แผนแพทย์ไทยย้ำ‘นวดไทย’ ต้องได้มาตรฐาน เพื่อบำบัดรักษา ไม่ใช่การแอบแฝงสถานบริการกาม

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ก่อนการนำเสนอขึ้นทะเบียน “นวดไทย Nuad Thai” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) นั่นทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการนวดไทยในปี 2563-2565 ที่ผ่านความเห็นจากองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว การนวดไทยมีการใช้ในหลากหลายรูปแบบ การที่ยูเนสโกประกาศรับรองการนวดไทย ดังนั้น คนไทยทุกคนและประเทศชาติจะต้องได้ประโยชน์โดยสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจจากการนวดไทย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า การนวดไทยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับครัวเรือน/ชุมชน เป็นการนวดเพื่อผ่อนคลาย นวดโดยประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นหรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ 2.ระดับการนวดเพื่อสุขภาพในสถานประกอบการ โดยจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)และผ่านพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สถานประกอบการเพื่อสุขภาพก่อนจึงให้บริการนวดกับผู้รับบริการได้ 3.ระดับการนวดวิชาชีพเพื่อการบำบัดรักษา ที่เป็นการนวดในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล(รพ.)ภายใต้การดูแลของ สธ. ที่จะต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่จะต้องผ่านการรับรองจากสภาการแพทย์แผนไทย โดยก่อนจะได้รับใบรับรองนั้นจะต้องผ่านการเรียนจากสถาบัน/สถานศึกษาที่ได้รับการรับรองใน 2 ช่องทาง ได้แก่ การเรียนในสถาบันการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีการแพทย์แผนไทย หลักสูตร 4 ปี ที่มีประมาณ 20 แห่ง อาทิ  คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยามหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้ที่เรียนจะได้รับความรู้เรื่องเวชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทยและนวดไทย เป็นต้นและอีกทางคือ การเรียนในสถาบัน สมาคม หรือชมรมต่างๆ ที่ได้รับการอนุญาตจากสภาการแพทย์แผนไทยให้เผยแพร่การเรียนนวดเพื่อการบำบัดรักษา อาทิ นวดแผนไทยวัดโพธิ์ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 100 แห่งที่ผ่านการรับรอง

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การเรียนแพทย์แผนไทยทั้ง 2 ช่องทาง หากเรียนเพื่อเป็นแพทย์แผนไทยวิชาชีพระบุว่าผู้เรียนจะต้องเรียนอย่างน้อย 800 ชั่วโมง โดยแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการนวดไทยในปี 2563-2565 จะมีการปรับให้มีการเรียนอย่างน้อย 1,200 ชั่วโมงตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก(WHO) หรือการเรียนเพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยจะต้องเรียนประมาณ 330 ชั่วโมง เป็นต้น หลังจากนั้นผู้เรียนจะต้องสอบวัดมาตรฐานความรู้ทักษะกับสภาการแพทย์แผนไทย และเมื่อผ่านการสอบวัดมาตรฐานแล้วจึงจะได้รับใบรับรองในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่ผ่านการรับรองใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยแล้วประมาณ 200 คน

ทั้งนี้ นพ.ปราโมย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันการนวดของไทยจะต้องมีการอธิบายให้ชัด และระดับฝีมือของการนวดจะต้องมีมาตรฐาน เช่น การนวดเพื่อบำบัดรักษา จะต้องมีทักษะที่ดีกว่าและมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าการนวดระดับอื่น เนื่องจากขณะนี้การนวดเพื่อสุขภาพมีค่าตอบแทนมากกว่าการนวดเพื่อบำบัดรักษาที่ได้รับเพียง 200-250 บาทต่อการนวด 1 ครั้ง แต่การนวดเพื่อสุขภาพคิดเป็นการนวดรายชั่วโมงจึงได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้น จะต้องเร่งแก้ไขและส่งเสริมการนวดบำบัดรักษาโรคให้มีกลไกในการเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น

Advertisement

“ขณะนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะดำเนินการพัฒนาผู้ให้บริการ สถานที่ให้บริการให้เป็นที่ยอมรับ จะต้องยอมรับตรงๆว่า ตอนนี้การนวดไทยก็ยังไม่เป็นระเบียบ เราจะต้องทำการแบ่งให้ชัดว่าเป็นการนวดระดับชุมชน การนวดเพื่อสุขภาพ การนวดบำบัดรักษา เนื่องจากการนวดไทยก็มีการนำไปใช้ไม่ถูกวิธีและการแอบแฝงเยอะ เราไม่อยากให้ตรายูเนสโกไปหลุดอยู่ในสถานประกอบที่เป็นการบริการทางเพศแอบแฝง ดังนั้นเราจะต้องพัฒนาการให้บริการในเป็นระเบียบ” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image