คิดเห็นแชร์ : แผนยุทธศาสตร์สีเขียวสหภาพยุโรป โอกาสทางการค้าของไทย

คิดเห็นแชร์ : แผนยุทธศาสตร์สีเขียวสหภาพยุโรป โอกาสทางการค้าของไทย

แผนยุทธศาสตร์สีเขียวสหภาพยุโรป
โอกาสทางการค้าของไทย

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ สหภาพยุโรป คู่ค้าและตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทย ซึ่งมีบทบาทนำด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และได้ตั้งเป้าเมื่อปี 2562 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Climate Neutrality) ภายในปี 2593 ผ่านแผนยุทธศาสตร์สีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) เพื่อให้ยุโรปเป็นทวีปแรกของโลกที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศใน 30 ปีข้างหน้า

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการยุโรป (คมธ.) ได้กำหนดเป้าหมายระยะกลาง แผนการดำเนินการ และการปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ อย่างบูรณาการ ซึ่งรวมถึงการประกาศเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 และข้อเสนอนโยบาย “Fit for 55 Package” ซึ่งเป็นกรอบในการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อมุ่งผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณมาก เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืนแทน เพื่อขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน

หนึ่งในข้อเสนอ คมธ. ที่ผมมองว่าน่าจะเป็นโอกาสทางการค้าของไทย คือ การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในหลายประเทศ โดยจากรายงาน Global EV Outlook 2021 พบว่า ปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในปี 2563 แม้อยู่ในสถานการณ์โควิด ทั่วโลกใช้รถยนต์ไฟฟ้า 11 ล้านคัน สูงขึ้น 43% จากปี 2562 โดยจีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ 4.5 ล้านคัน ขณะที่ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคัน เป็น 3.2 ล้านคัน สอดคล้องกับทิศทางการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของสหภาพยุโรป ที่เพิ่มขึ้น 73.03% หรือเป็น 89,992.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และเพิ่มขึ้น 116.17% หรือเป็น 60,118.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ในครึ่งแรกของปี 2564

Advertisement

ในปี 2563 สหภาพยุโรปนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากไทยรวม 53.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 184.59% โดยนำเข้าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมากที่สุด 19.28 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็น รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด 17.36 ล้านเหรียญสหรัฐ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 16.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์

สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สหภาพยุโรปนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากไทยรวม 14.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 366.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด 11.48 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็น แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 1.65 ล้านเหรียญสหรัฐ และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด 0.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ เยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 43 ของสหภาพยุโรป อยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

ทั้งนี้ ในภาพรวม มีเพียงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิไปยังสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า โดยในครึ่งแรกของปี 2564 ไทยได้ดุลการค้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 11.48 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ขาดดุลการค้ารถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรวม 97.89 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

จากสถิติดังกล่าว ผมมองว่าแม้ไทยจะเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แต่ไทยก็มีศักยภาพที่จะสามารถปรับตัวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากมีฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่แข็งแกร่งภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมีทั้งโอกาสและการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศมีนโยบาย/มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ซึ่ง Global EV Outlook 2021 คาดว่า ปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในโลกจะพุ่งสูงถึง 145-230 ล้านคัน ในปี 2573 ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งแสวงหาพันธมิตรผู้ผลิตรายสำคัญของโลก อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและร่วมลงทุน ควบคู่กับการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ท้ายนี้ ผมขอฝากว่า แผนยุทธศาสตร์สีเขียวของสหภาพยุโรป นอกจากจะเปิดโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างโอกาสให้ไทยเร่งปรับตัวและคิดค้นนวัตกรรมการผลิต เพื่อก้าวให้ทันกระแสรักษ์โลก และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

และล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของไทย มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ พร้อมตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2608 ทั้งนี้ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์สีเขียวแล้ว กระทรวงพาณิชย์ ก็สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมทั้ง Net Zero Carbon เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิต และกระจายรายได้สู่ฐานราก พร้อมไปกับวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยมุ่งเน้นการขยายช่องทางการตลาด ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าและบริการ BCG ของไทย

รวมถึงการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าโดยใช้ Blockchain ด้วยครับ

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image