‘เมืองพิมาย’ ประชุมครั้งประวัติศาสตร์ กรมศิลป์ เทศบาล ภาคประชาชน หวังลบรอยแผล 10 ปี แห่งความขัดแย้ง

ชาวพิมายเปิดประวัติศาสตร์ลดความขัดแย้ง ร่วมกันหารือเพื่อนำเมืองไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทุกฝ่าย โดย ภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย และนักวิจัยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา นำทุกฝ่ายหารือข้อขัดแย้งต่างๆ รวมทั้งหาวิธีการจัดการให้เป็นไปในแนวทางที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย อย่างถูกต้องตามหลักกฎหมาย และมีการประกาศตัวร่วมมือ ประสานโครงการต่างๆ ร่วมกัน โดยชาวเมืองพิมายพร้อมใจกันช่วยเหลืองานกรมศิลปากรและเทศบาลเมืองอย่างเต็มที่ ลดความขัดแย้งในรอบ 10 ปี

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักศิลปากรที่ 10 เมืองพิมาย ภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย ร่วมกับตัวแทนคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นัดหมาย นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นายสมเดช ลีลามโนธรรม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทพิมาย น.ส.เบญจวรรณ พลประเสริฐ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย นายพิศาล พัฒนพีระเดชรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพิมาย เพื่อชี้แจงผลของการดำเนินโครงการการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม เมืองเก่าพิมาย ด้วยการขับเคลื่อนทางศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และแนะนำแนวทางการจัดการต่อเนื่องโครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในเมืองพิมายด้วยทุนทางวัฒนธรรม

กระบวนการภาคประชาชน ช่วยคลายปมและพยุงหน่วยงานให้เดินต่อ

Advertisement

ตลอดเวลาของการทำงานของโครงการที่ทำร่วมกับภาคประชาชนทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มในชื่อ “ภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย” ซึ่งกลุ่มที่ประกอบด้วยภาคี 5 ฝ่าย คือ ภาคีฝ่ายรัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน และจังหวัด โดยปัจจุบันภาคีอนุรักษ์ได้ขยายกลุ่มออกไปสู่กลุ่มภาคีหนุ่มสาว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมทำให้เกิดความเข้มแข็งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งตัวแทนที่ร่วมอยู่ในกลุ่มภาคีมีทั้งข้าราชการทำงานอยู่สำนักศิลปากรที่ 10 คนรุ่นใหม่ที่ทำงานสำนักเทศบาลตำบลพิมาย อาจารย์ประจำในโรงเรียนประถมและมัธยมในอำเภอพิมาย ทั้งที่เกษียณและยังทำงานอยู่ เจ้าของกิจการร้านอาหารโรงแรม และอาชีพอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในพิมายและทำงานนอกพื้นที่

นายทศพร ศรีสมาน กล่าวว่า ในฐานะที่เคยอยู่ในพิมายมาก่อน และเคยเห็นผลงานที่รัฐต่อรัฐทำไม่สำเร็จ แต่เมื่อมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้าไป นี่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยส่วนตัวผลก็มีแง่บวกกับเรื่องนี้ เท่าที่มีประสบการณ์ และขอชื่นชมกลุ่มภาคีอนุรักษ์เมืองพิมายที่ร่วมมือกันทำกิจกรรมกับทางโครงการของมหาวิทยาลัยทำตรงนี้ขึ้นมา มีกิจกรรมต่างๆ ก็อยากให้หน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วย เช่น พัฒนาการอำเภอ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพราะถ้าโครงการหมดไปแล้วใครจะทำต่อไป ชุมชนต้องขับเคลื่อนตัวเอง

“หน่วยงานรัฐอย่างสำนักฯ 10 ก็พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลที่เราให้ได้มากที่สุด อดีตในพิมายก็เป็นบทเรียน ว่าอะไรที่ทำให้เกิดปัญหา เกิดความขัดแย้ง และตอนนี้ทางเทศบาลท่านนายกและรองก็เข้ามาคุย เราว่าจะแก้ปัญหาร่วมกัน ภาคประชาชนก็เป็นจุดแข็งที่จะทำให้เกิดความขับเคลื่อนและไปต่อกันได้ทั้งทางกรมศิลป์และเทศบาล” ผอ.สำนักศิลปากรที่ 10 กล่าว

Advertisement

นายพิศาล พัฒนพีระเดช พูดถึงประเด็นประสานความเข้าใจระหว่างกรมศิลป์และเทศบาลตำบลพิมายว่า เพิ่งมารับตำแหน่งได้ไม่นาน ในภาพรวมเทศบาลยินดีช่วยเหลือทุกเรื่อง และเพิ่งได้มาคุยกับทางสำนักศิลปากรฯเรื่องข้อปัญหาที่เคยเป็นความขัดแย้งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง เรื่องความสูง หรือเรื่องการที่การทำงานอะไร ผมว่าเทศบาลต่อไปนี้ก็จะขอความเห็นทุกฝ่าย เพื่อการทำงานที่ราบรื่น

