รายงานหน้า2 : พนักงานอัยการกับการสอบสวนและการสั่งคดี

หมายเหตุนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้นำเสนอบทความเรื่อง “พนักงานอัยการกับการสอบสวนและการสั่งคดี” มีรายละเอียดดังนี้

องค์กรอัยการและพนักงานอัยการมีภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือการอํานวยความยุติธรรมทางอาญา กรมอัยการในอดีตเมื่อแรกตั้งใน พ.ศ.2436 สังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรมทั้งหลายในสมัยนั้นสังกัดอยู่เช่นกัน พนักงานอัยการจึงทำงานใกล้ชิดกับศาลมาแต่แรกเริ่ม และมีการโยกย้ายแต่งตั้งอธิบดีกรมอัยการไปเป็นอธิบดีศาลต่างๆ ได้

แต่เดิมข้าราชการอัยการเป็นข้าราชการพลเรือนแต่มีการแยกข้าราชการอัยการออกจากข้าราชการประเภทอื่นเป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2503 มีเหตุผลสำคัญว่า พนักงานอัยการมีตำแหน่งหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน ข้าราชการอัยการต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถปฏิบัติงานได้โดยอิสระทำนองเดียวกับข้าราชการตุลาการ โดยมีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการโยกย้ายแต่งตั้งพนักงานอัยการในตำแหน่งต่างๆ ข้าราชการอัยการจึงแยกขาดจากข้าราชการพลเรือนนับแต่นั้นมา

ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีอำนาจหน้าที่บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการฝ่ายอัยการและให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลัง และกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายอัยการตลอดจนพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยข้าราชการฝ่ายอัยการ และการสั่งให้ข้าราชการฝ่ายอัยการออกจากราชการได้ รวมทั้ง ก.อ.มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการ บุคคล หรือคณะบุคคล เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ ก.อ.มอบหมาย และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นอีกด้วย ในกรณีที่กฎหมาย
กำหนดให้ต้องทำเป็นระเบียบ ข้อกำหนด และประกาศต่างๆ ของ ก.อ. ต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยเพื่อให้มีผลใช้บังคับตามกฎหมายต่อไป ก.อ. จึงเป็นหลักประกันในการบริหารงานบุคคลและความเป็นอิสระในการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารหรือผู้มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อส่งเสริมระบบยุติธรรมของประเทศได้ดียิ่งขึ้น ข้าราชการอัยการจึงแยกขาดจากข้าราชการพลเรือนนับแต่นั้นมา

Advertisement

และหากจะเทียบกับพนักงานอัยการของประเทศฝรั่งเศสจะเห็นว่าในปัจจุบันพนักงานอัยการฝรั่งเศสนั้นสามารถสลับสับเปลี่ยนไปทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาได้ ในทางกลับกันผู้พิพากษาของประเทศฝรั่งเศสก็สามารถสลับสับเปลี่ยนไปทำหน้าที่เป็นพนักงานอัยการได้ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสก็มีคณะกรรมการตุลาการฝ่ายอัยการ (le conseil supérieur de la magistrature) มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ของประเทศไทย โดยทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ รวมทั้งพิจารณาและลงโทษวินัยข้าราชการอัยการ อาทิเช่น คำตำหนิพร้อมการบันทึกลงในสำนวน การโยกย้าย ตำแหน่ง การถอดถอนจากอำนาจหน้าที่ ห้ามรับการแต่งตั้งหรือมอบหมายในหน้าที่ การลดขั้น การห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว การลดตำแหน่ง การให้เกษียณก่อนกำหนด หรือให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีสิทธิ ได้รับเงินบำนาญ หรือการถอดถอนจากตำแหน่ง เป็นต้น

ประชาชนส่วนใหญ่มักรู้จักบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการเกี่ยวกับอำนาจสั่งคดี และการฟ้องผู้ต้องหา เป็นจำเลยต่อศาลในคดีอาญา การสั่งคดีที่ว่าหมายถึงทั้งการสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง สั่งยุติคดีด้วยเหตุต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น ผู้กระทำความผิดถึงแก่ความตาย และการสั่งงดสอบสวนกรณีไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ในกรณีที่มีการสั่งฟ้องเมื่อได้ตัวผู้ต้องหามา พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องต่อศาล จากนั้นก็ไปสู่กระบวนการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ ความผิดของจำเลย บทบาทอำนาจหน้าที่ดังกล่าวมานี้หลักใหญ่ถูกกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหากจะกล่าวไปมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการไว้เพียงไม่กี่มาตรา

