ลุ้นส่งออกไทยฝ่าวิกฤตโควิด…ฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

ลุ้นส่งออกไทยฝ่าวิกฤตโควิด…ฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประมาณการส่งออกของปีนี้ ไว้ที่ -8% ขณะที่หน่วยงานเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย คาดการณ์ไว้ที่ -8% ถึง -5% และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ไว้ที่ -8%
การพยากรณ์ตัวเลขส่งออกของไทยใน

ระดับ -8% เป็นผลมาจากการค้าโลกได้รับกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดปรากฏการณ์ล็อกดาวน์ทั่วโลก รวมทั้งไทย ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการของไทยคิดเป็นสัดส่วนหลักของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) กว่า 68.2% ดังนั้น หากการส่งออกของไทยฟื้นตัวกลับมาได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเช่นกัน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของการส่งออกปี 2563 ในช่วงเวลาที่เหลือขึ้นอยู่กับการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขณะนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาคลี่คลายได้ดีภายในไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563) อาจเป็นไปได้ที่การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวตามการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับผลของเพนดิ่ง ดีมานด์ (ความต้องการซื้อสะสม) ของประชาชนในช่วงล็อกดาวน์ จากการที่ทั่วโลกที่เริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์มากขึ้น

ปัจจัยบวกที่เกิดอาจเป็นเพียงผลในระยะสั้น ซึ่งอาจถูกกดดันด้วยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายประการ อาทิ อุปสงค์ในสินค้าส่งออกของไทยอาจทรงตัวเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดในอีกระลอกหนึ่ง

Advertisement

“นอกจากนี้ ปัจจัยในด้านราคาน้ำมันที่อาจทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ที่มีสัดส่วนในมูลค่าการส่งออกรวมถึง 12%” วิศิษฐ์ระบุ

ภาพรวมการส่งออกของไทย 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2563) พบว่า ขยายตัวได้ในรูปค่าเงินดอลลาร์ที่ 1.19% อาจทำให้หลายคนพึงพอใจกับตัวเลขการขยายตัวเป็นบวก และคาดหวังให้การส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญในการประคองเศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาจากโควิด-19 ที่รุนแรงทั่วโลก ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบางอยู่แล้วจากสงครามการค้าและสถานการณ์ค่าเงินที่แข็งค่าในช่วงปีที่ผ่านมา

หากพิจารณาในรายละเอียดของการส่งออกอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าการขยายตัวนี้กลับเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกทองคำที่ขยายตัวได้ดีมากในช่วงการระบาดโควิด-19 จากความกังวลของประชาชน ที่หันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยแทน รวมถึงการส่งคืนอาวุธยุปโธปกรณ์กลับไปยังสหรัฐในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

Advertisement

สะท้อนให้เห็นถึงภาพของการส่งออกในภาคเรียล เซ็กเตอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง จากปัญหาในส่วนของการขนส่งที่ขัดข้องทั้ง 3 ช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือและอากาศ รวมถึงการที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจทั่วโลก

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการชะลอตัวของการส่งออกโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตครั้งนี้ยังพบว่าไทยมีโอกาสในการส่งออก คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร อาทิ ข้าว และอาหารสำหรับรับประทานทันที ทั้งผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ที่สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีเนื่องจากอุปสงค์ของประชาชนเพื่อใช้การดำรงชีวิตประจำวันในช่วงการระบาดโควิด-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งผลจากการขยายตัวของสินค้ากลุ่มนี้อาจช่วยสถานการณ์การส่งอออกปี 2563 ของไทยไม่ออกมาเลวร้ายมากเกินไปนัก

รองประธาน สรท. ระบุด้วยว่า ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เป็นสินค้าที่ยังคงเป็นดาวเด่นในช่วงนี้ โดยภาพรวมการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีในตลาดหลัก อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนที่ผู้นำเข้าและนักธุรกิจมีการแข่งขันเพื่อนำเข้าสินค้าไปตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับการเจรจาของภาครัฐในการเปิดด่านเพื่อส่งออกผลไม้ในช่วงฤดูกาลผลไม้ของไทย ในส่วนของด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียงที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลไม้ที่ส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ทุเรียนสด โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีระดับการบริโภคค่อนข้างสูงแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึง ลิ้นจี่ มะพร้าวอ่อน ขนุน มังคุดและลำไย

ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจเพิ่มโอกาสในการส่งออกผ่านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์กระแสความนิยมอาหารแห้งที่เก็บรักษาได้นานในปัจจุบัน

“จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวทำให้ภาพรวมการส่งออกในครึ่งปีหลังอาจทรงตัว หรือขยายตัวได้บ้างเล็กน้อย” รองประธาน สรท.คาดการณ์

ต้องติดตามว่าครึ่งปีหลัง การส่งออกของไทยจะเดินเครื่องได้ดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image