“ผมว่ามันหมดยุคสมัยแล้วที่ทำอะไรเองไม่ประสานกับใคร” นายพิศาลกล่าว

การประชุมหารือร่วมกันในเมืองพิมาย ระหว่างสำนักศิลปากรที่ 10 เทศบาลตำบลพิมาย นักวิจัย และภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พิมายที่ไม่ใช่มีแต่ปราสาทหิน

นายวรเชษฐ์ ลีลาเจริญพร ช่างภาพอิสระ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสมาชิกกลุ่มยังบลัด (Young Blood) ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาพัฒนาบ้านเมืองของตนเอง กล่าวถึงปัญหาของเมืองพิมายไว้อย่างน่าสนใจว่า หลายๆ อย่างที่ภาครัฐต้องการทำก็ดี แต่ภาครัฐมีปัญหาก็เรื่องการสื่อสารแบบเดิมๆ ทำให้มีปัญหา

“ดีใจที่มีการประชุมแบบวันนี้ เพราะผมก็ยังไม่เคยเจอมาก่อน ว่าทุกคนพูดถึงความร่วมมือกัน มองเห็นสิ่งเดียวกัน ตรงกันได้ขนาดนี้ ส่วนตัวที่อยากทำงานให้เมือง เพราะมองเห็นว่าพิมายมีศักยภาพ และมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน ไปอยู่ที่อื่นมา มีไอเดียที่จะมาปรับปรุงบ้านของตนเองให้เป็นที่ประกอบการ ผมว่าพิมายนี่ดีถึงขั้นเป็นเมืองเกษียณได้ คนมุ่งประเด็นแต่ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวไม่ออกไปไหนนอกปราสาทหิน เขาไม่มาซื้ออะไรข้างนอกเลย ไม่ออกมาพักด้วย ส่วนผมทำเรื่องร้านกาแฟ เป็น Cafe Culture ถึงว่าเป็นจุดหมายปลายทางว่าให้คนมาเที่ยวร้านกาแฟ ส่วนปราสาทนี่เป็นของแถม มีปัญหาคือช่องระหว่างรุ่น คือเจ้าของที่ดินเขาก็ไม่เข้าใจว่า อาคารที่เขามีอยู่สร้างมูลค่าได้อย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่เชื่อว่าลูกจะทำให้มันมีมูลค่าได้ บอกว่าอยู่เฉยๆ น่าจะดีกว่า วัยอย่างพวกเรานี่ยังไม่มีสินทรัพย์ขนาดนั้นก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีทุน” วรเชษฐ์เล่า

ย้อนอ่าน ‘พิมาย’ไม่ได้มีแค่ปราสาทหิน สแกน เมือง บ้าน ชุมชน และผู้คนในยุคเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในพิมายที่มีการเคลื่อนไหวแต่คนนอกอาจไม่รู้ นั่นคือความพยายามผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนเมือง เช่น กลุ่มวิ่ง กลุ่มจักรยาน กลุ่มมอเตอร์ไซค์วิบาก ชมรมถ่ายภาพ และขณะนี้เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่วมกับโครงการวิจัย ทำเส้นทางกีฬาในแม่น้ำมูลบริเวณเมืองพิมาย เริ่มจากรวมคลัสเตอร์ของซับบอร์ด (Stand Up Board) ซึ่งเป็นกีฬาทางน้ำยืนบนกระดาน ด้วยทุกฝ่ายเห็นว่าเหมาะกับยุคนิวนอร์มอล ที่ทุกคนควรแยกกันออกกำลังกาย

ที่ประชุมยังได้เปิดประเด็นเรื่องการประสานงานการทำเมืองให้น่าอยู่เพิ่มเติมว่า จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ลบล้างภาพเก่าที่สื่อต่างๆ เคยลงถึงข้อขัดแย้ง ภาพการประท้วง การถูกถอดจากมรดกโลกเนื่องจากหลายฝ่ายเห็นว่าพิมายเป็นเมืองไม่สงบ มีความขัดแย้งระหว่างองค์กร ขาดความเข้าใจกัน ขณะนี้เมื่อทุกฝ่ายต่างเริ่มมาร่วมงานใหม่พร้อมๆ กัน น่าจะเริ่มแก้ไขความขัดแย้งให้หมดไป เป็นภาพใหม่ของเมืองพิมาย

นางประนอม ไชยวิชิต ประธานภาคีอนุรักษ์เมืองพิมายกล่าวทิ้งท้ายว่าภาพเก่าๆ ขอให้ลืมไป แล้วมาเริ่มกันใหม่ ช่วยกันทำให้เมืองพิมายมีความสุขน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าเดิน คิดว่าการที่จะกลับมาเป็นมรดกโลกไม่ใช่เรื่องยากถ้าเราประสานสามัคคีกันแบบนี้ ครูประนอมอยู่เมืองนี้มาตั้งแต่เกิด เห็นการทำเมืองมาหลายรุ่น เมื่อมาเห็นการจัดการในวันนี้ทำให้ดีใจมาก

