09.00 INDEX : บทเรียน สุราษฎร์ธานี ปี 2558 ขยายผลเป็น 7 จังหวัด ปี 2559

ไม่เพียงแต่กรณีระเบิดที่รามคำแหงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 เท่านั้นที่จะเป็น “บทเรียน”

ชี้ทิศทาง 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

หากแต่กรณีวางเพลิง วางระเบิด ที่สหกรณ์โคออปและห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เกาะสมุย เมื่อเดือนเมษายน 2558

ก็ได้กลายเป็นอีก “บทเรียน”

Advertisement

เป็นบทเรียนให้กับสถานการณ์สดๆ ร้อนๆ จากวางเพลิง วางระเบิด 17 จุด พร้อมกันใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

ทำให้ “ตำรวจ” เริ่มมี “แนวทาง”

แนวทางที่เปรียบเทียบและโยงสถานการณ์ที่ หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เข้ากับระเบิดที่รามคำแหงเมื่อปี 2556

กระทั่ง ออก “หมายจับ” ได้เป็นรายแรก

นั่นก็คือ หมายจับ นายอาหะมะ ละเน็ง ซึ่งโยงไปยังเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเดือนตุลาคม 2547

กลิ่น “ปล้นปืน” ที่ “เจาะไอร้อง” ก็โชยมา

ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความรัดกุมอย่างยิ่งยวดในการใช้ถ้อยคำระหว่างแถลงข่าวอย่างไร

1 เป็นวินาศกรรม มิใช่ “ก่อการร้าย”

1 ไม่เกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ว่าจะเป็น “คน” จาก “พื้นที่” นั้นก็ตาม

กระนั้น ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับจากปฏิบัติการอันเกิดขึ้นบริเวณรามคำแหงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556

คือ การ “ขยาย” ขอบเขตแห่ง “ปฏิบัติการ”

ยิ่งเมื่อศึกษากรณีวางเพลิง วางระเบิด เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่สุราษฎร์ธานี

ยิ่งมากด้วยความละเอียดอ่อน อ่อนไหว

สถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2558 สามารถเห็นได้ในสถานการณ์ เดือนสิงหาคม 2559 อย่างเด่นชัด

1 เป็นการวางเพลิง 1 เป็นการวางระเบิด

เพียงแต่เมื่อปี 2558 ปะทุขึ้นเฉพาะจุดที่โคออป ที่ห้างสรรพสินค้า เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

แต่ในปี 2559 เกิด 17 จุด 7 จังหวัด

จังหวัดหนึ่งคือสุราษฎร์ธานี อีก 6 จังหวัดเป็น ภูเก็ต พังงา ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์

ราวกับสุราษฎร์ธานีเป็นการทดลอง

เมื่อทดลองและสรุปบทเรียนแล้วจึง “ขยาย” มาเป็นปฏิบัติการในเดือนสิงหาคม 2559

หากทุกอย่าง “ดำเนิน” มาอย่างนี้

ถามว่าจากสุราษฎร์ธานีเมื่อเดือนเมษายน 2558 กับ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นการขยายพื้นที่หรือไม่

คำตอบจึงขึ้นอยู่กับ “ความเป็นจริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image