‘พิมาย’ไม่ได้มีแค่ปราสาทหิน สแกน เมือง บ้าน ชุมชน และผู้คนในยุคเปลี่ยนผ่าน

เมืองพิมายตั้งอยู่ใน "แฮ่งโคราช" บริเวณชุมทางลำน้ำ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมการค้า มี"แม่น้ำมูล" เป็นแม่น้ำสายหลักปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นราวหลัง พ.ศ.1600 เป็นศาสนสถานพุทธมหายาน

กล่าวถ้อยคำ 2 พยางค์ว่า “พิมาย” ขึ้นมาเมื่อไหร่ ดูเหมือนภาพปราสาทหินเก่าแก่จะลอยเข้ามาปะทะในความทรงจำของคนส่วนใหญ่เป็นอันดับแรก

ทว่า แท้จริงแล้ว พิมาย ไม่ใช่แค่ชื่อของศาสนสถานพุทธมหายานที่สร้างขึ้นราวหลัง พ.ศ.1600 แต่ยังเป็นชื่อเมืองโบราณซึ่งมีความเป็นมายาวนาน มีปราสาทงดงาม กำแพงแข็งแกร่ง และประตูเมืองเป็นประจักษ์พยานของอารยธรรมขอมอันรุ่งโรจน์

แม้ร่วงโรยลงไปหลัง พ.ศ.1800 แต่ไม่เคยร้างผู้คน

บ้านเรือนในชุมชนหลากสมัยถูกสร้างขึ้นซ้อนทับยุคแล้วยุคเล่า กระทั่งปัจจุบันเมืองโบราณดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย

Advertisement

มิติของการอนุรักษ์ตามหลักสากล และการพัฒนาเมืองในโลกยุคปัจจุบันที่ดำเนินไปเคียงข้างกัน ยังเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันขบคิด

การผลักดัน “อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย” และโบราณสถานโดยรอบเป็น “มรดกโลก” เกิดขึ้นมานานอย่างน้อย 13 ปี นับแต่ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ ได้อยู่ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” (Tentative List) ขององค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2547 รอการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

ต่อมา สถานการณ์พลิกผันหลายต่อหลายที ล่าสุด ประเด็นนี้เดินหน้าไปถึงจุดไหน?

Advertisement

แล้วเมืองพิมายในทุกวันนี้ เตรียมการอย่างไร มีความพร้อมหรือไม่?

อะไรคือสิ่งที่อยู่ในใจคนโคราช ผู้ซึ่งอยู่อาศัยร่วมกับมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ

ปัดฝุ่นปมมรดกโลก

หากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนไปดูความเป็นมาตั้งแต่การชงพิมายเป็นมรดกโลก จะพบว่ามีอาการสะดุดเป็นระยะๆ โดยเคยอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นตั้งแต่ช่วงปี 2547 ซึ่งในยุคนั้นตั้งเป้าส่งร่วมกับ “พนมรุ้ง” และ “เมืองต่ำ” จ.บุรีรัมย์ อารมณ์ประมาณเส้นทางอารยธรรม ก่อนจะเจอปัญหาการเมืองเรื่องชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วง พ.ศ.2554 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงขอให้ชะลอเอาไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ต่อมา ในปี 2556 เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อประชาชนในอำเภอพิมาย โดยหน่วยงานท้องถิ่น อาทิ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน บริษัท ห้างร้าน ได้จับเข่าหารืออย่างจริงจังกับกรมศิลปากร รวมถึงผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการมรดกโลก (ฝ่ายไทย) เป็นต้น เพื่อผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โดย “ไม่รอ” พนมรุ้งและเมืองต่ำ เพราะเกรงจะเสียโอกาส

ตัวเมืองพิมายในปัจจุบัน สร้างทับบนเมืองโบราณ

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดีในช่วงนั้น ออกมาแถลงดังที่ปรากฏตามสื่อว่าที่ประชุมมีมติจัดตั้งคณะกรรมการในการให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้มีความเหมาะสมทางด้านกายภาพ

สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และผลักดันให้เป็นเมืองมรดกโลกพิมาย ภายใต้แนวคิดเมืองที่มีชีวิต เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนและอุทยานประวัติศาสตร์พิมายอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ตัดฉากมาในปี 2559 พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดเผยว่า ทางอุทยานฯได้จัดทำเอกสารที่จำเป็นเกี่ยวกับประเด็นมรดกโลกส่งให้ทางกรมเรียบร้อยแล้ว โดยรอการเดินเรื่องต่อ

ส่วนในปีนี้ ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเด่นชัด

สายไฟลงดิน เพิ่มความ”ฟิน”ให้เมืองประวัติศาสตร์

แม้ปมมรดกโลกจากฝั่งกรมศิลป์ยังไม่มีเรื่องฟินๆ ให้อัพเดต แต่มุมดีๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันก็เกิดขึ้นแล้วเมื่อต้นปี โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครม.มีไฟเขียวงบประมาณกว่า 2,400 ล้านบาท ให้โคราชนำสายไฟลงดินทั้งเมือง คาดแล้วเสร็จในปี 2564

มงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.นครราชสีมา ระบุว่าในปีนี้ จะอยู่ในขั้นตอนการวางแผนสำรวจออกแบบ และจัดการประกวดราคาตามระเบียบให้แล้วเสร็จ จากนั้นในปี 2561 จะเริ่มสร้างสถานีไฟฟ้า, สร้างสายส่ง 115 เควี ทั้งเหนือดินและใต้ดิน, สร้างระบบจำหน่ายใต้ดิน, วางระบบจำหน่ายแรงสูงเหนือดิน เป็นต้น โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของ จ.นครราชสีมา ให้มีทิวทัศน์ ภาพลักษณ์ที่สวยงาม สะอาดตา เป็นเมืองโคราชน่าอยู่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า การดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลในแง่บวกต่อพิมายซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์

สำหรับประเด็นเรื่องหลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ใต้ดินที่อาจถูกรบกวนโดยการกระทำดังกล่าว จารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา บอกว่ามีการทำงานประสานกันอย่างดี โดยส่งนักโบราณคดีทำการขุดค้น เก็บข้อมูลหลักฐาน พร้อมทั้งกระซิบว่า อุปสรรคที่พบในขณะนี้ กลับเป็นเรื่องอื่นๆ มากกว่า เช่น ปัญหาป้ายบอกทางไปยังแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีเสียงบ่นว่ามีน้อย เมื่อติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับโยนให้ไปประสานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อยืนยันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่ จึงจะดำเนินการทำป้ายบนเส้นทางต่างๆ ได้ ทำเอามึนกับคำตอบไปพักใหญ่ จนตอนนี้ก็ยังคาใจอยู่เช่นเดิม

เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน อย่าตัดสัมพันธ์คนท้องถิ่น

มาถึงความคิดความเห็นของผู้มีความผูกพันลึกซึ้งต่อโคราชอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมองว่า การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มาแรง ทั่วโลกพยายามหยิบยกศิลปวัฒนธรรมรวมถึงโบราณสถานขึ้นเป็นจุดขาย โดยเฉพาะประเทศไทย แม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงจุดใด แต่การท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของความยั่งยืน หากพิมายได้เป็นมรดกโลก ย่อมเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติอย่างสูงต่อชุมชน เป็นเรื่องดีต่ออีสานทั้งภูมิภาค และประเทศไทยซึ่งมีภาคการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ให้ความเป็นมรดกโลกมาตัดขาดความสัมพันธ์ต่อคนในท้องถิ่น

