วิกฤตการศึกษาไทย ถ้าไร้ ‘การศึกษาเอกชน’

วิกฤตการศึกษาไทย ถ้าไร้ ‘การศึกษาเอกชน’

การศึกษาเอกชน เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ ซูชส์ (Schultz,1982) กล่าวว่า การที่มีโรงเรียนเอกชนมาช่วยส่งเสริมการศึกษาร่วมกับภาครัฐ จะทำให้คุณภาพการศึกษาของภาครัฐสูงขึ้น เนื่องจากมีการเปรียบเทียบ และมีการแข่งขันกัน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองได้มีทางเลือก

กระทั่งมาถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาเอกชน โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2461 เป็นผลให้การศึกษาเอกชนได้พัฒนา และบริหารจัดการทางเลือก และสามารถลดการจ่ายงบประมาณด้านการศึกษาปีละเกือบ 3 แสนล้านบาท มาจนทุกวันนี้

จากพื้นฐานการศึกษาเอกชนที่ต้องเน้นทั้งคุณภาพ และการบริการให้กับผู้ปกครอง ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาของภาครัฐ เพราะโรงเรียนภาครัฐอยู่ได้ด้วยเงินงบประมาณ แต่โรงเรียนเอกชนอยู่ได้ด้วยค่าธรรมเนียมที่ได้จากผู้ปกครอง และเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนส่วนหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้โรงเรียนเอกชนต้องสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ปกครอง ซึ่งเสมือนเป็นลูกค้าที่สำคัญ

การจะให้การบริการที่ดีนั้น โรงเรียนเอกชนจะต้องลงทุนด้วย แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ค่าที่ดิน ค่าเช่าที่ดิน ค่าอาคารสถานที่ ค่าเงินเดือนผู้บริหาร ครู และพนักงาน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าสระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น ค่าภาษีบุคคล ภาษีโรงเรือน ค่าอาหารนักเรียน ผลไม้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครูชาวต่างชาติ ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าอุปกรณ์กิจกรรมต่างๆ ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าประกันนักเรียน ค่าประกันภัยอาคาร ค่าการพัฒนาอบรมบุคลากร ค่าซ่อมแซมในแต่ละปี และค่าดอกเบี้ยต่างๆ จากค่าใช้จ่ายที่มากมายเหล่านี้ ทำให้การบริหารโรงเรียนเอกชนจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ และการบริการที่จะต้องให้กับผู้ปกครอง

Advertisement

เนื่องจากว่าภาระที่โรงเรียนเอกชนต้องแบกไว้มีมากมาย แต่ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ หรือผู้รับใบอนุญาต ต้องใช้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ผ่านไปด้วยดี ในอดีตที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก และขนาดกลาง มีสภาพ หรือสถานการณ์ที่ต้องปิดตัวเองไปมากมาย เนื่องจากไม่สามารถบริหารกิจการได้ และผลกระทบจากการลงทุนของโรงเรียนเอกชนที่ใหญ่กว่า และอีกหลายเหตุผล

จากสถิติในภาพรวมของโรงเรียนเอกชนในระบบขั้นพื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ ช่วงปี 2540 มีโรงเรียนเอกชนประมาณ 850 โรง แต่ปัจจุบันนี้ในปี 2563 เหลือโรงเรียนเอกชนในระบบขั้นพื้นฐาน ประมาณ 350 โรง เหลือไม่ถึงครึ่ง และถ้ามองไปอีก 20 ปี ข้างหน้า เราจะมีโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ เหลืออีกกี่โรง ประเด็นข้อมูลนี้ รัฐจำเป็นที่จะต้องนำไปหาทางจัดการแก้ไขในการส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุนด้านการศึกษา เพื่อที่จะได้ให้โรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้ปกครอง

คุณค่าของโรงเรียนเอกชนที่กำเนิดมา เพื่อมุ่งพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริงด้วยการกระบวนการสร้างความรู้ มีกระบวนการเรียนการสอนเข้าถึงผู้เรียน

