09.00 INDEX : บทเรียน สุราษฎร์ธานี ปี 2558 ขยายผลเป็น 7 จังหวัด ปี 2559

ไม่เพียงแต่กรณีระเบิดที่รามคำแหงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 เท่านั้นที่จะเป็น “บทเรียน”

ชี้ทิศทาง 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

หากแต่กรณีวางเพลิง วางระเบิด ที่สหกรณ์โคออปและห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เกาะสมุย เมื่อเดือนเมษายน 2558

ก็ได้กลายเป็นอีก “บทเรียน”

Advertisement

เป็นบทเรียนให้กับสถานการณ์สดๆ ร้อนๆ จากวางเพลิง วางระเบิด 17 จุด พร้อมกันใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

ทำให้ “ตำรวจ” เริ่มมี “แนวทาง”

แนวทางที่เปรียบเทียบและโยงสถานการณ์ที่ หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เข้ากับระเบิดที่รามคำแหงเมื่อปี 2556

Advertisement

กระทั่ง ออก “หมายจับ” ได้เป็นรายแรก

นั่นก็คือ หมายจับ นายอาหะมะ ละเน็ง ซึ่งโยงไปยังเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเดือนตุลาคม 2547

กลิ่น “ปล้นปืน” ที่ “เจาะไอร้อง” ก็โชยมา

ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความรัดกุมอย่างยิ่งยวดในการใช้ถ้อยคำระหว่างแถลงข่าวอย่างไร

1 เป็นวินาศกรรม มิใช่ “ก่อการร้าย”

1 ไม่เกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ว่าจะเป็น “คน” จาก “พื้นที่” นั้นก็ตาม

กระนั้น ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับจากปฏิบัติการอันเกิดขึ้นบริเวณรามคำแหงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556

คือ การ “ขยาย” ขอบเขตแห่ง “ปฏิบัติการ”

ยิ่งเมื่อศึกษากรณีวางเพลิง วางระเบิด เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่สุราษฎร์ธานี

ยิ่งมากด้วยความละเอียดอ่อน อ่อนไหว

สถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2558 สามารถเห็นได้ในสถานการณ์ เดือนสิงหาคม 2559 อย่างเด่นชัด

1 เป็นการวางเพลิง 1 เป็นการวางระเบิด

เพียงแต่เมื่อปี 2558 ปะทุขึ้นเฉพาะจุดที่โคออป ที่ห้างสรรพสินค้า เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

แต่ในปี 2559 เกิด 17 จุด 7 จังหวัด

จังหวัดหนึ่งคือสุราษฎร์ธานี อีก 6 จังหวัดเป็น ภูเก็ต พังงา ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์

ราวกับสุราษฎร์ธานีเป็นการทดลอง

เมื่อทดลองและสรุปบทเรียนแล้วจึง “ขยาย” มาเป็นปฏิบัติการในเดือนสิงหาคม 2559

หากทุกอย่าง “ดำเนิน” มาอย่างนี้

ถามว่าจากสุราษฎร์ธานีเมื่อเดือนเมษายน 2558 กับ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นการขยายพื้นที่หรือไม่

คำตอบจึงขึ้นอยู่กับ “ความเป็นจริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image