พื้นที่นวัตกรรมเพื่อดูแล เด็กและเยาวชนเปราะบาง โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ดานา โมหะหมัดรักษาผล

สถานการณ์ปัญหาเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทยที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะความเสี่ยงและความเปราะบาง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความท้าทายดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในปี พ.ศ.2553 จังหวัดศรีสะเกษติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในประเทศ ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เด็กและเยาวชนใช้สารเสพติด รวมถึงการอพยพย้ายถิ่น ภาวะครอบครัวเปราะบางและอ่อนแอลง

แต่ในปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องจนสามารถหลุดพ้นจากการเป็นจังหวัดยากจนได้ ปัญหาสถานการณ์ด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวดังกล่าวเบาบางลง อะไรเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของจังหวัดศรีสะเกษในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในจังหวัดของตนเอง ?

จากการศึกษาและวิจัยของศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ภายใต้โครงการการพัฒนาระบบและกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กเปราะบางจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 4 ได้พบว่าการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชนและประเทศควรมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม และได้ข้อค้นพบที่สำคัญคือ “การขาดกลไกส่วนกลาง” จึงเกิดแผนการขับเคลื่อนกลไกการป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษสำหรับเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ หน่วยกลางที่วิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาแนวทางสำหรับการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษกลายเป็นกลไกกลางที่สำคัญ บูรณาการประสานงาน และทำให้เกิดนวัตกรรมในการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด

Advertisement

โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่1) การจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) 2) การพัฒนานวัตกรรมการปกป้องคุ้มครองเด็ก และ 3) การดำเนินงานวิจัยและบริการวิชาการโดยมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ดังนี้

1)ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างกลไกกลางอย่างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กฯ กับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อจัดระบบฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลสถานการณ์เด็กเปราะบางโดยใช้เทคนิค Social Mapping จำนวน 453 ครัวเรือน ครอบคลุมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.พยุห์ อ.กันทรลักษ์ อ.ภูสิงห์ อ.ขุนหาญ และ อ.กันทรารมย์ จากนั้นนำข้อมูลมาจัดเก็บผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) โดยแสดงข้อมูลผ่านแผนที่ (Google Map) ระบุข้อมูล ตำแหน่ง สถานภาพครอบครัว ความต้องการและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของเด็กและเยาวชน ซึ่งการทำให้ข้อมูลอยู่ในสถานะออนไลน์นั้นช่วยให้คนทำงาน รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่สามารถแบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับดำเนินงานร่วมกัน และสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ง่ายยิ่งขึ้น

2)การพัฒนานวัตกรรมการปกป้องคุ้มครองเด็ก อาศัยกรอบการพัฒนาที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ด้าน คือ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งแนวทางการปกป้องและคุ้มครองเด็กโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบางของจังหวัดศรีสะเกษนั้นได้เสนอเป็นแนวทางการนโยบาย ปสพ. ได้แก่

Advertisement

ป. หมายถึง ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วยระบบกลไกในชุมชน ครอบครัว ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)

ส. หมายถึง ส่งเสริมอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนมีรายได้ที่เหมาะสมกับความรู้ ช่วงวัย และศักยภาพเพื่อช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว

พ. หมายถึง เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ได้แสดงออกตามความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาในทุกด้าน

เวทีการประกาศเจตนารมณ์แนวทางการขับเคลื่อนกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การออกแบบแนวทางการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลไก ได้แก่ กลไกยุทธศาสตร์คนเมืองศรีอยู่ดีมีแฮง กลไกภาครัฐในระดับจังหวัดและอำเภอ และกลไกภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของทีมพี่เลี้ยงคนทำงานกับเด็กและเยาวชน

3)การดำเนินงานวิจัยและบริการวิชาการโดยมหาวิทยาลัยท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษถือเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ ใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่นดึงต้นทุนและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาภายในชุมชน เช่น กลไกสร้างความเข้มแข็งชุมชนโดยผู้สูงอายุบ้านคำเมย อ.กันทรารมย์ มีผู้สูงอายุเป็นแกนนำพาเด็กทำกิจกรรม ปลูกผัก ฝึกฝนวัฒนธรรมท้องถิ่น สอนหนังสือให้ความรู้ ช่วยดูแลเด็กและเยาวชนในชุมชนให้ปลอดภัยจากยาเสพติด กลไกชุมชนป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของเด็กและเยาวชนบ้านละทาย อ.กันทรารมย์ เป็นกลไกระดับล่าง ขนาดเล็ก โรงเรียน ครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ท้องถิ่น สร้างความร่วมมือในชุมชนเพื่อคุ้มครองเด็กกลุ่มแม่วัยใส ให้ความรู้ด้านการดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์ สร้างอาชีพ แนวทางการใช้ชีวิตในอนาคต สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการท้องซ้ำ การสร้างพื้นที่การละเล่นพื้นบ้าน อ.พยุห์ ใช้การละเล่นพื้นบ้านอย่างหมากซีบ้าเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัย ทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมการละเล่นท้องถิ่น ส่งผลให้เด็กติดเกมน้อยลง เป็นต้น

นวัตกรรมทั้ง 3 ด้านข้างต้นเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการรวมพลังและค้นหานวัตกรรมจากชุมชน เพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาที่มีอยู่ ส่งต่อมายังการขับเคลื่อนนโยบายระดับอำเภอที่ถูกมองข้ามความสำคัญมาโดยตลอด นำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด เกิดความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความยากจน เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวช่วยยกระดับความเป็นอยู่และแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนโดยอาศัยฐานข้อมูลและความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ เกิดรูปแบบใหม่ในการทำงานผ่าน “การกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วมและรับผิดชอบ” ร่วมวางแผน ดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินงานในระดับตำบล อำเภอ และขยายสู่ในระดับจังหวัด

จึงอาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานกลางหรือกลไกส่วนจังหวัดและการขับเคลื่อนงานในระดับอำเภอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกลไกการดูแลเด็กและเยาวชนในระดับชุมชน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงในระดับหน่วยย่อยอย่างครอบครัว ไปจนถึงชุมชนและจังหวัด สร้างภูมิต้านทานแก่เด็กและเยาวชน จนกลายเป็นความสำเร็จของจังหวัดศรีสะเกษในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างน่าแปลกใจทั้งๆ ที่เคยเป็นจังหวัดติดอันดับยากจน 1 ใน 10 ของประเทศและหลุดพ้นอย่างยั่งยืนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image