Advertisement

มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานการณ์โลกปัจจุบัน มีครูประจำวิชาที่มีคุณภาพ มีสภาพห้องเรียนที่มีนักเรียนในจำนวนที่ได้มาตรฐาน มีสภาพสถานที่ที่สะอาด สวยงาม สถานที่มีบรรยากาศที่น่าเรียน มีการบริการที่น่าประทับใจให้กับผู้ปกครองในหลายๆ ด้าน มีกิจกรรมหลากหลายที่จะช่วยบูรณาการการเรียนการสอนให้ได้ตามวัตถุประสงค์ตามนโยบายของแต่ละโรงเรียน มีรถรับส่งนักเรียนไว้บริการ ที่สำคัญมีผู้รับใบอนุญาต เจ้าของ และผู้บริหารคอยดูแลตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าค่าธรรมเนียมโรงเรียนเอกชนจะมีอัตราที่สูง เนื่องจากต้องใช้นโยบายค่าธรรมเนียมที่ต้องคุ้มกับค่าใช้จ่ายของการลงทุน และจะต้องให้มีรายรับกลับมา เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย และส่วนหนึ่งต้องเหลือเป็นกำไรที่จะไว้ใช้ในการลงทุน และใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การอบรมพัฒนาครู พัฒนาผู้บริหาร ใช้ในการพัฒนากิจกรรมเด็กนักเรียน ตลอดจนเป็นค่าบำรุงซ่อมแซมรักษาตึก อาคาร สถานที่ เป็นต้น

โรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองที่มีฐานะมีวิสัยทัศน์ และเห็นคุณค่าของการศึกษา ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของชีวิต ผู้ปกครองยอมส่งลูกมาเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะเห็นคุณค่า และความสำคัญของโรงเรียนเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง สังคมไทยจำเป็นที่จะต้องมีผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มิใช่ให้รัฐจัดฝ่ายเดียว และรัฐจะต้องให้ความสำคัญของโรงเรียนเอกชนให้มากกว่านี้ การให้ความสำคัญของการศึกษากับการศึกษาเอกชนในทิศทางที่ถูกต้อง

โรงเรียนเอกชนเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองมีศักยภาพ ทั้งด้านรายได้ และความเป็นอยู่ ทายาทของประชาชนเหล่านี้ จะต้องได้รับการบริการด้านการศึกษาที่ดีตามที่เขาต้องการ บริหารจัดการด้านการศึกษาดี ประชาชนเหล่านี้ก็จะไม่นำบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งทำให้ไทยเสียดุลการค้ามานานแล้ว

นอกจากนี้ จะเห็นว่าทั้งในอดีต และปัจจุบัน ผู้ใหญ่ ผู้มีชื่อเสียง ผู้บริหารประเทศ ส่วนมากมีพื้นฐานมาจากโรงเรียนเอกชน เรามามอง และสร้างจิตสำนึกว่าพลเมืองของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เขาจะมีความสามารถมาดูแล และพัฒนาประเทศชาติได้หรือไม่ รู้หรือไม่ว่า ประชาชน พลเมือง และเยาวชนต้องการอะไร

ถ้าพลเมืองเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่ดี อยู่ในครอบครัวที่มีการศึกษา ทุกคนมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และสามารถมองชีวิตของตนเองไปข้างหน้าได้ หมายถึง มองเห็นอนาคตได้ ในลักษณะแบบนี้ คือความฝันที่ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีพลเมืองที่มากที่สุดในโลกกำลังปฏิบัติอยู่ นั้นคือประเทศจีน ที่จะนำประชาชนทั้งประเทศไปสู่ Chainese Dream ซึ่งในอนาคตเราหวังว่าประเทศไทยจะต้องมี Thai Dream ด้วยเช่นกัน

รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการศึกษาเอกชนว่ามีขบวนการอย่างไร ปัญหาอะไรที่รัฐไม่รู้ การบริหารโรงเรียนเอกชนปัจจุบัน สามารถชี้แจงหลักการการบริหาร และอุปสรรคต่างๆ โดยย่อดังนี้

