ถึงเวลาคนทุกวัย เพลย์เซฟ หากโควิด-19 ปักหลักยาว 18 เดือน

ถึงเวลาคนทุกวัย เพลย์เซฟ หากโควิด-19 ปักหลักยาว 18 เดือน

เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังนิ่งๆ ทรงๆ ที่หลักหน่วย อย่าเพิ่งคาดหวังว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด จะยุติโดยเร็ว เพราะนี่เป็นเพียงการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำได้เท่านั้น แต่หากจะทำให้โรคยุติจริงๆ คือ การที่คนไทยและคนทั่วโลกได้รับวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้ยังคิดค้นกันอยู่ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ทั้งยังคาดว่าหากสำเร็จแล้วกว่าจะส่งมาถึงไทยได้ ก็น่าจะใช้เวลาถึง 18 เดือน

ในภาพรวมทุกคนกำลังเผชิญปัญหาด้วยกันหมด แต่ในทางเจเนอเรชั่นศึกษาพบว่า ปัญหาที่ทุกคนได้เผชิญ ล้วนมีความแตกต่างทางผลกระทบและความหมายที่รู้สึก เป็นโอกาสทำความรู้จัก ปรับตัว และช่วยกันเพื่อความอยู่รอด โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำออกเป็น 5 เจเนอเรชั่น ว่า

1.ไซเลนต์ เจเนอเรชั่น เกิดระหว่างปี พ.ศ.2468-2485 หรืออายุ 78-95 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้เคยผ่านวิกฤตการณ์สำคัญ อาทิ สงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทปี พ.ศ.2527 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 วิกฤตน้ำท่วมเมือง พ.ศ.2554 ซึ่งเมื่อเทียบกับวิกฤตโควิด-19 แล้ว คนกลุ่มนี้จะนึกถึงความยากลำบากในสงครามโลกมากกว่า เช่น การต้องวิ่งหนีระเบิด ย้ายที่อยู่ เป็นต้น

“แม้มีความตระหนกกับโควิด-19 แต่ไซเลนต์ เจเนอเรชั่น ก็หมดแรงที่จะทำอะไรแล้ว เมื่อไม่ค่อยได้พบปะกับใคร จะปรับตัวเข้าไปในโลกออนไลน์ก็ไม่ได้ คนกลุ่มนี้จึงได้แต่เงียบและรู้สึกอึดอัด ฉะนั้นนอกจากต้องได้รับการดูแลป้องกันโรคแล้ว จะต้องเยียวยาสภาพจิตใจ ซึ่งลูกหลานจะต้องให้การช่วยเหลือ ขณะเดียวกันจะต้องระวังตัวเองที่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อได้”

Advertisement

2.เบบี้บูม เจเนอเรชั่น คือคนสูงวัยตอนต้นที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2486-2505 หรืออายุ 58-77 ปี เป็นวัยใกล้เกษียณและเตรียมวางมือจากการทำงาน ถือว่าได้เปรียบกว่าไซเลนต์ เจเนอเรชั่น เพราะหลายคนเริ่มปรับตัวสู่โลกออนไลน์ได้แล้ว แม้จะยังใช้ไม่คล่องแคล่ว แต่ก็พอจะบรรเทาความเงียบเหงา จากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้

เป็น 2 เจนที่อาจไม่น่าห่วงเท่า 3 เจนที่เหลือจากนี้

Advertisement

โดยเฉพาะ 3.เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ เกิดระหว่าง พ.ศ.2506-2525 หรืออายุ 38-57 ปี เป็นวัยทำงานที่ต้องแบกภาระหนักสุดในสถานการณ์โควิด-19 เพราะต้องดูแลพ่อแม่ และดูแลลูกของตัวเอง

อ.ภูเบศร์เล่าว่า เจนเอ็กซ์จะต้องมีสติให้มากในช่วงนี้ ต้องรับมือและวางแผนรอบด้าน กับคนที่มีงานประจำไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่คนที่มีรายได้ผูกกับเศรษฐกิจ ก็จะเริ่มถดถอยเรื่อยๆ คิดว่ารัฐบาลต้องช่วยคนกลุ่มนี้ ที่เป็นเสาหลักของครอบครัวและสังคม เพราะหากคนกลุ่มนี้ฟุบแล้วหวังจะให้เขากลับมาฟื้นเศรษฐกิจ จะใช้เวลานาน

ส่วน 4.เจเนอเรชั่นวาย เกิดระหว่าง พ.ศ.2526-2546 หรืออายุ 17-37 เป็นกลุ่มเริ่มทำงาน และกำลังเรียนจบ คนกลุ่มนี้ปรับตัวได้เร็ว เติบโตและคุ้นเคยกับโลกออนไลน์อย่างโชกโชน

“เจนวายมีความบริโภคนิยมสูง ทุกอย่างซื้อหมด ทำเองน้อย กระทั่งตอนนี้ที่หลายคนทำงานที่บ้าน แต่มีของช้อปปิ้งออนไลน์มาส่งทุกวัน โดยที่ไม่รู้ว่าความไม่มีความแน่นอนทางเศรษฐกิจมีสูง ไม่รู้วัคซีนจะสำเร็จและมาถึงเมื่อไหร่ ฉะนั้นจึงแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องใช้จ่าย ใช้อย่างมีเหตุผล รู้จักประมาณตน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

ปิดท้ายด้วย 5.เจเนอเรชั่นซี เกิดหลัง พ.ศ.2546 หรืออายุต่ำกว่า 17 ปีลงไป อาจไม่เข้าใจถึงสถานการณ์เท่าไหร่ รับรู้เพียงว่าออกจากบ้านจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถือเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสวิกฤตการณ์ระดับโลก ที่จะจดจำไปอีกยาวนาน อย่างที่จะฝังใจเจนนี้คือ การระมัดระวังเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างคนต่อคนมากขึ้น

“วัยนี้ที่ต้องปิดเรียน ช่วงแรกอาจดีใจที่ปิดเทอมยาวนานขึ้น แต่เชื่อว่าสักพักก็จะเริ่มอยากออกนอกบ้าน คิดถึงโรงเรียน ซึ่งเพื่อไม่ให้กระทบการเรียนของเขา พ่อแม่จะต้องปรับพื้นที่บ้านให้เป็นการเรียนรู้ อาจจะสอนผ่านงานบ้าน ขณะเดียวกันมีการจำกัดเข้าถึงสื่อออนไลน์ ซึ่งคิดว่าพ่อแม่เจนเอ็กซ์และเจนวายสามารถสร้างบทเรียนให้ลูกได้แน่นอน เพียงแต่ต้องรู้ตัวว่าควรต้องทำแล้ว” อ.ภูเบศร์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูเบศร์ สมุทรจักร

จับมือฝ่าโควิด-19 ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image