อ.โบราณคดี แนะกรมศิลป์ให้ความรู้กระบวนการทวงคืน 2 ทับหลัง ชี้ภาคประชาชนบทบาทสูง หนุนส่งกลับท้องถิ่น แต่มาตรการต้องรัดกุม

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สืบเนื่องกรณีภารกิจทวงคืนทับหลัง 2 ชิ้น จากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว โดยมีพิธีมอบคืนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยจะถูกขนส่งถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิในเวลา 18.30 น. วันนี้ ก่อนเตรียมจัดแสดงในพื้นที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครต่อไปนั้น (อ่านข่าว 2 ทับหลังจากสหรัฐถึงไทยศุกร์นี้ ส่งต่อพช.พระนคร 31 พ.ค. เตรียมจัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย) และ ทับหลังหนองหงส์-เขาโล้นถึงไทยไวขึ้น จากตี 3 เป็น 18.30 น. วันนี้ หลังบ.ขนส่งเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า จากกรณีที่กรมศิลปากรเตรียมจัดแสดงทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นเวลา 3 เดือนนั้น ส่วนตัวมองว่า เนื้อหาอาจต้องเริ่มต้นก่อนว่า เรื่องของสมบัติทางวัฒนธรรมของแผ่นดินมีความสำคัญอย่างไร หลังจากนั้น ควรเป็นการพูดถึงกระบวนการต่างๆ ที่กว่าจะได้มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ภาคประชาชนมีบทบาทสูงมาก คือ เริ่มต้นจากนายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ และนายโชติวัฒน์ รุญเจริญ นักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่มีภาคประชาชนมีความตระหนักรู้และพร้อมชี้ช่องทาง รวมถึงเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน ส่วนในอนาคตหลังจัดนิทรรศการแล้ว หากคืนท้องถิ่นได้ จะเป็นผลดี แต่ต้องมีมาตรการดูแลอย่างรัดกุมไม่ให้สูญหายไปอีก

ทับหลังปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดงจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันบวงสรวงและรับมอบคืนจากสหรัฐ เมื่อ 26 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐ

“จำเป็นต้องพูดถึงประเด็นที่ว่า สมบัติของชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมบัติของหลวง หรือของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นของประชาชนด้วย ดังนั้นคนทั่วไปก็สามารถเข้ามามีส่วนในการอนุรักษ์ และสนับสนุนได้ เราอาจต้องเน้นย้ำให้เห็นว่าสมบัติพวกนี้ เป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาเป็นไปของดินแดนไทย ผมคิดว่าทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ต่อเนื่องมาจากกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในแง่ของการที่เราต้องเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินแผ่นดินที่เราเคยมีอยู่ แล้วถูกโจรกรรมไปต่างประเทศ

ดังนั้น เมื่อจัดแสดงครบ 3 เดือนแล้ว ไม่อยากให้เก็บเข้าไปไว้ในคลัง เพราะทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ไมได้มีคุณค่าเฉพาะในแง่ของประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีแล้ว แต่มีคุณค่าในเรื่องของความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม น่าจะสามารถชูขึ้นมาได้ ถ้าถามว่าควรทำอย่างไร หากนำกลับไปที่ท้องถิ่นได้ ก็น่าจะเป็นผลดี แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือ การดูแลรักษาไม่ให้หายไปอีก จะมีมาตรการอย่างไร หากเคยไปที่ปราสาทเขาโล้น จะทราบว่าค่อนข้างลับตาคน พูดง่ายๆว่า ถ้าใครมีเจตนาจะโขมย ก็ทำได้แน่นอน หรือแม้แต่ปราสาทหนองหงส์ แม้ใกล้ชุมชนแต่สามารถโจรกรรมได้ เพราะไม่ได้มีเวรยามเข้าตลอด ถามว่าควรกลับไปที่ชุมชนไหม ถ้าท้องถิ่นมีศักยภาพก็เห็นควรว่ากลับไปได้ ไม่มีปัญหา แต่กระบวนการในการระมัดระวัง อาจต้องทำให้รัดกุม” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

Advertisement
ปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นอาจไม่จำเป็นที่จะต้องกลับไปอยู่กับโบราณสถานเสมอไป การทำจำลองให้เสมือนจริง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าพิจารณา เพราะปัจจุบันโบราณสถานหลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพิมาย ทับหลังบางชิ้นก็เป็นของจำลองซึ่งดูคล้ายของจริงมาก ในขณะที่ของจริงไปอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนภูมิภาคที่ใกล้กับโบราณสถานแห่งนั้นมากที่สุด

“ถ้าติดตั้งของจริงได้ ความเป็นของแท้ดั้งเดิมของโบราณสถาน ศาสนสถาน ก็เกิดขึ้น แต่ที่เป็นห่วงคือ มันจะหายไปอีกหรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าดูแลรักษาได้คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆจากต่างประเทศ ถ้าเรามีหลักฐานชัดเจน ผมคิดว่าเป็นสิทธิ และหน้าที่ของเราที่จะต้องทวงคืน เป็นความถูกต้องในโลกสมัยใหม่ที่วัตถุทางวัฒนธรรมของดินแดนใด ก็ควรกลับไปสู่ดินแดนของประเทศนั้นๆ กรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นของไทย มีภาพถ่ายหรือเอกสารที่สามารถยืนยันได้ เห็นควรสนับสนุน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานก็พยายามทำอยู่ คิดว่าค่อนข้างเร่งด่วน ยิ่งเป็นกระแสก็ยิ่งทำให้รวดเร็วและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น”  รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

สกู๊ปข่าวที่เกี่ยวข้อง ทับหลัง‘หนองหงส์-เขาโล้น’ได้กลับไทย ต้องให้เครดิต‘ภาคประชาชน’

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image