1.โรงเรียนเอกชนปัจจุบันประสบปัญหาเด็กนักเรียนลดลง เนื่องจากประชากรเด็กลดลง ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนภาครัฐก็มีนักเรียนลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนมีรายได้ลดลงไม่มีเงินส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชน และผลกระทบจากโรคโควิด-19

2.ปัญหานโยบายเรียนฟรีที่ไม่เรียนฟรีจริง ผู้ปกครองยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการเรียนที่สูง รัฐต้องศึกษาวิธีการจัดการศึกษาของสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีการบริการด้านการศึกษาที่ฟรีจริงๆ และมีการแจกอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า ชุดกีฬา ชุดว่ายน้ำ และประมาณ 26 อย่างที่ทาง กทม.แจกให้นักเรียนฟรี ทำไมการบริหารแบบพิเศษของ กทม.ทำได้ แต่ภาครัฐทำไม่ได้ รัฐโดยเฉพาะรัฐมนตรี ควรไปศึกษากับ กทม.ว่าเขาทำกันอย่างไร สำหรับโรงเรียนเอกชนรัฐไม่จำเป็นต้องช่วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ขอให้จ่ายเงินอุดหนุนในจำนวนเงิน หรือเปอร์เซนต์ที่เท่าเทียมกับภาครัฐก็พอแล้ว เพราะนักเรียนเอกชน หรือของรัฐ เรียนหนังสือในหลักสูตรเดียวกัน แต่ทำไมรัฐให้เงินอุดหนุนไม่เท่ากัน

3.โรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาคได้รับผลกระทบจากการที่การบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่น มีโครงการรัฐเรื่องการขยายตัวของโรงเรียนดีประจำตำบล ส่วนนี้รัฐต้องเข้ามาดูแล และต้องเพื่อให้โรงเรียนเอกชนอยู่รอดเช่น

4.การสอบ และการบรรจุครูของภาครัฐที่จัดขึ้นในระหว่างภาคการศึกษา ทำให้โรงเรียนขาดครู เช่น ครูต้องลาไปสอบ และประกาศผลสอบ รัฐก็เรียกครูบรรจุในช่วงระหว่างภาคเรียน ทำให้ครูเอกชนขาดแคลน

5.ผลของการปรับเงินเดือนครูปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นผลดีที่ช่วยให้ครูมีรายได้มากขึ้น และทำให้อาชีพครูดูมีศักดิ์ศรี มีค่าเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ และเป็นการจูงใจให้หลายคนหันมาประกอบอาชีพครู และเมื่อครูบรรจุแล้ว กรณีการหักเงินกองทุนสงเคราะห์ของครูเอกชน โดยรัฐกำหนดว่าโรงเรียนจะต้องทำรายการจ่ายในแต่ละเดือน 12 เปอร์เซ็นต์ โดยหักเงินเดือนครู 3 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียนช่วยจ่าย 3 เปอร์เซ็นต์ และรัฐจ่ายให้ 6 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ที่ครูจะได้เงินนี้เก็บสะสมไว้เป็นของตนเอง 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อจ่ายครบ 10 ปี เงินจำนวนนี้ ปัจจุบัน มียอดประมาณ 27,000 ล้านบาท รัฐควรใช้เงินจำนวนนี้คืนกลับเป็นรายรับของครูเอกชนบ้าง โดยคิดทำโครงการออกมาบ้างให้เกิดประโยชน์กับครูเอกชน โดยนำยอดใหญ่ 27,000 ล้านบาท มาพิจารณา โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้ ไม่ควรนำเงินนี้ไปแสวงหาดอกเบี้ยเป็นหลัก รัฐจะต้องนำเงินจำนวนนี้หมุนกลับไปใช้เป็นสวัสดิการให้ครูให้มากที่สุด

6.การบริหารโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นการบริหารที่ต้องมีการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนด้วยกัน บรรดาโรงเรียนใหญ่ที่มีทุนมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ไม่มียอดนักเรียน ถึงกับต้องปิดตัวเอง รัฐควรเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเช่น ด้านกฎหมายการเว้นระยะห่างการสร้างโรงเรียนที่เคยมี แต่ปัจจุบันไม่ถูกนำมาใช้ ใครจะสร้างโรงเรียนตรงไหน รัฐก็ออกใบอนุญาตให้ ซึ่งเป็นปัญหากับโรงเรียนเอกชนมาก

