“ทักษิณ ชินวัตร” เศรษฐีผู้มั่งคั่ง ที่ “บิ๊กตู่” พูดถึง จากธุรกิจโทรคมนาคม ทศวรรษ 2530

ภาพจาก : https://www.thaksinofficial.com/business/cabletv/

“ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนรวยเมื่อปี 2530 หรอก ลองไปดูสิ ใครรวยเมื่อปี 2530 จากโครงการโทรคมนาคม” 

วรรคทองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อช่วงเช้าที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา พูดถึง “ผู้มั่งคั่ง ร่ำรวยจากโครงการโทรคมนาคม เมื่อปี 2530” ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลัง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และคณะผู้บริหาร เข้าพบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้ โครงการ BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“มีอะไรสงสัยเกี่ยวกับ Bio Circular Green หรือไม่ รู้จักมั้ย ช่วยกันพูดหน่อยนะ อย่าพูดแต่เรื่องการเมือง ความขัดแย้งอย่างเดียวเลย พูดถึงความก้าวหน้า มีเยอะแยะ รัฐบาลมีวิสัยทัศน์อย่างไร ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์เรื่องเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น นี่คือคำว่า วิสัยทัศน์ รัฐบาลเดินหน้าเช่นนี้มาโดยตลอดมันต้องคิด ไปข้างหน้า อย่าไปคิดแต่เรื่องเดิมๆทำแต่เรื่องเดิมๆ มันก็จะได้แต่เรื่องเดิม ลดความเหลื่อมล้ำอะไรไม่ได้ แล้วอยากบอกว่า ประเทศไทยเราเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2520 ที่มีการปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นเรื่องการส่งออกและเทคโนโลยี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนรวยเมื่อปี 2530 หรอก ลองไปดูสิ ใครรวยเมื่อปี 2530 จากโครงการโทรคมนาคม”

แน่นอน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พูดจบ ผู้สื่อข่าว เย้ากลับว่า เข้าใจโยง

Advertisement

เหตุที่เข้าใจโยงก็เพราะรู้ๆกันว่า คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงนั้น หมายถึงใคร ?

เพราะผู้ที่มั่งคั่ง ร่ำรวย จากโครงการโทรคมนาคม เมื่อปี 2530 หรือเมื่อกว่า 34 ปีที่แล้วก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายแท้ๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำกำลังเข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั่นเอง

เพราะ ในช่วงต้นปี 2530 เป็นช่วงที่ นายทักษิณ ได้นำธุรกิจโทรคมนาคมในเครือหลายบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะบุกเบิกช่องทางการสื่อสารข้อมูลผ่านทางอากาศ หรือ “การสื่อสารผ่านดาวเทียม” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

Advertisement

ใน เว็บไซต์ส่วนตัวของนายทักษิณ บันทึกเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดยิบ

“แม้ว่าในขณะนั้น ทั่วทั้งประเทศจะสื่อสารผ่านเครือข่ายภาคพื้นดินได้อย่างครอบคลุมแล้ว แต่ก็ยังมีจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ขาดไปอีกตัวหนึ่ง นั่นคือช่องทางการสื่อสารข้อมูลผ่านทางอากาศทั้งแบบทั่วประเทศ และข้ามประเทศของตัวเอง ซึ่งหลายสิบปีก่อนหน้านั้นไทยพึ่งพาอาศัยการเช่าช่องส่งสัญญาณดาวเทียมของชาติอื่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เป็นกิจการในประเทศ และกิจการระหว่างประเทศ เช่น การสื่อสารข้อมูลระหว่างองค์กร  หรือแม้แต่การถ่ายทอดสัญญาณภาพต่างๆ ก็ต้องเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของชาติอื่นทั้งสิ้น

“แต่ด้วยความที่ประเทศไทยในเวลานั้นถือว่า ดาวเทียมยังเป็นเรื่องไกลตัว เลยยังไม่ได้สนใจสร้างและพัฒนากิจการนี้มากนัก เหตุผลสำคัญก็คือทุกองค์กรยังสามารถเช่าใช้ช่องสัญญาณบางช่องของดาวเทียมที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นเจ้าของได้อยู่ แต่ดร.ทักษิณเห็นว่า ควรที่จะเริ่มมีช่องสัญญาณเป็นของตัวเองได้แล้ว โดยเฉพาะ เมื่อเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเติบโต และการสื่อสารกำลังจะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทุกคน”

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ นายทักษิณ ตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่ในปี 2533 ที่ชื่อว่า บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำธุรกิจดาวเทียม และเตรียมตัวเข้าร่วมประมูลสัมปทานดาวเทียมในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยจะต้องแข่งกับบริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุนของต่างชาติอีก 5 ราย

แน่นอน ผลการเปิดซองประมูล บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะ

โดยเสนอได้ผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งที่ 15.33% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี และรับประกันผลกำไรขั้นต่ำไว้ที่ 1,350 ล้านบาท หักปากกาเซียนที่ปรามาสดูถูกว่า เป็น “บริษัทห้องแถว” เพราะในตอนเริ่มต้นกิจการนั้น เป็นบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง ตั้งกิจการใหม่เอี่ยมโดยมีพนักงานแค่ 8 คนเท่านั้น

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจรจากฐานส่งจรวดขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ที่ประเทศเฟรนช์กิอานา

เป็นดาวเทียมที่ชื่อ “ไทยคม” ตามที่ ในหลวงร.9 พระราชทานนามดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรก โดยมีที่มาจากคำว่า Thai Communications หรือ ไทยคมนาคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image