แท็งก์ความคิด : ปลูกความสุข โดยนฤตย์ เสกธีระ

แท็งก์ความคิด : ปลูกความสุข โดยนฤตย์ เสกธีระ

มองเห็นคนไทยที่ออกไปเข้าคิวรับบริจาคข้าวของเนื่องจากขาดแคลนในช่วงโควิด-19 ระบาดแล้วปวดใจ

ประเทศไทยมีคนขาดแคลนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ “อยู่ได้-มีกิน” อีกมาก

ใครที่ได้เงินเยียวยาที่รัฐบาลดำเนินการให้ คงประทังความหิวไปได้ระยะหนึ่ง

ส่วนใครที่กลายเป็นคนไร้สิทธิ คงต้องทนความหิว กระทั่งสุดจะทนก็ออกมาเรียกร้อง

Advertisement

ดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตตัวเองและครอบครัวกันต่อไป

ในสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะสะสมเสบียงอาหารกันในบ้านด้วยวิธีการปลูกผัก

อย่างน้อยเมื่อไม่มีอะไรกิน พืชผักในรั้วบ้านก็พอจะประทังชีวิต

Advertisement

ช่วงนี้เห็นกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รณรงค์ให้คนไทยปลูกพืชผักสวนครัวแล้วปลื้ม

เห็นผู้ว่าราชการจังหวัดขานรับ แล้วนำไปสร้างสรรค์จนเป็นรูปธรรม ยิ่งปลื้มเข้าไปใหญ่

นี่แหละคือหนทางคลายความหิวทั้งในยามปกติ และยามเผชิญหน้ากับวิกฤต

ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจตกวูบ ทำให้หลายคนรายได้หดหาย

การกลับไปสู่ภูมิปัญญาทางการเกษตรก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้

อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความหิวลงได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะกับการเพาะปลูก

คนไทยทุกคนล้วนคุ้นเคยกับการเกษตร

แม้ที่ผ่านมาหลายคนผันตัวเองเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการบริการ จึงไม่ได้แสดงฝีมือปลูกพืชผักสวนครัว

แต่เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาเฉกเช่นขณะนี้ ทุกคนสามารถปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆ เพื่อตัวเองและครอบครัวได้

ในวันที่สตางค์หายากขึ้นเรื่อยๆ หากมีผักสวนครัวอยู่ในบ้าน

อาจช่วยเยียวยาค่าใช้จ่ายและความหิวลงได้

การปลูกพืชผักสามารถทำได้ทั้งแบบ “ลงดิน” และ “ลงกระถาง”

บ้านใครมีพื้นที่บริเวณรอบๆ บ้านก็มีทางเลือกทั้งปลูก “ลงดิน” และ “ลงกระถาง”

แต่ถ้าบ้านใครมีข้อจำกัด พื้นที่น้อย เช่น อยู่บนคอนโดมิเนียม อาจต้องใช้วิธีปลูกลงกระถางเพียงอย่างเดียว

ส่วนพืชผักที่ปลูก สามารถเลือกได้ตามพื้นที่และความชอบ

สามารถปลูกได้โดยใช้ “เมล็ดพันธุ์” หยดลงไปในดิน แล้วรดน้ำ

หรือจะใช้วิธีการ “กิ่งปักชำ” หรือใช้เหง้า หัว และลำต้นในการปลูก ก็สุดแล้วแต่

พืชผักแต่ละชนิดมีระยะเวลาการให้ผลผลิตแตกต่างกัน

ผักที่มีอายุสั้น เช่น ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ให้ผลผลิตได้ภายใน 2 เดือน

ผักที่มีอายุปานกลาง เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำดอก พริก มะเขือ แตงโม บวบ

พืชผักเหล่านี้ต้องใช้เวลา 2-5 เดือนถึงจะได้ผลิตผล

ส่วนใครจะปลูกพืชผักยืนต้น ซึ่งเมื่อปลูกแล้วสามารถเก็บเกี่ยวไปได้ต่อเนื่อง

อาทิ ผักหวาน กระถิน ชะอม โหระพา กระเพรา ขิง ข่า ขมิ้น เป็นต้น

ก็ไม่ว่าอะไร

หรือใครที่สนุกกับการปลูกผักแล้วยังจะปลูกไม้ผลเพิ่มบ้างก็ได้

แต่วันนี้มาชวนปลูกผักในยุคโควิด

มาชักชวนหลังจากประเมินสถานการณ์กันว่าวิกฤตจะอยู่ยาว

ในชีวิตนี้ หลายคนอาจเคยสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มามากมาย

บางคนทำงานก่อสร้าง มีโอกาสสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัย บางคนทำงานโรงงาน มีโอกาสสร้างสรรค์หลากหลายผลิตภัณฑ์

คนทำงานศิลป์ สร้างสรรค์ความงามอันวิจิตร ตามสาขาต่างๆ

ทุกวิชาชีพล้วนเคยสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มาแล้ว

ทำแล้วสำเร็จ สำเร็จแล้วมีความสุข

วันนี้หลายคนต้องกลับมาอยู่บ้าน จึงชวนให้มาปลูกผัก

ชวนให้หันมาสร้างสรรค์วัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตอาหาร

คนที่เคยปลูกแล้ว พืชผักที่ได้จากการปลูกคงสวยงามน่ารับประทาน

คนที่ว่างเว้นการปลูกมานาน พืชผักที่ออกมาอาจจะผอมเกร็ง

แต่ถ้าฝึกฝนอีกสักระยะ พืชผักที่ออกมาก็จะสมบูรณ์

เมื่อใดพืชผักที่เราปลูก สามารถนำมากินได้

ความภาคภูมิใจก็เกิดขึ้น

ภูมิใจเพราะผลิตผลที่ได้เกิดจากมือเรา

ผักที่ปลูกด้วยมือ อาจใช้รับประทานกันในครอบครัว

เมื่อปลูกได้ผลผลิตมากๆ อาจนำไปเผื่อแผ่แจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน

ความสำเร็จจากการปลูก การเผื่อแผ่ด้วยการให้ ล้วนแล้วแต่เป็นจุดกำเนิดของความสุข

เพียงแต่ เวลาที่นำเอาพืชผักไปให้เพื่อนบ้าน อย่าลืม สวมหน้ากากผ้า และ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19

สำหรับคนที่สนใจปลูกผัก แต่ลืมวิธีการไปแล้ว

ขอแนะนำให้เปิดดูในสื่อออนไลน์ ทั้งยูทูบ เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล

หรือจะแวะเวียนเข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างเว็บไซต์ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ต้นคิดโครงการปลูกผักสวนครัว ที่กำลังรณรงค์กันอยู่ในขณะนี้ เขาได้นำเอาวิธีปลูกพืชผักสวนครัวแต่ละอย่างมาลง

อ่านแล้วสนุก

แต่ถ้าใครได้ลงมือปลูกจริงๆ น่าจะสนุกยิ่งกว่า

ยิ่งถ้าได้เห็นผลิตผล ยิ่งมีความสุข จากความสำเร็จ

วันนี้มาชักชวนให้ปลูกผัก มาชวนชักปลูกความสุขให้แก่ตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image