7.นโยบายของภาครัฐด้านการศึกษาไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายตลอดเวลา ทำให้การพัฒนาด้านการศึกษาไม่ต่อเนื่อง

8.รัฐไม่มีหลักเกณฑ์ในการพัฒนาคุณภาพครู ผู้ช่วยครู หรือครูพี่เลี้ยงอย่างจริงจัง การพัฒนาคุณภาพครูนั้น เป็นเรื่องทำตลอดเวลา โดยใช้ช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดเทอมทั้ง 2 ภาค หรือจัดอบรมในวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ รัฐไม่ควรจัดอบรมครูในวันธรรมดาที่โรงเรียนมีการสอน เหมือนอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน การจัดอบรมในวันธรรมดานั้น ถ้าโรงเรียนส่งครูมาอบรม ถามว่าในวันนั้นใครจะสอนนักเรียน เจ้าหน้าที่รัฐต้องเสียสละที่จะทำล่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ มิใช่มาอ้างว่าต้องจัดวันธรรมดา เพราะเสาร์ อาทิตย์ เป็นวันหยุด ดังนั้น ถ้ารัฐคิดว่าการทำโครงการต่างๆ ตามนโยบายให้เสร็จ แต่ไม่คำนึงถึงผลที่ได้รับ ผลที่ได้ก็จะไม่คุ้มกับเงินงบประมาณที่เสียไป

และการจัดอบรมแต่ละครั้ง ไม่ต้องไปใช้โรงแรมที่หรูราคาแพงๆ แล้วมีเงินทอน แต่ขอแนะนำให้ไปใช้ห้องประชุมของโรงเรียนรัฐบาลใน กทม.หลายโรงเรียนที่มีห้องประชุมใหญ่โตมีมาตรฐาน เช่น โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนราชบพิธ หรือขอใช้ห้องประชุมโรงเรียนเอกชนหลายๆ โรง ที่มีห้องประชุมที่มีมาตรฐานสวยงาม เช่น โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนอัสสัมชัญ หรืออีกหลายๆ โรง โรงเรียนทั้งของรัฐ และเอกชนเหล่านี้ ไม่คิดค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายที่แพงเหมือนโรงแรม เพียงค่าสถานที่ ค่าน้ำไฟ ค่าคนงานในราคาไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งถ้าใช้โรงแรมจะต้องเสียเป็นแสนบาท การมีโปรแกรมจัดการอบรมทุกเทอม ทุกปี เช่นนี้ จิตสำนึกความเป็นครูก็จะมีในตัวของครูมากขึ้น การตีเด็ก การทำร้ายเด็ก หรือปัญหาระหว่างครู และเด็กก็จะลดลง

9.การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชาติ ถ้าชาติไร้การศึกษา ประเทศก็จะไม่พัฒนา บุคลากรที่จะช่วยให้การศึกษาพัฒนาได้คือ ครู ดังนั้น ขวัญ และกำลังใจของครูต้องเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ารัฐยังไม่ให้ความเท่าเทียม และความเสมอภาคระหว่างครูภาครัฐ และครูภาคเอกชนในทุกๆ ประเด็น เช่น เงินกองทุนสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลต้องเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีการให้สิทธิประโยชน์ถึงพ่อแม่ และลูก ได้เหมือนครูภาครัฐ

10.ควรมีการช่วยเหลือลดหย่อนภาษีต่างๆ ทุกชนิดกับโรงเรียนเอกชน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ และสนับสนุนกิจการโรงเรียนเอกชน

11.การให้สิทธิพิเศษ แก่ผู้รับใบอนุญาต เจ้าของโรงเรียน ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน ในการเป็นข้าราชการพิเศษของกระทรวง เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าในการสร้างการศึกษาของชาติ