“ถ้าพิมายได้เป็นมรดกโลก ยิ่งจะทำให้เรารู้สึกหวงแหนมากขึ้น และมีคนมาร่วมหวงแหนกับเรา มาร่วมกันสร้างสิ่งที่เป็นภูมิคุ้มกันให้สิ่งนี้มีความยั่งยืนมากขึ้นด้วยมาตรฐานของการดูแลรักษา เพียงแต่ต้องอย่าให้มรดกโลกมาตัดขาดความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น ควรมีการบริหารจัดการที่ทำให้ท้องถิ่นสบายใจ ให้ชุมชนมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของแต่ได้คนมาช่วยกันดูแล แล้วนำมาสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นได้ชัด ยิ่งต่อไปรัฐบาลทำโครงการรถไฟความเร็วสูง ทำโครงการมอเตอร์เวย์มา จะเสริมสร้างระบบโลจิสติกส์ซึ่งทำให้ที่นี่เป็นย่านเศรษฐกิจของประเทศ ประโยชน์ก็ตกกับคนโคราชและประเทศไทย”

อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังมองไกลไปถึงการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงข้ามประเทศไปยังเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเส้นทางวัฒนธรรมต่อเนื่องกันในย่านนี้

“โคราชเป็นแผ่นดินใหญ่มีโบราณสถานไม่ใช่แค่พิมาย ยังมีพระนอนที่วัดเสมาธรรมจักร ในอำเภอสูงเนิน มีปราสาทพนมวันในอำเภอเมือง ต่อไปยังปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเส้นทางของอารยธรรมซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านได้”

ถามว่าความพร้อมของท้องถิ่นในแง่การจัดการด้านต่างๆ มีมากแค่ไหน?

สุวัจน์บอกว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในด้านการดูแลแหล่งโบราณสถานต่างๆ ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาและพิพิธภัณฑ์มากมาย โดยมีการจัดประชุมงานระดับโลกมาแล้ว จึงมีความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างดี

“ผังเมือง”เรื่องต้องถก

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือพื้นที่ของเมืองพิมาย ซึ่งไม่ได้แยกส่วนตัดขาดระหว่างอดีตกับปัจจุบัน หากแต่ซ้อนทับกันอย่างมีมิติ

โครงสร้างกายภาพเมิองพิมาย โดย ชาตรี ควบพิมาย ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ชาตรี ควบพิมาย อาจารย์สาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เคยทำการศึกษาและตีพิมพ์บทความวิชาการเรื่อง “การวิเคราะห์พื้นที่เมืองพิมายตามทฤษฎีจินตภาพเมือง เพื่อสร้างแนวทางการปรับปรุงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” ในวารสาร มทร.อีสาน เมื่อปี 2559 มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ลักษณะทางกายภาพของเมืองพิมายซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานอย่างชัดเจน ควรมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ เช่น ภูมิทัศน์ของถนน การกำหนดศูนย์รวมกิจกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมย่านให้ชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อภูมิทัศน์ของเมืองพิมายที่เด่นชัด ทว่า กลมกลืนกันมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจของบทความดังกล่าว คือการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้มาเยี่ยมเยือนอุทยานประวัติศาสตร์พิมายว่าเมื่อเดินชมตัวปราสาทเสร็จก็กลับเลย เพราะไม่รู้ว่ายังมีโบราณสถานอื่นๆ รอบเมืองพิมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับปราสาท นอกจากนี้ แม่น้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองก็ขาดการพัฒนาเพื่อให้เป็นพื้นที่กิจกรรมต่อเนื่องกับโบราณสถานรอบเมืองอีกด้วย

“ควรพัฒนาเส้นทางหลักที่เข้าสู่เมืองพิมายจากทิศเหนือถึงทิศใต้ให้มีความสำคัญและสวยงามสอดคล้องกับภูมิทัศน์โดยรวมของเมืองพิมาย เพิ่มทางจักรยาน เชื่อมโยงไปยังแหล่งโบราณสถานอื่นๆ ควรกำหนดเส้นทางเที่ยวชมให้ชัดเจน พัฒนาพื้นที่ริมน้ำซึ่งมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่สันทนาการและสวนสาธารณะ”