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ตราไว้ ณ วันที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2478 การสอบสวนคดีอาญาทั่วไปที่เป็นต้นธารสําคัญในการดำเนินคดีอาญาเพื่ออํานวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนนั้น พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางอาญาซึ่งจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะวินิจฉัยสั่งคดีอันจะมีผลต่อไปให้ผู้กระทําความผิดที่แท้จริงถูกฟ้องต่อศาลและได้รับการพิสูจน์ความผิดจนถูกศาลลงโทษ หรือผู้ที่บริสุทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวไปจากการสั่งไม่ฟ้อง พนักงานอัยการกลับไม่ได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสอบสวนดำเนินคดีตั้งแต่เริ่มแรกเลย ทำได้อย่างมากคือการสั่งให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ดังนั้น เพื่อให้การสั่งคดีเป็นไปด้วยความยุติธรรมกับทุกฝ่ายทั้ง ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานบุคคลต่างๆ ที่อาจต้องได้รับความคุ้มครองรวมทั้งการได้รับความเชื่อถือศรัทธาและความไว้วางใจจากประชาชน จึงมีความพยายามมาหลายยุคหลายสมัยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถเข้าไปมีบทบาท หรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดี แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ

Advertisement

ในปัจจุบัน สำนักงานอัยการสูงสุดพยายามกำหนดหลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญาในหน้าที่ของพนักงานอัยการไว้ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการว่า “พนักงานอัยการมีอํานาจหน้าที่ในการอํานวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจักต้องกระทําด้วยความรวดเร็วเท่าเทียมกันและเป็นธรรม กับทั้งต้องกระทำให้เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน พนักงานอัยการเป็นทนายแผ่นดิน และเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการตรวจสอบและค้นหาความจริงในคดีอาญา การควบคุมการดำเนินคดีอาญาของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและประโยชน์ของส่วนรวม ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาและจําเลย ให้พนักงานอัยการคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย ส่วนบุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายและพยาน พนักงานอัยการพึงให้ความคุ้มครองและปฏิบัติหน้าที่เหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้” การกำหนดดังกล่าวแม้อ่านแล้วจะฟังดูดีอย่างใด ก็ยังไม่อาจตอบโจทย์สำคัญได้ว่าพนักงานอัยการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนตั้งแต่ต้นธารในการดำเนินคดีอาญาได้อย่างไร

กลับมาที่อำนาจสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 248 วรรค 2 จะบัญญัติว่า “พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง” แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวก็มิใช่จะดำเนินการได้ตามอำเภอใจเพราะได้รับการถ่วงดุลตามกลไกของกฎหมาย เช่น กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหายังมีการถ่วงดุลระหว่างพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวนอีก โดยต้องส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ให้เห็นชอบกรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องด้วย หากมีความเห็นแย้งให้ฟ้องก็ต้องให้อัยการสูงสุดชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ผู้เสียหายยังมีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อศาลเองได้ ซึ่งแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสก็ยังไม่มีกลไกนี้ เพราะใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ (Public prosecution) เมื่อพนักงานอัยการฝรั่งเศสใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีแล้วเป็นอันจบ ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาเอง ส่วนกลไกการตรวจสอบดุลพินิจพนักงานอัยการมีกลไกอื่นตามกฎหมายฝรั่งเศส

แต่พนักงานอัยการไทยนอกจากมีการถ่วงดุลโดยให้อำนาจผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเองได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้เสียหายจะมีสิทธิฟ้องคดีเองเฉพาะกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเท่านั้น กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องให้แล้วผู้เสียหายในหลายคดีก็ยังฟ้องคดีอาญาเองต่างหากเพราะอยากมีส่วนเข้ามาควบคุมคดีของตนเองด้วย ซึ่งคดีทำนองนี้ศาลจะสั่งรวมพิจารณา นอกจากนั้นการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของพนักงานอัยการของไทยยังสามารถตรวจสอบได้ทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ดังเห็นตัวอย่างชัดเจนได้จากการตรวจสอบคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ที่เป็นข่าว
ครึกโครมในขณะนี้ ประชาชนจึงน่าจะสบายใจได้ว่ามีการถ่วงดุลกันหลายชั้น และสามารถตรวจสอบการทำงานของพนักงานอัยการได้เสมออีกด้วย และน่าจะสบายใจมากยิ่งขึ้นหากมีการแก้ไขกฎหมายให้พนักงานอัยการสามารถเข้าไปมีบทบาท หรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดีดังกล่าวมาข้างต้น

บทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในประเทศทางสากล

บทบาทของพนักงานอัยการในประเทศต่างๆ ล้วนแตกต่างกันออกไปตามระบบของกฎหมาย การจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการและองค์กรอัยการในแต่ละประเทศ โดยอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการในประเทศสากล มีลักษณะงานที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

1) อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการสอบสวนฟ้องร้อง

ในระบบอัยการที่สมบูรณ์นั้น การสอบสวนฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกได้และต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรอัยการ โดยพนักงานอัยการมีอำนาจรับคำร้องทุกข์ คำกล่าวโทษ ดำเนินการ สอบสวนหรือเข้าควบคุมการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชันสูตรพลิกศพ รวมตลอดถึงสั่งการแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามที่เห็นสมควร เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาสั่งคดี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นเพียงเจ้าพนักงานของรัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานอัยการเท่านั้น กระบวนการในการสอบสวนฟ้องร้อง จึงไม่อยู่ในอำนาจขององค์กรหนึ่งองค์กรใดโดยเฉพาะ มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่ใช้กันในนานาอารยประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน กรีซ อิสราเอล เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

2) อำนาจหน้าที่ของอัยการในการดำเนินคดีอาญาในศาล

พนักงานอัยการในฐานะทนายความแผ่นดินมีหน้าที่ดำเนินคดีอาญา เพื่อจัดการกับผู้กระทำความผิด ให้ได้รับโทษและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบและกระทำการอื่นๆ เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานอัยการก็ต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังนั้น พนักงานอัยการจึงต้องให้คำแนะนำแก่จำเลยในระหว่างการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาลและเสนอพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลยด้วยในระหว่างการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล พนักงานอัยการไม่ใช่คู่ความกับจำเลยทางเนื้อหา พนักงานอัยการจึงต้องคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของสาธารณชน ดำรงในความยุติธรรมโดยปราศจากอคติ ปฏิบัติอย่างเหมาะสมทั้งต่อผู้เสียหายและจำเลย จึงกล่าวได้ว่า พนักงานอัยการเป็นคู่ความกับจำเลยในความหมายทางเทคนิคเท่านั้น พนักงานอัยการจะยึดถือเอาประโยชน์ฝ่ายตน เป็นคู่ความทั่วไปไม่ได้

3) อำนาจหน้าที่ในการบังคับตามคำพิพากษา

ในระบบอัยการที่สมบูรณ์ พนักงานอัยการมีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด รวมตลอดถึงการวินิจฉัยสั่งการอันเกี่ยวกับการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดด้วยในบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ถ้าศาลปล่อยจำเลย พนักงานอัยการจะเป็นผู้ออกคำสั่งให้พัศดีปล่อยตัวจำเลยไป ถ้าศาลลงโทษปรับ การเก็บค่าปรับทำในนามของพนักงานอัยการ ถ้าไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการจะสั่งให้เอาตัวจำเลยไปกักขังเพื่อบังคับให้ชำระค่าปรับ ถ้าศาลลงโทษจำคุก พนักงานอัยการจะเป็นผู้แจ้งให้พัศดี ทราบผลของคำพิพากษา เป็นต้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทยได้แยกการสอบสวนออกจากการฟ้องร้องและกำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนเฉพาะการสอบสวนคดีความผิดนอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและการสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 32 กำหนดให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวน หรือตรวจสอบพยานหลักฐาน หรือให้คำแนะนำในการสอบสวนเท่านั้น แต่คดีอาญาทั่วไป ที่เป็นคดีส่วนใหญ่ของประเทศ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่เพียงสอบสวน เพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งตัวพยานมาให้ซักถามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 จึงทำให้พนักงานอัยการไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มการสอบสวนอันเป็นอุปสรรคในการให้ความเป็นธรรมและสั่งคดีจนอาจเกิดแพะขึ้นมาในคดีก็ได้ ปัจจุบันนี้ประชาชนเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ หรือเศรษฐีที่กระทำความผิดอาญาถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเหมือนดั่งคดีประเทศเกาหลีใต้ ข้าพเจ้าจึงขอนำกฎหมายเกาหลีใต้ที่เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการมาเล่าสู่กันฟัง

พนักงานอัยการในประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้น ได้นำคณะบริหารระดับสูงและพนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าเยี่ยมคารวะอัยการสูงสุดแห่งประเทศเกาหลีใต้ ณ สำนักงานอัยการสูงสุด กรุงโซล เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่อัยการสูงสุดแห่งประเทศเกาหลีใต้เข้ารับตำแหน่งใหม่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากพนักงานอัยการของประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งเพื่อส่งพนักงานอัยการไทยไปเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมระบบงานยุติธรรมและเทคนิคการสอบสวนจากพนักงานอัยการเกาหลีใต้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานสอบสวนของพนักงานอัยการไทย โดยจัดส่งพนักงานอัยการของสำนักงานการสอบสวน และสำนักงานคดีอาญาต่างๆ จำนวน 50 คนมาศึกษาดูงานที่สำนักงานอัยการสูงสุดประเทศเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 25 คน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับและสนับสนุนจากอัยการสูงสุดประเทศเกาหลีใต้อย่างเต็มที่ รวมทั้ง ทำให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในส่วนงานของพนักงานอัยการในประเทศเกาหลีใต้ดังนี้

การทำงานของพนักงานอัยการ

อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเกาหลีใต้มี 6 ประการ (กฎหมายอัยการ มาตรา 4) คือ

1) มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาทุกคดี ตลอดจนการสั่งฟ้องคดี และการกระทำใดๆ เพื่อให้บรรลุผลในภารกิจข้างต้น

2) มีอำนาจกำกับและสั่งการพนักงานสอบสวน (Judicial Police) ในการสอบสวนคดีอาญา

3) มีหน้าที่ตรวจสอบศาลให้ปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง

4) มีหน้าที่กำกับและตรวจสอบการบังคับคดีอาญาในการลงโทษผู้กระทำผิด โดยสามารถสั่งชะลอการลงโทษได้

5) มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีปกครองในกรณีที่รัฐเป็นคู่ความ หรือกำกับและสั่งการให้มีการดำเนินการดังกล่าว ข้างต้น

6) มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

การสอบสวนโดยพนักงานอัยการ

องค์กรที่มีอำนาจสอบสวนของเกาหลีใต้ มี 2 องค์กรคือ พนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวนที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Judicial Police) โดยพนักงานอัยการเกาหลีใต้มีอำนาจโดยตรงในการสอบสวนคดีอาญาทุกคดี โดยอิสระ (ป.วิ.อาญาเกาหลี มาตรา 195) ทั้งนี้ พนักงานอัยการจะเริ่มการสอบสวนเองหรือจะสอบสวนเพิ่มเติม ในคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนมาก็ได้ อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะให้อำนาจการสอบสวนคดีอาญาได้ทุกเรื่อง แต่พนักงานอัยการมักจะไม่เข้าไปสอบสวนเองโดยตรงทั้งหมด ยกเว้นจะเป็นคดีอาญาสำคัญที่สาธารณชนให้ความสนใจในทางปฏิบัติ คดีอาญาสำคัญที่พนักงานอัยการจะเข้าไปทำการสอบสวนเอง (Targeting Area) คือ คดีอาญาเกี่ยวข้องกับบุคคลระดับสูงของประเทศ เช่น ข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้องกับทุจริต คดีอาญาที่ผลกระทบต่อสาธารณะคือก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เช่น คดีปั่นหุ้น คดีองค์กรอาชญากรรมหรือความผิดทางการเงินของบริษัทขนาดใหญ่ คดีอาญาต้องการความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนในการทำคดี เช่น คดีทุจริตเลือกตั้ง คดีความผิดของนักการเมือง คดีอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของพนักงานสอบสวน แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม พนักงานสอบสวนที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Judicial Police) ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าพนักงานอัยการจังหวัด เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น จะต้องรายงานให้พนักงานอัยการทราบ และจะต้องทำการสอบสวนภายใต้การกำกับดูแลทุกขั้นตอนของพนักงานอัยการอีกทีหนึ่ง (ป.วิ.อาญาเกาหลี มาตรา 190) โดยหลังจากการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่ง ต่อไป

ขั้นตอนการทำสำนวนการสอบสวน

1) เมื่อมีคดีเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรายงานให้พนักงานอัยการทราบ

2) เจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจสถานที่เกิดเหตุพร้อมกับพนักงานอัยการ

