รมว.สุชาติ มุ่งแก้ปมค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว หวังดึงไทยขึ้นเทียร์ 1 ภายในปี 64

แฟ้มภาพ
รมว.สุชาติ มุ่งแก้ปมค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว หวังดึงไทยขึ้นเทียร์ 1 ภายในปี 64

วันที่ 22 มกราคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด จนได้รับการปรับสถานะ จัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 เทียร์ 2 (Tier 2) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยปรับขึ้นจากเดิมในกลุ่ม Tier 2 Watch list เมื่อปี 2560

“กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีการค้าโลก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของประเทศไทย ด้วยการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงอย่างเป็นระบบ ลดปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง เพื่อเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม แรงงานได้รับค่าจ้างและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งการสร้างมาตรฐานการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในการขาดแคลนแรงงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่เทียร์ 1 ให้ได้ในปี 2564” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.)กล่าวว่า กกจ.มีเป้าหมายจ้างเจ้าหน้าที่ตำแหน่งล่าม/ผู้ประสานงานด้านภาษา จำนวน 20 คน เพื่อทำหน้าที่สื่อสารและปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานแรงงานประมง มีระยะเวลาการจ้าง 9 เดือน แบ่งเป็น ล่าม(คนไทย) จำนวน 9 คน ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 9 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ตราด สงขลา ระนอง สมุทรปราการ จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และเป็นผู้ประสานงานด้านภาษา (คนต่างด้าว) จำนวน 11 คน ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 11 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สตูล ฉะเชิงเทรา กระบี่ ตรัง นราธิวาส ชุมพร ชลบุรี สมุทรสงคราม พังงา และปัตตานี

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวว่า กกจ.เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย ซึ่งในส่วนแรงงานประมงนั้น ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานเรื่อยมา เนื่องจากเป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ เพราะไม่ต้องการทำงาน 3 ประเภท ที่เรียกว่างานกลุ่ม 3D ได้แก่ Difficult (งานลำบาก) Dirty (งานสกปรก) และ Dangerous (งานอันตราย) เช่น ก่อสร้าง เกษตร ปศุสัตว์ โรงสี โรงน้ำแข็ง เหมืองแร่ งานใต้น้ำ และงานประมง จึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทน

“แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะภาษาประจำท้องถิ่นของตนเอง เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านภาษา /ล่ามเพื่อการสื่อสาร จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการสื่อสารให้แรงงานต่างด้าวเข้าใจ รับรู้ ขอรับคำปรึกษา การแนะนำ อบรมชี้แจง การยื่นคำขอใบอนุญาตทำงาน การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และบริการของภาครัฐ รวมถึงการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรอง ในกรณีผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนต่างด้าวเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างถูกต้อง มีค่าจ้าง มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” อธิบดี กกจ. กล่าวและว่า ในปีงบประมาณ  2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) มีการออกใบอนุญาตทำงาน 34,914 คน อบรมนายจ้าง/ลูกจ้าง 3,810 คน ให้คำปรึกษา 85,108 คน รับแจ้งการทำงาน 26,201 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image