สุวรรณภูมิในอาเซียน : สุนทรภู่ รอบรู้ตำนานนิทาน ทั้งของไทยและเพื่อนบ้าน

พระประธม สมัย ร.3 ในนิราศพระประธมของสุนทรภู่ ยังไม่มีรูปร่างอย่างนี้ หลังปฏิสังขรณ์สมัย ร.5 จึงได้ชื่อพระปฐมเจดีย์ (ภาพนี้ถ่ายสมัย ร.6)

สุนทรภู่ มีประสบการณ์สูงมากเกี่ยวกับตำนานนิทาน ทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน รวมถึงจีน, อินเดีย ฯลฯ มีพยานหลักฐานอยู่ในงานวรรณกรรมของท่านเอง

โดยเฉพาะพระอภัยมณี ผูกเรื่องโดยได้พื้นฐานจากตำนานนิทานเหล่านั้น แล้วสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ รูปแบบใหม่ ในสถานการณ์ใหม่ทางการเมืองล่าอาณานิคมของยุโรป

เป็นพยานสำคัญว่าตำนานนิทานแม้ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องแต่ง แต่มีพลังสูงมาก ผลักดันให้สุนทรภู่สร้างสรรค์พระอภัยมณี วรรณกรรมการเมืองระหว่างประเทศ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

ตำนานปราสาทพิมาย

ประสบการณ์แรกสุดของสุนทรภู่ รู้ตำนานนิทานเรื่องอะไร? ไม่มีหลักฐานบอกได้ตรงๆ

Advertisement

แต่ตำนานนิทานชุดแรกๆ หรือกลุ่มแรกๆ ที่สุนทรภู่อ่านจริงจัง แล้วรับแนวคิดต่างๆ ไปสร้างสรรค์ ได้แก่ ปาจิตกุมาร (กลอนอ่าน) หรือตำนานปราสาทพิมาย (จ.นครราชสีมา) หรือนิทานชื่อบ้านนามเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้

ปาจิตกุมารกลอนอ่านแต่งเป็นกลอนแปด (ไม่มีชื่อกวีผู้แต่ง) ยุคต้นกรุงธนบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2316 (ก่อนสุนทรภู่เกิด สมัย ร.1 พ.ศ. 2329)

สุนทรภู่ เป็นผู้ดีบางกอก เกิดในวังหลัง สมัย ร.1 อยู่เรือนแพ ปากคลองบางกอกน้อย (รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ. นครปฐม)
สุนทรภู่ เป็นผู้ดีบางกอก เกิดในวังหลัง สมัย ร.1 อยู่เรือนแพ ปากคลองบางกอกน้อย (รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ. นครปฐม)

ตำนานพระปฐมเจดีย์

พญากง พญาพาน เป็นนิทานบอกเล่าการสร้างพระปฐมเจดีย์ (สมัยสุนทรภู่เรียกพระประธม) กับพระประโทนเจดีย์ ที่นครปฐม

Advertisement

สุนทรภู่แต่งนิราศพระประธมเมื่อกลับจากเดินทางไปนมัสการ สมัย ร.3 พ.ศ. 2384 (หลัง ร.4 เสด็จธุดงค์ พ.ศ. 2374) เล่าเรื่องพญากง พญาพาน หรือนิทานลูกฆ่าพ่อ แล้วสร้างสถูปสูงเท่านกเขาเหินไว้ล้างกรรม ดังนี้

ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราชย์                 เรียงพระญาติพระยากงสืบวงศา

เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา                      กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน

พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง                     ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ

พระยากงส่งไปให้นายพราน                    ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย

ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง                        แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย

ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย                   ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง

ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว                    แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง

รู้ผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง                     มีกำลังลือฤทธิพิสดาร

พระยากงลงมาจับก็รับรบ                  ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร

ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาพาน                     จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ

เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล                     จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์

เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ                        ด้วยความนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน ฯ

ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด                      ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล

เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์                    จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน

แทนคุณตามความรักแต่หักว่า                         ต้องเข่นฆ่ากันเพราะกรรมเหมือนคำโหร

ที่ยายตายหมายปักเป็นหลักประโคน                      แต่ก่อนโพ้นพ้นมาเป็นช้านาน

จึงสำเหนียกเรียกย่านบ้านยายหอม                  ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิอัธิษฐาน

ครั้นเสร็จสรรพกลับมาหาอาจารย์                       เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศีลา

จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ                  ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา

แล้วปลดเปลื้องเครื่องกษัตริย์ขัตติยา                ของบิดามารดรแต่ก่อนกาล

กับธาตุใส่ในตรุบรรจุไว้                  ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน

จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน                 คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง ฯ

ท้าวอู่ทอง

สุนทรภู่ฟังคำบอกเล่าชาวบ้าน แล้วจำตำนานนิทานเหล่านั้นไว้ เมื่อแต่งนิราศ ก็แทรกนิทานเกือบทุกครั้ง เช่น ท้าวอู่ทอง มีบ่อยๆ อยู่ในนิราศหลายเรื่อง

โคลงนิราศสุพรรณ ของ สุนทรภู่ มีบทหนึ่งกล่าวถึง บ้านทึง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตเมืองสุพรรณบุรี ความว่า

 

ผู้เฒ่าเล่าเรื่องหย้าน           บ้านทึง

ท้าวอู่ทองมาถึง               ถิ่นถุ้ง

แวะขอเชือกหนังขึง          เขาไม่ ให้แฮ

สาปย่านบ้านเขตคุ้ง            ขี้ทึ้งทึงแปลง ฯ (235)

 

กลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ พรรณนาถึงบ้านสามโคก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตเมืองปทุมธานีว่า

 

พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก              เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย

ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้                     ว่าท้าวไทยพระอู่ทองเธอกองทรัพย์

หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง              ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ

พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ               ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง

พระปฐมเจดีย์ ถ่ายโดยคาร์ล ดอร์ริง ราว พ.ศ. 2449 – 2456 (ภาพจาก Karl Döhring.Buddhist Stupa (Phra Chedi) Architecture of Thailand. Thailand : White Lotus Press, 2000)
พระปฐมเจดีย์ ถ่ายโดยคาร์ล ดอร์ริง ราว พ.ศ. 2449 – 2456 (ภาพจาก Karl Döhring.Buddhist Stupa (Phra Chedi) Architecture of Thailand. Thailand : White Lotus Press, 2000)

ส่วนกลอนนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ ก็พรรณนาบางขุนกองที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกน้อย ว่า

บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ

เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image