“อยากให้เราคุยกันได้ และคุยกันดีๆ อย่างนี้ตลอดไป” นางประนอมกล่าว

การมีส่วนร่วมต้องมีความจริงใจ และทำจริงๆ ไม่ใช่แต่คำพูด

การร่วมมือกันในครั้งนี้ เกิดจากภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย และกระบวนการการวิจัยของโครงการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเก่าพิมาย ซึ่งนักวิจัยได้ใช้กระบวนการทางการทำงานแบบมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกัน

นายวัลลภ ศรีสำราญ นักวิจัยประจำโครงการฯ กล่าวว่า การรวมตัวกันอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่งในกระบวนการนี้คือการนำภาคีเครือข่ายไปทัศนศึกษาได้เดินทางร่วมกัน ได้ใช้ชีวิตและช่วยเหลือกัน โดยเราพาไปที่เมืองปีนัง เพื่อไปพบปะพูดคุยกับทางภาคีอนุรักษ์เมืองปีนัง (Penang Heritage Trust) ได้กำลังใจจากคุณคู ซาลมา ซึ่งเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เมืองที่นั่น และเรายังได้นำกลุ่มไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกหลายที่ เช่น กลุ่มภาคีเมืองสงขลา กะดีจีน ตลาดน้อย ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ บ้านพิพิธภัณฑ์ และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ทุกที่ได้รับความกรุณาจากท่านวิทยากรคนสำคัญ ให้กำลังใจกับชุมชนด้วยดี ภาคีต่างๆ ที่ผนึกกำลังกันทำเมืองร่วมกับโครงการ

ส่วนประเด็นด้านการมีส่วนร่วมในฐานะนักวิจัย วัลลภ พบว่าในปัจจุบันนี้ ทางผู้ให้ทุน ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมจริงๆ โดยออกเกณฑ์การมีส่วนร่วมที่เรียกว่า อินไคน์ (In kind) ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมที่ไม่มีการจ่ายเป็นตัวเงิน อีกประเภทหนึ่งคือ อินแคช (In cash) คือการร่วมออกเงิน กล่าวคือ ชุมชน หรือองค์กรที่ร่วมกันทำโครงการกับเราต้องออกตัวเงินร่วมในโครงการด้วย ซึ่งเอกสารสัญญาของโครงการต่างๆ ในปัจจุบันต้องมีเอกสารการยืนยันการทำงานร่วมกับโครงการส่งแนบไปที่ผู้ให้ทุนด้วย เพื่อแสดงสัดส่วนกิจกรรมหรืองานชุมชนนั้นต้องการมีส่วนร่วมจริงๆ

“ตอนนี้ปัญหาที่เราพบอยู่ในโครงการ คือ ภาคีมีส่วนร่วมด้วยแรงครับ องค์กรต่างๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่หรืออำเภอ เขาก็มีโครงการของเขาพอจะร่วมกัน ก็ดูเหมือนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง คิดว่าทางโครงการจะมีงบประมาณสนับสนุนในทุกด้าน เราไม่สามารถไปซื้อครุภัณฑ์ได้เพราะตามสัญญาไม่ได้ระบุไว้ เราช่วยเตรียมความพร้อมด้านอื่น ผมว่าตรงนี้ยังต้องทำความเข้าใจกันต่อไปครับ บางครั้งทางภาคีหรือชุมชนก็ยังมีความคาดหวังว่าทางนักวิจัยจะมีงบประมาณมาช่วยทุกอย่าง นักวิจัยก็คิดว่านักวิชาการก็มาช่วยด้านแนวคิด และอำนวยความสะดวกด้านการออกแบบ หรือทำโมเดลให้ แต่ในด้านความยั่งยืนชุมชนก็ต้องดูแลเมืองด้วยตนเอง เช่น ทางโครงการ เราทำพิพิธภัณฑ์บ้านส่วยใน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไว้ให้ทางชุมชน ในที่นี้หมายรวมถึงประชาชนและองค์กรต่างๆ ในชุมชนนั้นก็ต้องร่วมกันดูแลต่อไป” นายวัลลภกล่าว

การผสานความร่วมมือ จึงต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเพียงการพูดคุยกันถูกคอ หรือเห็นไปในทางเดียวกันเท่านั้น แต่ยังต้องร่วมมือจัดการเมืองร่วมกันอย่างเข้าใจและมีความรู้ รวมทั้งการเสียสละในการร่วมกำลังแรงและกำลังเงิน ซึ่งในบางครั้งกิจกรรมบางอย่างที่ชุมชนต้องการทำแต่ทางราชการไม่สามารถให้งบประมาณกับเอกชนได้ หรือติดขัดกฎระเบียบต่างๆ เพียงแต่ช่วยอำนวยความสะดวกโดยการไม่ขัดข้องในกิจกรรมนั้นๆ การหางบประมาณมาสนับสนุนโดยการตั้งองค์กรที่สามารถหารายได้ในรูปแบบต่างๆ นั้นเป็นประเด็นท้ายๆ ในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image