คอลัมน์หน้า 3 : อ่อนไหว การเมือง ภายใน ‘พลังประชารัฐ’ อนุชา นาคาศัย

อ่อนไหว การเมือง ภายใน ‘พลังประชารัฐ’ อนุชา นาคาศัย

อ่อนไหว การเมือง ภายใน ‘พลังประชารัฐ’ อนุชา นาคาศัย

ภายในความปรีติปราโมทย์ของการปรับ ครม.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถ “สยบ” การรุกเข้ามาของนักการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐได้สำเร็จ

หยุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หยุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

บรรดา “กองเชียร์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจอันเบ็ดเสร็จของ “กลุ่ม 3 ป.” ที่มากด้วยความแข็งแกร่ง

หากแต่ยืนยันความเฉียบขาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Advertisement

กระนั้น ภายในความเฉียบขาดซึ่งถือเป็นรูปธรรมแห่งชัยชนะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้ก็มีคำถามตามมาโดยอัตโนมัติว่า

แล้วใครที่ตกอยู่ในสถานะแห่ง “ผู้แพ้”

1 ย่อมเป็น “กลุ่ม 4 กุมาร” ซึ่งถูกอัปเปหิออกจากพรรคพลังประชารัฐ ถูกอัปเปหิออกจากรัฐบาล และ 1 ย่อมเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

นี่คือระเบิดเวลา นี่คือจุดอันเปราะบาง

สังคมมักให้ความสนใจไปยังความพ่ายแพ้ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่หมายปองกระทรวงพลังงานตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ก็พ่ายแพ้มาโดยตลอด

มาถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ก็พ่ายแพ้

แต่สังคมก็มิอาจมองข้ามบทบาทและความหมายของ นายอนุชา นาคาศัย ซึ่งน่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้อย่างเด็ดขาด

อย่าลืมว่า นายอนุชา นาคาศัย เป็นใคร

เขาเป็นกำลังสำคัญภายใน “กลุ่มสามมิตร” เดิมอย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้น ในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหม่นี้เขาก็ยืนอยู่แถวหน้า

เป็นกองหน้าในการรุกไล่และกดดัน “กลุ่ม 4 กุมาร”

เป้าหมายอาจเพื่อให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ครอบครองตำแหน่งในกระทรวงพลังงานและตนเองจะเข้าไปแทนที่ในกระทรวงอุตสาหกรรม

คำถามก็คือ นายอนุชา นาคาศัย ได้ตามเป้าหมายหรือไม่

คําตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะยืนยันว่าการมอบตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นบำเหน็จที่เหมาะสม

คำถามตามมาก็คือ สถานะ นายอนุชา นาคาศัย เป็นอะไร

ในเมื่อคำตอบคือเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก็นำไปสู่คำถามที่ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเลขาธิการพรรคอื่นตำแหน่งของ นายอนุชา นาคาศัย เป็นอย่างไร

พรรคภูมิใจไทยได้กระทรวงคมนาคม พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ยิ่งหากเปรียบเทียบว่า นายอนุชา นาคาศัย เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ยิ่งปวดร้าว

ปวดร้าวเพราะ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ มาจากพรรคชาติพัฒนา

พรรคชาติพัฒนามี ส.ส.อยู่ในมือเพียง 3-4 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.อยู่ในมือมากกว่า 100 คน ทั้งยังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

นี่คือจุดเปรียบเทียบอันก่อความอ่อนไหวยิ่งในทางการเมือง

สภาพและตอบแทนต่อ นายอนุชา นาคาศัย ในเดือนกรกฎาคม 2563 ก็เหมือนกับ นายเสนาะ เทียนทอง หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538

ทั้งๆ ที่อยู่ในฐานะ “ผู้จัดการ” รัฐบาล

ทั้งๆ ที่ นายเสนาะ เทียนทอง มาดหมายกระทรวงมหาดไทย แต่ นายบรรหาร ศิลปอาชา กลับมอบกระทรวงสาธารณสุขให้

ผลสะเทือนในเดือนพฤศจิกายน 2539 คือคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image