คอลัมน์ Think Tank: ‘บอนน์ ชาลเลนจ์’ อีกความร่วมมือในการอนุรักษ์สำคัญ

Sergio Garrido/IUCN

โลกของเราขยับเข้าใกล้เป้าหมายปี พ.ศ.2563 ที่จะฟื้นฟูซ่อมแซมป่าไม้และพื้นที่ทางธรรมชาติที่เสียหายมากขึ้นไปอีกขั้น

คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา มาลาวีและกัวเตมาลาให้สัญญาว่าจะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมรวมกันแล้วเท่ากับ 4.54 ล้านเฮกตาร์ (28.375 ล้านไร่)

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ “บอนน์ ชาลเลนจ์” ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมและป่าไม้ที่ถูกทำลาย 150 ล้านเฮกตาร์ (937.5 ล้านไร่) ให้กลับมาอีกครั้งภายในปี 2563

Advertisement

“เราผ่านหลักไมล์สำคัญที่ 100 ล้านเฮกตาร์ (625 ล้านไร่) มาเป็น 113 ล้านเฮกตาร์ (706.25 ล้านไร่) และเรากำลังอยู่บนเส้นทางที่ดีที่จะบรรลุเป้าหมาย” เบียงคา แจ๊กเกอร์ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมของนิการากัวกล่าวในงานแถลงข่าว และว่า “สำหรับผู้ที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่สลักสำคัญอะไร ควรจะต้องคิดใหม่อีกครั้ง”

แจ๊กเกอร์ระบุว่า พื้นดินจะปกป้องทรัพยากรน้ำ เพิ่มผลผลิตภาคการเกษตร สร้างงานจำนวนมาก และยังเป็นการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอีกด้วย

รวมแล้วมีรัฐบาล องค์การและบริษัทต่างๆ 36 แห่ง เข้าร่วมในโครงการบอนน์ ชาลเลนจ์ ที่ริเริ่มโดยเยอรมนีและไอยูซีเอ็นและได้รับการประกาศสนับสนุนในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติเมื่อปี 2557

Advertisement

เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คือการฟื้นฟูภูมิทัศน์ให้ได้ 350 ล้านเฮกตาร์ (2,187.5 ล้านไร่) ภายในปี 2573

ไอยูซีเอ็นระบุว่า การบรรลุเป้าหมายจะสร้างรายได้สุทธิคิดเป็น 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) จากผลผลิตจากการเพาะปลูกและผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และพื้นที่ลุ่มน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1.7 ล้านตันต่อปี

ประเทศที่เข้าร่วมโครงการบอนน์ ชาลเลนจ์เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีปานามา ไอวอรีโคสต์ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง กินีและกานา

โครงการนี้น่าจะถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญอีกครั้งที่โลกแสดงออกมาให้เห็นในห้วงเวลาเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image