“บีจีซี” กางแผนกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง-เสริมพอร์ตจากธุรกิจใหม่ สร้างความยั่งยืนรอบด้าน

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือบีจีซี (BGC) ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว ครองส่วนแบ่งตลาดในไทยเป็นอันดับหนึ่ง เผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 และ 2 ว่า เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 จึงส่งผลให้ตัวเลขยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วในไตรมาส 1 ค่อนข้างคงที่ แต่รายรับโดยรวมของบริษัทเติบโตประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 3,016 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากธุรกิจใหม่ ‘โซลาร์ ฟาร์ม’ ที่ประเทศเวียดนาม

“แต่ในไตรมาส 2 ซึ่งปกติเป็นช่วงไฮซีซั่นจากหน้าร้อนและเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มลูกค้าหลัก 3040 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ไม่สามารถจำหน่ายได้จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้เราได้รับอิมแพคเต็มๆ ตัวเลขตกไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยความสามารถและความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดีและเร็วกว่าที่คิด จากที่เคยคิดว่าไตรมาส 2 จะติดลบ 3040 เปอร์เซ็นต์ ก็ปรากฎว่าไม่ได้ตกไปถึงขนาดนั้น”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบีจีซียังเล่าถึงช่วงที่โควิด-19 ในเมืองไทยกำลังแพร่ระบาดว่า พนักงานในเครือบีจีรวมทั้งหมด 5,000 คน ในจำนวนนี้มีพนักงานที่ทำงานในโรงงานประมาณ 3,000 คนต้องใกล้ชิดกับชุมชนแต่ก็ไม่พบว่ามีใครที่ติดเชื้อ บริษัทไม่มีการเลย์ออฟพนักงาน นับเป็นความสำเร็จในการรับมือกับโรคระบาดที่สามารถประกาศออกไปได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

Advertisement

“คาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะกลับมาดีขึ้น เฉพาะธุรกิจแพคเกจจิ้งอย่างเดียวหวังว่าทั้งปีน่าจะทำยอดขายได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วถ้าไม่มีเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบอีก นอกจากนี้ก็ยังมีธุรกิจพลังงานในเวียดนามที่คาดว่าจะส่งผลดีในด้านรายรับ ดังนั้นในแง่ของผลกำไรประเมินว่าอัตรากำไรจะไม่ตก การเติบโตจะดีกว่ายอดขาย ซึ่งธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนาม เป็นธุรกิจที่อัตรากำไรดีกว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว ก็คือในแง่ของตัวเลขกำไร Bottom Line เติบโตมากกว่ายอดขาย”

หากเชื้อโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดเป็นระลอก 2 อย่างที่หลายคนวิตก ผู้บริหารบีจีซียืนยันว่า มีการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้วว่าจะบริหารซัพพลายอย่างไร รวมถึงค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องคัท แต่อย่างไรก็ดีเชื่อมั่นว่าธรรมชาติของคนไทยนั้นปรับตัวเก่งและมีความยืดหยุ่น

 “นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังทั้งธุรกิจใหม่ๆ ต่อยอดจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยกำลังอยู่ระหว่างเจรจาการควบรวมและการซื้อกิจการ (M & A) 23 ดีล มีการวางเป้าหมายธุรกิจบรรจุภัณฑ์มุ่งสู่การเป็น โทเทิล แพคเกจจิ้ง โซลูชั่น เนื่องจากบีจีซีมีบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเป็นหลัก ส่วนบริษัทในเครือบีจีก็มีบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ได้แก่ กระดาษคราฟท์ ฉลากฟิล์ม ฝาพลาสติก กล่องกระดาษลูกฟูก ฯลฯ จากความเชี่ยวชาญและความชำนาญของบริษัทในเครือ จึงคิดว่าสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ได้ นอกจากนี้ก็ยังต้องการเพิ่มความหลากหลายเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้มากกว่าขวดแก้ว เพื่อให้ฝ่ายขายสามารถออฟเฟอร์ลูกค้าได้ตั้งแต่ขวดแก้วเปล่าๆ จนถึงแร็ปขวด หรือถ้าต้องการบรรจุในกล่องกระดาษก็มีจำหน่ายด้วยเช่นกัน เป็นการรองรับความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมและครบวงจรยิ่งขึ้น ในส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมีการตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 300400 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี”

Advertisement

“เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น บริษัทยังพร้อมขยายธุรกิจผ่านกลยุทธ์การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นการให้บริการใน 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์, คุณภาพระดับสากล, การให้คำปรึกษากับลูกค้าในทุกโอกาส, การจัดเก็บและการจัดส่งสินค้าควบคู่ไปกับการพัฒนาทีมงานให้มีศักยภาพรอบด้าน เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร รวมถึงมุ่งขยายฐานการส่งออกให้กับลูกค้าที่มีอัตรากำไรดี เช่น กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาแพง กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยา เป็นต้น”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบีจีซีกล่าวในช่วงท้ายว่า บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

อนึ่ง บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) มีข้อได้เปรียบทางการเติบโตของบริษัทในแง่ของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีความมั่นคงสูง ลูกค้าหลักรายใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เช่น กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ กลุ่มไทยน้ำทิพย์ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท กรีนสปอต จำกัด ตลอดจนมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมากว่า 40 ปี จำนวนสายการผลิตที่หลากหลาย สามารถผลิตสินค้าได้หลายรูปแบบ และมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว 3,495 ตันต่อวันจากโรงงานผลิตทั้งหมด 5 แห่ง ที่สำคัญมีกระแสเงินสดเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์ และพลังงานทางเลือก ที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image