าสมควรจะมีการอภิปรายหรือไม่ ถ้าดูจากการดำเนินนโยบายในช่วง 4-5 เดือนก่อน แทบจะไม่มีประเด็นอะไรให้อภิปรายแบบทันทีทันใด ที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทำอะไรผิดพลาดหรือทำอะไรที่แตกต่างจากรัฐบาลยุค คสช. ขณะที่รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ใช้งบประมาณใหม่ปี 2563 อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสภา แต่การอภิปรายครั้งนี้เชื่อว่าน่าจะสะกิดให้ประชาชนเห็นความไม่ชอบมาพากลบางประการ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นสิ่งที่รัฐบาลจงใจมีเจตนาหรือทำให้ประชาชนรู้สึกว่าน่าสงสัย ส่วนตัวเชื่อว่าเหตุผลของฝ่ายค้านน่าจะน้อยเกินไป

ถ้าจะถามการอภิปรายมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ส่วนตัวเห็นว่าโครงการชิมช้อปใช้ที่รัฐบาลหวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการให้ประชาชนใช้จ่ายเงิน มองว่าชวนให้คนทั่วไปตั้งข้อสังเกตว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เป็นวิธีการที่สมควร มีความเหมาะสมแค่ไหน ส่วนตัวบุคคลยังมองไม่เห็นการคอร์รัปชั่น ที่ชัดเจน แต่จากการเฝ้าสังเกตการณ์เพื่อดูบทบาทการทำงานของ ส.ส.ในสภาที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรใหม่ เพราะมีการมุ่งโจมตีคุณสมบัติส่วนตัวของฝ่ายบริหาร การโจมตี ส.ส.ด้วยกันในเรื่องส่วนตัว แต่การอภิปรายครั้งนี้ หากจะทำให้การทำงานได้รับความศรัทธาเพิ่มขึ้น ฝ่ายค้านควรอภิปรายให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย มีข้อมูลชัดเจน ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องตอบให้ตรงประเด็น อย่าใช้การยกมือประท้วงให้วุ่นวาย

สำหรับความคาดหวังกับดาวสภาแจ้งเกิดในการอภิปรายครั้งนี้ โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยมี ส.ส.เก่าเคยอภิปรายได้ดี มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่ครั้งนี้หลายคนไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ คงไม่เป็นปัญหา เนื่องจากทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขตของทุกพรรคการเมืองมีความสามารถทำหน้าที่ได้ สำคัญคือมีประเด็นพูดหรือไม่ ก่อนหน้านี้ประชาชนได้เห็นแล้วว่าช่วงที่มีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มี ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหลายพรรคที่อภิปรายได้ดีกว่า ส.ส.เขตบางราย

ดังนั้นการอภิปรายครั้งนี้ก็น่าจะมีความหวังว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อจะใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ แสดงให้เห็นความบกพร่องหรือจุดอ่อนของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีบางราย ส่วนเป้าประสงค์หลังอภิปราย ทั้งบทบาทลีลาของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เชื่อว่าจะไม่มีผลกับความเปลี่ยนแปลงแม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีเสียงห่างกันไม่มาก ส่วนตัวยังไม่เข้าใจว่าจะรีบเปิดอภิปรายไปทำไม

 

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คิดว่าฝ่ายค้านคงเต็มที่ เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้วทำได้ครั้งเดียวต่อ 1 สมัยประชุม ถามว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ส่วนตัวยังไม่เห็นว่าจะกระทบ เพราะที่ผ่านมาก็ยังเห็นภาพของฝ่ายค้านเองที่เสียงแตก จึงมองว่ารัฐบาลน่าจะไปต่อได้ แต่การไปต่อได้ในที่นี้ หมายถึง
การไปต่อในลักษณะของกระบวนการรัฐสภา ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อประชาชนหรือต่อสาธารณชนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ต้องเข้าใจว่าถึงแม้ในขณะนี้เราใช้รัฐสภาปกติ ไม่มี คสช.แล้ว แต่กลไกการควบคุมความรู้สึกนึกคิดของประชาชนออกมาในรูปแบบของกฎหมายอื่นๆ ดังนั้น ต่อให้ประชาชนรู้สึกไม่ค่อยดี แต่ก็คิดว่าคงทำอะไรไม่ได้มาก เรื่องจริงๆ ที่ควรโฟกัสคือการใช้จ่ายงบประมาณ ในหลายๆ เรื่องเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าไม่เป็นไปตามกระบวนการ

