โควิดเดลต้ายึดพื้นที่กรุงเรียบร้อย สธ.เร่งศึกษาภูมิฯ ฉีดวัคซีนไขว้ชนิด-บูสเตอร์เข็ม 3

โควิดเดลต้ายึดพื้นที่กรุงเรียบร้อย สธ.เร่งศึกษาภูมิฯ ฉีดวัคซีนไขว้ชนิด-บูสเตอร์เข็ม 3

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 สายกลายพันธุ์ในประเทศไทยว่า การจะรบให้ชนะ ต้องรู้เขา รู้เรา ทั้งนี้ การเสนอข้อมูลไวรัสกลายพันธุ์ไม่ได้เพื่อสร้างความตกใจให้ประชาชน ตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) กรมวิทยาศาสตร์ฯตรวจไปแล้ว 1.1 หมื่นราย และขณะนี้มีการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) อย่างรวดเร็ว ภาพรวมขณะนี้ประมาณร้อยละ 16 เป็นสายพันธุ์เดลต้า

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบว่าภาพรวมประเทศ สายพันธุ์เดลต้า เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 32 แต่หากลงรายละเอียด พบว่ากรุงเทพมหานครมีสายพันธุ์เดลต้ามากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าเดิมอยู่ที่ร้อยละ 52 ซึ่งเร็วกว่าที่เราคาดเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ต่างจังหวัดเองก็เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนกัน ภาพรวมตอนนี้อยู่ร้อยละ 18 จะเห็นว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะนี้เราพบใน 47 จังหวัด ส่วนสายพันธุ์อัลฟ่าพบร้อยละ 77.6 และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) พบร้อยละ 4.4 ขณะที่ภาคใต้จากเดิมที่ไม่มีสายพันธุ์เดลต้า ตอนนี้เราก็พบอยู่ในหลายที่ เช่น จ.สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากใน จ.อุดรธานี และส่วนหนึ่งอยู่ในภาคกลาง และกรุงเทพฯ ที่เป็นแชมป์อยู่แล้วในขณะนี้

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เบต้า สัปดาห์นี้เพิ่มมา 50 กว่าราย ซึ่งยังจำกัดวงส่วนใหญ่อยู่ใน จ.นราธิวาส 52 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 1 ราย จ.นครศรีธรรมราช 3 ราย จ.กระบี่ 1 ราย และกรุงเทพฯ 2 ราย ซึ่งเป็นญาติของรายแรกที่พบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดังนั้น หมายความว่ากรุงเทพฯยังไม่มีการกระจายไปไหน ยังเป็นการติดเชื้อจากผู้ที่มาจาก จ.นราธิวาส

“แผนภูมิพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้พบสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 52 กระจายอยู่ในทุกเขต จะเห็นได้ว่าทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ จากแคมป์หลักสี่ ไปทางทิศตะวันตกตอนล่าง และกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ค่อนข้างบอกได้ว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในกรุงเทพฯ ขณะนี้คือ สายพันธุ์อินเดีย หรือเดลต้า” นพ.ศุภกิจกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ฉีดในสูตรเดิม จะสามารถควบคุมสายพันธุ์เหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราพบต่อว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมขึ้นสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน ซึ่งขณะนี้เราจึงวางแผนที่จะทดลอง เช่นการฉีดในรูปแบบอื่น โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ กำลังดำเนินการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 วางแผนจะทดสอบทั้งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 8 กลุ่ม

Advertisement

ตัวอย่างเลือดกลุ่มละอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง คือ 1.ซิโนแวค 2 เข็ม มีแล้ว 12 ตัวอย่าง 2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีแล้ว 31 ตัวอย่าง 3.แอสตร้าฯ 1 เข็ม 4.ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ มีแล้ว 8 ตัวอย่าง 5. ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าฯ

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า 6.วัคซีน mRNA 2 เข็ม มีแล้ว 20 ตัวอย่าง จากผู้ที่เดินทางไปฉีด หรือมาจากต่างประเทศ 7.ซิโนแวค 1 เข็ม ตามด้วย mRNA และ 8.แอสตร้าฯ 1 เข็ม ตามด้วย mRNA โดยในส่วนที่มีตัวอย่างอยู่แล้วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มอื่นก็จะทำให้เร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงโมเดลที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนสำหรับประเทศไทย จะเสนอฝ่ายนโยบายในการพิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image