‘วรรณวิภา-โรม’ รับฟังปัญหา ‘ไรเดอร์’ ชุมพร เผย มีช่องโหว่สัญญาจ้าง

‘วรรณวิภา-โรม’ รับฟังปัญหา ‘ไรเดอร์’ ชุมพร เผย มีช่องโหว่สัญญาจ้าง ทำไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อสัดส่วนแรงงาน และ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่รับฟังปัญหา กลุ่มผู้ประกอบอาชีพพนักงานส่งอาหาร(ไรเดอร์)ในจังหวัดชุมพร มีจำนวนเกือบ 500 คน รวมทุกแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่ อายุ 20-35 ปี จากการพูดคุยพบว่าปัญหาของผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ คือสัญญาการทำงานหรือรูปแบบการจ้าง แบบฟรีแลนซ์หรือพาร์ทเนอร์ ทำให้ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานของแพลตฟอร์ม ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

นอกจากนั้นยังประสบปัญหาค่ารอบในการทำงาน และการเข้ากะงานที่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ ค่าส่วนแบ่ง(GP)ที่มีอัตราสูง ในกรณีชุมพรคือคนที่ดูแลแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์ม มีมาตรการที่ทำให้ไรเดอร์ประสบปัญหาในการทำงาน อาทิเช่น ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการแจ้งกึ่งบังคับจากทางแพลตฟอร์มว่าหน่วยงานรัฐในพื้นที่ขอความร่วมมือให้ไรเดอร์ฉีดวัคซีน แต่ถ้าใครไม่ฉีด จะไม่ให้รับงาน ซึ่งไรเดอร์บางคนไม่สมัครใจฉีดเนื่องจากไม่สามารถเลือกยี่ห้อวัคซีนได้

Advertisement

วรรณวิภา กล่าวว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่ทำให้ผู้บริโภคสั่งอาหารมาทานอย่างสะดวกสบาย แต่ผู้บริโภคไม่เคยรู้เลยว่าต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ตนเห็นว่ารัฐบาลต้องเข้ามาหาทางออกในปัญหาระหว่างไรเดอร์กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ทั้งในประเด็นสิทธิแรงงาน สัญญาจ้าง รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น เนื่องจากปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากหลายจังหวัด

“อย่างน้อยต้องมีการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำ หรือมาตรฐานใหม่ในรูปแบบการทำงานของไรเดอร์ เพราะว่าเป็นเรื่องใหม่ ที่ระบบการจ้างงานเปลี่ยนรูปแบบไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยี แต่ไรเดอร์ก็เป็นอาชีพผู้ใช้แรงในการทำงานอาชีพหนึ่ง ซึ่งสิทธิแรงงานเป็นสิทธิควรจะต้องได้รับการคุ้มครอง ในระยะสั้นจะนำเรื่องนี้ไปหารือในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ส่วนในระยะยาว หนึ่งในนโยบายด้านแรงงาน 100 วันแรกถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราจะผลักดันให้มีการลงนามในอนุสัญญา ILO 87,98 ว่าด้วยสิทธิ ในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน” วรรณวิภา กล่าว

Advertisement

ขณะที่ รังสิมันต์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร ไรเดอร์คือส่วนสำคัญที่สุดในธุรกิจนี้ จะเรียกเขาว่าพาร์ทเนอร์หรืออะไรก็ตาม แพลตฟอร์มจำเป็นต้องดูแลพวกเขา ถ้าไม่มีไรเดอร์ แพลตฟอร์มแบบนี้ก็ดำเนินกิจการหรือทำธุรกิจไม่ได้ พี่น้องกลุ่มอาชีพนี้ควรได้รับความเป็นธรรมและการคุ้มครองในการทำงานไม่แตกต่างจากอาชีพอื่น ในขณะที่แพลตฟอร์มสามารถทำกำไรจากธุรกิจได้มหาศาลจนเกิดแพลตฟอร์มมากมายมาแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้ตลาดนี้ กำไรเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการตัดต้นทุนในการดูแลรับผิดชอบแรงงานออกไป ขณะที่หากใช้คำว่าเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบตามกฎหมายแรงงาน พาร์ทเนอร์ก็ต้องสามารถมีอำนาจต่อรองได้อย่างทัดเทียมกันเพื่อแบ่งปันผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการที่ส่งเสริมดูแลตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ มีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องมีการหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ กฎหมาย ผลการศึกษาต่างๆของนักวิชาการ จะต้องนำปัญหาเหล่านี้มาคุยกัน โดยพรรคก้าวไกลรับปากว่าจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้เพื่อให้การแก้ปัญลุล่วงได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image