สำหรับประเด็นคอร์รัปชั่น ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมี เพราะเป็นประเด็นจุดติดง่าย คิดว่าฝ่ายค้านคงหามาเล่นให้ได้ แต่จะเล่นกับคอร์รัปชั่นของอะไรนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

วีระศักดิ์ เครือเทพ
รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 ถือว่ามีเหตุผลรับฟังได้ เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันทำงานสืบเนื่องมาจากรัฐบาลยุค คสช. บางคนอาจบอกว่าเปิดอภิปรายเร็วไป แต่ถ้าดูการทำงานที่ต่อเนื่องกว่า 6 ปี ถือว่านานพอสมควร ดังนั้นการเปิดอภิปรายจึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสม จากนั้นถ้ามองการทำงานของรัฐบาลนี้ในช่วง 4-5 เดือน ขณะที่การบริหารครบ 6 เดือน จะมีการประเมินผลงานและเชื่อว่าจะมีข้อมูลโยงไปถึงการทำงานในยุครัฐบาล คสช.ด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยถูกหยิบยกมาอภิปราย คาดว่าการอภิปรายจะใช้เวลา 2 วัน สำหรับรัฐบาล คสช. ส่วนอีก 1 วัน เป็นการอภิปรายรัฐบาลใหม่ หากใช้เวลามากเกินไปอาจทำให้น่าเบื่อ และเชื่อว่าฝ่ายค้านคงไม่หวังถึงล้มรัฐบาลแต่อาจจะต้องปรับ ครม.

สำหรับข้อมูลที่นำไปอภิปรายอาจมีข้อมูลใหม่และข้อมูลเดิม โดยเฉพาะการอภิปรายปัญหาจากการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองทอง เพื่อหาผู้รับผิดชอบ ใครเป็นต้นเหตุหากจะต้องจ่ายค่าโง่ แล้วอาจโยงไปถึงโครงการโฮปเวลล์ ส่วนของใหม่ ฝ่ายค้านจะพูดเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง อาจถูกมองว่าวิกฤตจากตัวเลขจีดีพี รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร ถือเป็นเป้าใหญ่ ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านจะโฟกัสรูรั่วของโครงการชิมช้อปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มเป้าหมายคนจนเข้าถึงจริงหรือไม่ รวมไปถึงการเจาะข้อมูลตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณ จากโครงการประกันรายได้ผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้นจะมีการเจาะเป้าหมายไปถึงรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะมีหลายเรื่องไม่ชัดเจนด้านการใช้งบประมาณ ส่วนนายกรัฐมนตรีจะโดนอภิปรายในประเด็นทางกฎหมาย เช่น ตกลงจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่เป็นในสถานะใด การแถลงนโยบายและที่มาของการใช้งบประมาณปี 2563

หลังอภิปรายจบ เชื่อว่าน่าจะมีงูเห่าระหว่างการยกมือในสภา เพราะพรรคร่วมบางพรรคอาจจะไม่โหวตให้รัฐมนตรีบางราย ในทางกลับกันฝ่ายค้านจะมีงูเห่าด้วยหรือไม่ เชื่อว่าจะมี แต่ไม่มาก เพราะถ้าหากมีการอภิปรายเจาะไปที่บุคคลใดแล้วทำให้มีภาพลักษณ์ไม่ดีประชาชนไม่ยอมรับ แล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านยังฝืนยกมือให้อีกก็อาจจะเป็นผลเสีย และการอภิปรายครั้งนี้คงไม่มีผลกับการเลือกตั้งซ่อมที่ เขต 7 จ.ขอนแก่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image