12.รัฐควรเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร และครูเอกชน ได้ทำการรับรองวิทยฐานะ มิใช่ให้สิทธิกับครูโรงเรียนรัฐฝ่ายเดียว และเงินที่จะจ่าย ควรเป็นเงินในงบประมาณของรัฐ เพราะถ้ารัฐจัดการศึกษาเองโดยไม่มีเอกชนมาช่วย รัฐต้องจ่ายมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว จากสถิติโรงเรียนเอกชนที่มาดำเนินการช่วยภาคการศึกษาของรัฐ ทำให้รัฐประหยัดงบประมานถึงเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อปี เงินที่ประหยัดได้นี้ควรกลับมาทำประโยชน์ให้กับครู และโรงเรียนเอกชนบ้าง

13.การบริหารการศึกษาของภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นการบริหารที่แตกต่างกัน การบริหารงานของภาครัฐ เป็นการบริหารลักษณะการบริการให้ประชาชนตามนโยบายที่รัฐกำหนด เป็นการบริหารที่ไม่มีคำว่าลูกค้า ไม่มีคำว่ากำไร หรือขาดทุน ไม่มีการส่งเสริมการตลาด ไม่มีนักบริหารมืออาชีพ มีข้าราชการครูที่ต้องทำงานอยู่ในกรอบ แต่การบริหารการศึกษาเอกชน เป็นการลงทุนด้วยเงินของเอกชน ในด้านที่ดิน อาคาร สถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ต่างๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษีโรงเรือน ค่ายานพาหนะ มีการดำเนินการตามนโยบายของแต่ละโรงเรียนที่มีการปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวตามความต้องการของตลาด และตามแนวการพัฒนาของโลกปัจจุบัน เพื่อที่จะต้องทำให้ผู้ปกครองมีความพึงพอใจที่สุด โรงเรียนเอกชนสามารถทำด้วยเหตุผลดังกล่าว

ถ้าการศึกษาเอกชนสามารถแยกออกมาจากการบริหารร่วมกับภาครัฐ ก็จะทำให้การศึกษาเอกชนสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ การศึกษาเอกชนควรแยกมาเป็นกระทรวงการศึกษาเอกชน ซึ่งจะมีหน่วยงานการศึกษา ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐานอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 การอาชีวะศึกษาเอกชน โรงเรียนนอกระบบต่างๆ โรงเรียนเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ต้องมาอยู่กับกระทรวงการศึกษาเอกชนด้วยเช่นกัน

แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ได้กำหนดตัวชี้วัดตามเป้าหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร และการเงินเพื่อการศึกษา ให้มีการจัดระบบจัดสรรเงินไปสู่ตัวผู้เรียน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของสภาการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ที่เสนอให้จัดระบบงบประมาณการศึกษาที่เน้นตัวผู้เรียน และกำหนดค่าใช้จ่ายต่อหัวตามภารกิจ และตัวผู้เรียนอย่างเป็นธรรม

ในแผนนี้กล่าวไว้ได้ถูกต้อง แต่ผู้ใช้ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติให้สมบูรณ์ เนื่องจากการศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่ไม่มีแบบแผนในการทำงาน ไม่มีคนที่มีความสามารด้านการศึกษาเข้ามาช่วย ไม่มีคนช่วยคิดปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทำให้การศึกษาไทยไม่พัฒนา เกิดความล่าช้า ผลิตคนออกมาไม่ได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จนเกิดการว่างงานมากมายในขณะนี้

แผนการศึกษาชาติจะนำเสนออย่างไรก็ตาม หรือแม้ว่าแนวคิดจากผู้เขียนทั้งหมดที่เขียนมา โดยให้ความสำคัญของการศึกษาเอกชนที่มีมากมายหลายประเด็น ถ้าไม่สามารถสื่อถึงภาครัฐได้ ก็จะเกิดวิกฤตการศึกษาไทยอย่างแน่นอน เหมือนหัวข้อของบทความ “วิกฤตการศึกษาไทย ถ้าไร้การศึกษาเอกชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image