3) การชันสูตรพลิกศพต้องทำโดยตำรวจคู่กับพนักงานอัยการ

4) เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายเรียกและสอบปากคำพยาน

5) การออกหมายค้น หมายยึด และหมายขัง (Warrant of Detention) เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำผ่านพนักงานอัยการซึ่งจะเป็นผู้นำไปยื่นต่อศาล (รัฐธรรมนูญเกาหลี มาตรา 12(3), ป.วิ.อาญาเกาหลี มาตรา 215) จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำหมายขังไปจับผู้ต้องหาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องขอคำสั่งสุดท้ายจากพนักงานอัยการในการดำเนินการต่างๆ

6) เมื่อสอบสวนเสร็จจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งต่อไปโดยมีความเห็นควรฟ้องหรือไม่ควรฟ้อง

ขั้นตอนการสั่งสำนวนการสอบสวนของพนักงานอัยการ คือ

1) หลังจากตรวจสำนวนแล้ว พนักงานอัยการอาจสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม (Complementary Investigation) ก็ได้ โดยพนักงานอัยการอาจทำการสอบสวนเพิ่มเติมเอง หรือสั่งให้ตำรวจทำก็ได้

2) พนักงานอัยการที่ทำการสอบสวน (อาจมาจากสำนักงานคดีอาญาหรือ Criminal Department) จะพิจารณาสั่งคดี โดยอาจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งชะลอการฟ้องก็ได้

3) ถ้าสั่งฟ้อง ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนต่อไปยังสำนักงานดำเนินคดี (Criminal Trial Department) เพื่อดำเนินคดีในชั้นศาล (เว้นแต่คดีที่ยุ่งยากซับซ้อน พนักงานอัยการที่สอบสวนจะไปดำเนินคดีในชั้นศาลเอง)

หลักเกณฑ์ในการสั่งฟ้องคดีอาญา

หลักเกณฑ์ในการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการเกาหลีใต้ในปัจจุบันนั้น จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันกับที่ศาลใช้ในการพิจารณาพิพากษาและชั่งน้ำหนักพยานในคดีอาญา ซึ่งคล้ายกับหลักเกณฑ์ในการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการประเทศญี่ปุ่น คือ การจะรับฟังและพิพากษาลงโทษจำเลยคนใดว่า เป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่พนักงานอัยการฟ้องร้องเป็นคดีอาญานั้น จะต้องฟังได้ความจากพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดี โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายอย่างแท้จริง ดังนั้น การสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการนั้น ก็จะต้องมีพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนที่แน่นหนาและเชื่อถือได้ อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าศาลจะตัดสินให้ผู้ต้องหาว่า เป็นผู้กระทำความผิด ในทางกลับกันหากพนักงานอัยการเกิดความไม่มั่นใจจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนว่า ศาลจะตัดสินให้ผู้ต้องหาว่า เป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่เนื่องจากพยานหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอ พนักงานอัยการก็จะมีคำสั่งไม่ฟ้องต่อไป

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดได้ตั้งสำนักงานการสอบสวนขึ้น และต่อมาได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารถนนบรมราชชนนี) ขึ้นที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร บัดนี้อาคารดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบแล้วเหลือแต่เพียงจัดครุภัณฑ์เข้าสำนักงาน ดังนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดจึงมีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่
และพนักงานอัยการที่จะทำหน้าที่สอบสวน หรือกำกับดูแลการสอบสวนหรือร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนถ้ามีบทบัญญัติกฎหมายให้ดำเนินการได้จึงขอเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับเพื่อทำให้การอำนวยความยุติธรรมชั้นพนักงานอัยการมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นดังนี้

1.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการให้ชัดเจน โดยเฉพาะการร้องขอความเป็นธรรมว่าจะร้องได้กี่ครั้ง ร้องกับพนักงานอัยการตำแหน่งใดได้บ้าง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ทันทีเพราะเป็นระเบียบภายในสำนักงานอัยการสูงสุด

2.ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ โดยเฉพาะบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในชั้นสอบสวนให้มีอำนาจหน้าที่สอบสวนหรือกำกับดูแล การสอบสวนหรือร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ดังเช่นอารยประเทศ

3.การพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาดำเนินการเป็นองค์คณะ ดังนั้นการพิจารณาและสั่งคดีอาญา ของพนักงานอัยการก็ควรทำเป็นองค์คณะ คณะละ 3 คน (ยกเว้นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง พนักงานอัยการเพียงคนเดียวสั่งคดีแล้วเสนอผู้บังคับบัญชาก็ได้) เพื่อความละเอียดรอบคอบในการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย และเกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยทั่วไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image