ภาพเก่าและเรื่องเล่าผลิตซ้ำ

มรดกความทรงจำในยามที่โลกเปลี่ยน

นอกเหนือจากโบราณสถานล้ำค่า แน่นอนว่าชุมชนคือส่วนประกอบสำคัญของความเป็นเมืองพิมายในปัจจุบัน เรือนไม้และอาคารพาณิชย์หลากยุคถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมของเมืองอีกด้วย หนึ่งในนั้น คือ “ร้านพรศิลป” ที่ได้ขึ้นแท่นร้านถ่ายรูปเก่าแก่ที่สุดของอำเภอพิมายที่ยังเปิดให้บริการอยู่

ภาพถ่ายปราสาทหินพิมายหลากยุคสมัยในร้านพรศิลป์ ร้านถ่ายรูปแห่งแรกๆในอำเภอพิมาย

พรศักดิ์ ศักดิ์แดนไพร ในวัยเกือบ 80 ไม่เพียงเป็นเจ้าของและช่างภาพ หากแต่ยังเป็นทั้งประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์เมืองพิมาย ทั้งในแง่ของสังคมและวัฒนธรรม โดยบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ในภาพถ่ายมหาศาล รวมถึงความทรงจำของตนเองที่ถูกบอกต่อ ผลิตซ้ำด้วยถ้อยคำจากปากของเขาเอง

“เปิดร้านนี้ปี 2502 ค่าถ่ายรูป 2 นิ้ว โหลละ 8 บาท สมัยก่อนหนุ่มสาวต้องมีรูปติดกระเป๋า คุยกันถูกใจขอรูปใบนึง ต้องเซ็นหลังให้ด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวหาว่าขโมยมา (ยิ้ม) ยุคนั้นที่นี่มีโรงหนังใหญ่ๆ 2 โรง คือ โรงหนังพิมาย และโรงหนังศรีผ่อง ช่วงหน้าฝนไม่มีหนังเข้าฉายเท่าไหร่ วงดนตรีจะเดินสายทั่วอีสาน มาจองเล่นที่โรงหนังพิมายซึ่งต้องเดินผ่านหน้าร้านผม เขาเห็นรูปโชว์ ก็มาถ่ายกัน มีคนดังๆ เยอะ อย่าง ชลธี ธารทอง, พนม นพพร, กังวานไพร ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน วงสุรพล สมบัติเจริญ ก็มาถ่ายทั้งวง” เจ้าตัวเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมมีรูปถ่ายคนดังในยุคเก่ามากมายเต็มผนังร้าน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภาพปราสาทหินพิมายในยุคต่างๆ อย่างครบถ้วนจนน่าอัศจรรย์ ปรากฏภาพบุคคลสำคัญมากมายในแวดวงโบราณคดี อาทิ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.ยาใจ จิตรพงศ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ

“ร้านผมอยู่ตรงข้ามทางเข้าปราสาท เห็นมาตั้งแต่ยังรกเป็นป่า ชาวบ้านใช้เกวียนเทียมวัวควายมาจอดหน้าร้านปล่อยเข้าไปกินหญ้าข้างใน ก็ถ่ายรูปไว้ตั้งแต่ตอนนั้น จนช่วงปี 2505 มีการบูรณะก็ถ่ายรูปมาตลอดทุกยุค”

ภาพถ่ายปราสาทหินพิมายหลากหลายยุค ในอำเภอพิมาย

ร้านพรศิลป จึงกลายเป็น “มิวเซียม” ท้องถิ่นไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน แม้จำต้องศิโรราบให้กล้องโทรศัพท์มือถือ แต่ร้านนี้ก็ยังรับถ่ายและอัดภาพด้วยใจรัก โดยปรับตัวเป็นร้านขายอาหารเครื่องดื่มและเกสต์เฮาส์รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนเมืองพิมาย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิมายในวันนี้ ที่ไม่ได้มีเพียงร่องรอยอารยธรรมโบราณที่เหลือเพียงซากปรักหักพัง หากแต่ยังเต็มไปด้วยชีวิต การดำรงอยู่ของชุมชนซึ่งเป็นทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตของเมืองเก่าแก่แห่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image