สุจิตต์ วงษ์เทศ : วันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564

‘เหม เวชกร’ วาดลายเส้น
ประวัติศาสตร์อัลไต-น่านเจ้า

ภาพประวัติศาสตร์ชาติไทย ของ เหม เวชกร เขียนให้วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2488 (จากหนังสือ “100 ปี เหม เวชกร”)

ประวัติศาสตร์ไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า เป็นพลังบันดาลใจ เหม เวชกร (พ.ศ. 2446-2512) หรือ “ครูเหม” ช่างเขียนภาพวิจิตร สร้างงานสำคัญเล่มหนึ่ง แต่สังคมทั่วไปไม่รู้จักมากนักหรือไม่รู้จักเลย

การเมืองชาตินิยม “แบบคลั่งเชื้อชาติไทย” ครอบงำอย่างแข็งแรงต่อสังคมไทยใช้งานประวัติศาสตร์ไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า โดยผ่าน (1.) การเรียนการสอนตามระบบของสถานศึกษาทั่วประเทศ (2.) โฆษณาชวนเชื่อผ่านวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ด้วยการแสดงปลุกใจเป็นเพลงและละครจากกรมศิลปากร (3.) กล่อมเกลาด้วยเครือข่ายการปกครองกระทรวงมหาดไทย

“ครูเหม” รับรู้ประวัติศาสตร์ไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า ผ่านเครื่องมือเหล่านั้น ต่อมาจึงเป็นพลังบันดาลใจวาดรูปและบรรยายทยอยเป็นตอนๆ ให้ “วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน” ของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ต่อเนื่องจน พ.ศ. 2501 ได้พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกันในชื่อหนังสือ “ภาพประวัติศาสตร์ชาติไทย” จับเรื่องตั้งแต่ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดบริเวณเทือกเขาอัลไต ถูกรุกรานถ่อยรนลงไปสร้างอาณาจักรน่านเจ้า แล้วถูกจีนรุกรานอีกจึงลงไปสร้างกรุงสุโขทัย เรื่อยไปเป็นกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ (ข้อมูลนี้ ธัชชัย ยอดพิชัย พบในเน็ตแล้วเก็บมาบอกเมื่อกันยายน 2564)

Advertisement

ปกหนังสือ “ภาพประวัติศาสตร์ชาติไทย” ภาพและคำโดย เหม เวชกร จัดพิมพ์โดยกรมมหาดไทย เมื่อพ.ศ. 2501 (ภาพจาก ร้านนายขรรค์หนังสือเก่า http://www.khanebook.com)

ผมอ่าน “ภาพประวัติศาสตร์ชาติไทย” เล่มนี้ตั้งแต่รวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2501 ตอนนั้นเป็น “เด็กวัด”
อยู่วัดเทพธิดาราม (ประตูผี) แต่เดินไปเรียนที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ (สะพานมัฆวาน) อยู่ชั้นมัธยม 4 (เทียบปัจจุบัน คือ ม.1) ไม่ได้สนใจอ่านประวัติศาสตร์ และไม่เคยรู้จักครูเหม แต่ที่อ่านเพราะเป็นรูปวาดคล้ายการ์ตูนน่าสนุก และอ่านแค่ตอนต้นเรื่องเท่านั้น พอตอนต่อๆ ไปก็เลิกอ่านเมื่อภาษาเริ่มยากจนไม่เข้าหัวเลยตัดสินใจไม่อ่านดีกว่า

ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ผมไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้อีกเลย แม้ที่เขียนอยู่นี้ก็มาจากความจำทั้งดุ้น กับเห็นบางรูปจากเน็ตและจากหนังสือ “100 ปี เหม เวชกร” (โอม รัชเวทย์ บรรณาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2545) ซึ่งธัชชัยหาส่งให้ดู

Advertisement

ขุนศึกน่านเจ้า หนังไทยเรื่องขุนศึกน่านเจ้า ของ ไถง สุวรรณทัต (อดีต ส.ส. จังหวัดธนบุรี พรรคประชาธิปัตย์) ฉายโรงหนังศาลาเฉลิมบุรี พ.ศ. 2499

“เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์สมัยจักรพรรดิกุบไลข่านบุกไทย” ข้อความโฆษณาดูจากหนังสือ “ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2470-2499” ของ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557 หน้า 580

ผมไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ แต่จำได้ดีเพราะมีข่าวคราวครึกโครมในตอนนั้น จึงบันทึกไว้เพื่อเป็นพยานว่าประวัติศาสตร์ไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า มีอำนาจครอบงำสูงมากทุกวงการ

ทั้งหมดที่เขียนเล่ามานี้มีเหตุสืบเนื่องจากอ่านหนังสือดีมีคุณค่ามหาศาล ชื่อ เขียนจีนให้เป็นไทย ของ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาระสำคัญอ้างถึงประวัติศาสตร์ไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า ซึ่งผมต้องท่องจำตั้งแต่ประถม, มัธยม, จนถึงอุดมศึกษามหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image