รายงาน : แก้ รัฐธรรมนูญ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ความฝัน ‘ร่วม’

ในท่ามกลางความขัดแย้งอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ในที่สุดก็มี “จุดร่วม” ในทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ล้วนมีเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงกัน

นั่นก็คือ เน้นไปยังระบบวีธีเลือกตั้ง

Advertisement

นั่นก็คือ การย้อนกลับไปหยิบเอาเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาปัดฝุ่นและสอดสวมเข้าไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

จากบัตร 1 ใบเป็นบัตร 2 ใบ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นท่วงท่าอาการที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ได้มายืนอยู่ในจุดร่วมกันอย่างมิได้นัดหมาย

Advertisement

เพียงแต่ดำเนินไปในแบบ “นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละอย่าง”

ถามว่าเหตุใดพรรคพลังประชารัฐซึ่งเคยเชื่อมั่นต่อบทสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” จึงต้องมีการปรับแก้เพิ่มเติม

โดยหยิบเอารูปแบบของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาเป็นเครื่องมือ

ต้องยอมรับว่า ความพยายามตั้งแต่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กระทั่งรัฐประหารเมือเดือนพฤษภาคม 2557 มีเป้าหมายเดียว

นั่นคือ ต้องการ “ชนะ” ต่อสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

เพราะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ยังแพ้พรรคพลังประชารัฐ เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ยังแพ้พรรคเพื่อไทย

จึงต้องรัฐประหารซ้ำในเดือนพฤษภาคม 2557

แม้จะออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สามารถสืบทอดอำนาจแม้ว่าจะแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคเพื่อไทยในเดือนมีนาคม 2562 ก็จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก

คราวนี้ย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

กลยุทธ์ของพรรคพลังประชารัฐครั้งใหม่นี้ไม่เพียงแต่สอดรับกับความต้องการของพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังสอดรับกับความต้องการของพรรคเพื่อไทย

อย่าได้แปลกใจหากพรรคเพื่อไทยจะสนองตอบเต็มที่

เป็นการสนองตอบต่อการนำเอาวิธีการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้แม้ว่าจะต้องแยกทางกับพันธมิตรทางการเมืองบางส่วนก็ตาม

เพราะว่าพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าโอกาสจะเป็นของตน

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐซึ่งก่อร่างสร้างพรรคมาในกระบวนการเดียวกันกับพรรคไทยรักไทยในอดีตก็มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม

หากเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะต้องได้ชัยชนะ

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย จึงอยู่บนพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่นอันเดียวกัน นั่นก็คือ มั่นใจในฐานทางการเมืองว่าชัยชนะจะเป็นของตน

นี่คือเป้าหมายร่วมของพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย

การเมืองเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่การเมืองมิได้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ “ธรรมชาติ” ที่แน่นอนตายตัว หากแต่เป็นวิทยาศาสตร์ “สังคม”

สภาพการณ์จึงสามารถพลิกผันแปรเปลี่ยนได้

เนื่องจากสภาพการณ์ทางสังคมในปี 2564 หรือในปี 2565 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงไปจากสภาพการณ์ทางสังคมในปี 2544 หรือในปี 2548

ทุกอย่างจึงต้องวัดผ่านความเป็นจริงที่แปรเปลี่ยนไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image